ด่วน! ศบค.ยังไม่ยอมให้ร้านอาหารในห้างซื้อกลับบ้าน ดีลิเวอรี่เท่านั้น

ที่ประชุม ศปก.ศบค.-กทม.-สมาคมภัตตาคาร เห็นชอบร่วมกันให้ร้านอาหารในห้างฯเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตสามารถซื้อกลับบ้านได้ ส่วนร้านอาหาร stand alone ในห้าง ดีลิเวอรี่ได้เท่านั้น

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 (ศปก.ศบค.) ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศปก.ศบค. เป็นประธาน หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาคมภัตตาคาร เพื่อหาข้อสรุปกรณีการเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในรูปแบบดีลิเวอรี่ สามารถซื้อกลับบ้าน (take away) ได้หรือไม่ ว่า

ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สามารถซื้อกลับบ้านได้เฉพาะร้านค้าที่อยู่ “ภายใน” หรือ “พื้นที่” หรือ “บริเวณ” ซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น โดยหลังจากนี้ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค.จะกลับไปทำคำนิยามให้ชัด เช่น คำว่า “Food delivery” รวมถึงคำว่า “take away” หรือไม่ และกำหนดคำนิยามของคำว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ให้ชัดว่า หมายถึง “ภายในซูเปอร์มาร์เก็ต” หรือ “พื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต” หรือ “บริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต” ว่า กินความหมายถึง “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ได้แค่ไหนที่จะให้สามารถซื้อกลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารตั้งเป็น stand alone ภายในห้าง ที่ประชุมสรุปว่าให้จำหน่ายในรูปแบบดีลิเวอรี่ได้เท่านั้น ไม่สามารถซื้อกลับบ้านได้ ทั้งนี้ เมื่อ ศบค.แก้ไขคำนิยามชัดแล้วจะประสานกับกทม.เพื่อออกเป็นคำสั่งกทม.ต่อไป

“ที่ประชุมกังวลว่า หากเปิดให้ร้านอาหารในห้างสามารถซื้อกลับบ้านได้ทั้งหมดจะทำให้ประชาชนเข้าไปแออัดในห้างซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในจำนวนมาก ๆ และขัดต่อข้อกำหนดที่มีเจตนาไม่ต้องการให้ประชาชนเคลื่อนย้ายออกจากบ้าน” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้อร้องเรียนจากประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการให้ผ่อนปรนมาตรการการเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ให้ขายแบบเดลิเวอรี่เพียงอย่างเดียวตามที่ประกาศในข้อกำหนด และไม่อนุญาตให้ซื้อกลับบ้าน ว่า การซื้ออาหารที่ห้างสรรพสินค้าทำได้ 3 ลักษณะ ดังนี้

1. หากประชาชนเดินทางไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและต้องการสั่งอาหารด้วยนั้น ทางร้านอาหารต้องจัดพื้นที่ใกล้ ๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตให้วางอาหารสำเร็จรูป สามารถขายได้

2. ประชาชนสามารถโทรศัพท์โดยตรงกับทางร้าน และให้ทางร้านนำอาหารมาวางในจุดที่ห้างสรรพสินค้าจัดพื้นที่ไว้ให้และประชาชนไปรับได้

3. สามารถสั่งอาหารผ่านทางแอปพลิเคชั่น และให้ผู้รับส่งอาหารหรือไรเดอร์เป็นผู้รับ

ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าต้องกำหนดพื้นที่ในจุดรับส่งอาหารอย่างชัดเจน อาจเป็นจุดที่ใกล้กับจุดที่ให้ไรเดอร์รอรับอาหาร หรือถัดออกไปก็ได้ แต่ที่สำคัญต้องไม่ให้เกิดความแออัด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ประชาชนสงสัยว่า ทำไมไม่เปิดให้ประชาชนไปยืนรอซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้าได้นั้น เรื่องนี้ทาง ศบค. จะมีการออกข้อกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า อะไรสามารถทำได้หรือทำไม่ได้