ฝ่ายค้านแตกคอ ทักษิณ ร่วมศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล้ม “ประยุทธ์” ยาก

รายงานพิเศษ

ในที่สุด 6 พรรคฝ่ายค้าน ที่มีพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังปวงชนไทย เป็นองคาพยพ

ก็ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็น “รายบุคคล” หวังสร้างอาฟเตอร์ช็อกทางการเมือง เริ่มจากซักฟอกรัฐบาลในสภาเพื่อเติมอุณหภูมิขับไล่รัฐบาลนอกสภา

ครั้งนี้ ฝ่ายค้านกาชื่อซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ บวก 5 รัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ 1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 3.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

4.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 5.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

อัดบิ๊กตู่ค้าความตาย

ฝ่ายค้านพุ่งเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ แปะข้อหาหนักไปที่การบริหารโควิด-19 ล้มเหลว มีลักษณะ “ค้าความตาย” โดยเห็นวัคซีนเป็นสินค้า สาธารณะ เหิมเกริม คิดการใหญ่โตในการสร้างกําไรจากวัคซีนร่วมกับนายอนุทิน

เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว ทําให้ประเทศไทยถึงจุดทีเรียกว่าตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และกลายเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยในสายตาชาวโลก ไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน อยู่ในสภาพของคนเป็นโรค “โอหังคลั่งอํานาจ” ไม่อยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นําประเทศได้อีกต่อไป

เสี่ยหนูโม้โอ้อวด-เสี่ยโอ๋เสเพล

“อนุทิน” ถูกฝ่ายค้านโจมตีเรื่อง การจัดหาวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า และได้วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันโรค มุ่งเน้นแต่จะจัดหาวัคซีนลึกลับ แต่ด้อยคุณภาพ วัคซีนสายสัมพันธ์ มีพฤติกรรมคุยโม้โอ้อวด ทุจริตต่อหน้าที่

“ศักดิ์สยาม” มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ มุ่งแต่แสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานที่อยู่ในกํากับดูแล ประพฤติตัวเสเพลไม่เหมาะสมกับตําแหน่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรค เข้าไปในแหล่งอบายมุขจนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน

“สุชาติ” บกพร่องผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อใหม่ในโรงงานรายวันโดยไม่มีมาตรการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ การว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ “เฉลิมชัย” บริหารงานด้านการเกษตรล้มเหลวทั้งระบบ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการของหน่วยงานที่ตนกํากับดูแล สร้างความเสียหายแก่รัฐจํานวนมาก และ “ชัยวุฒิ” พฤติการณ์ใช้ตําแหน่งหน้าที่และสื่อของรัฐเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง และสร้างความแตกแยก

หวังพรรคร่วมถอนตัว

“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขอใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โยนแรงกดดันไปที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อได้เห็นข้อมูลฝ่ายค้านที่นำไปอภิปรายแล้ว จะต้องถอนตัวร่วมรัฐบาล เลิกเป็นไม้ค้ำยันอำนาจให้กับ “ระบอบประยุทธ์”

เพราะลำพังแค่เสียงของฝ่ายค้านที่มีอยู่ 212 เสียง ไม่อาจเพียงพอที่จะล้มรัฐบาลที่มีอยู่ 271 เสียง ณ ตอนนี้ได้

“ส.ส.ทุกท่านในฝ่ายรัฐบาลก็จะต้องคิดเหมือนกันว่า ฝ่ายค้านอภิปรายอย่างไร ความเดือดร้อนประชาชนเป็นอย่างไร ทราบข่าวอยู่ทุกวันว่าการจัดการโควิด-19 ไม่ได้เรื่อง ผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลก็ควรจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ วิงวอนผู้แทนฝ่ายรัฐบาลตัดสินใจว่า เที่ยวนี้สุด ๆ แล้วไม่มีอะไรสุดไปกว่านี้ ขอให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่มีความคิดความอ่านที่คิดถึงประชาชนที่เลือกมา การเลือกตั้งครั้งหน้ายังมี”

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล มั่นใจว่า ตอนนี้ความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกสภาแทบไม่เหลือแล้ว จึงต้องใช้กลไกในสภาเพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อไป

“สติธร” ฟันธง ล้มรัฐบาลยาก

ทว่าในมุมวิเคราะห์ของ “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ผู้ที่เกาะติดใกล้ชิดขอบเวทีการเมือง ตอบคำถามที่ให้ประเมินการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ 3 จะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ในแบบไม่ต้อง “คิดเยอะ” ว่า “ล้มยาก”

“ถ้าจะล้มรัฐบาลได้ควรตี พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว แล้วชวนพรรคร่วมรัฐบาลมาล้ม แต่ถ้าตี (อภิปรายไม่ไว้วางใจ) พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค พร้อมกันก็จะล้มยาก เพราะยุทธวิธีนี้บีบให้พรรคร่วมรัฐบาลรวมตัวกัน และยกมือให้กัน กลายเป็นช่วยกันไป”

แค่เลี้ยงกระแส-ไม่ตีให้ตาย

สติธรอ่านใจฝ่ายค้านว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบนี้เป็นการอภิปรายแบบ “มีเยื่อใย” อภิปรายเลี้ยงกระแสอย่างน้อย ๆ ให้เห็นว่า ฝ่ายค้านทำอะไรบ้าง เช่น ตรวจสอบรัฐบาล ด่ารัฐบาลแทนประชาชน แต่ยุทธศาสตร์ไม่ได้หวังแตกหัก 100% ยังมีเยื่อใยทางการเมืองอยู่

“พรรคเพื่อไทยยังหวังว่า หากวันดีคืนดี พล.อ.ประยุทธ์ลาออก อาจจะพร้อมจับขั้วกับพรรคร่วมรัฐบาล เผลอ ๆ ต้องจับกับพรรคพลังประชารัฐ จะจับแบบเต็มตัว หรือจับแบบงูเห่าก็ได้ ถือว่าสู้กันแบบมีเยื่อใยทางการเมืองอยู่”

เกมเสี้ยมให้แตกคอ

“ถ้ามองในระยะยาว หากมีเลือกตั้ง แปลว่า สิ่งนี้คือการอภิปรายสู้ในเกม ถ้ายุบสภาคือล้างไพ่ใหม่ แล้วไปสู้กัน หากฝ่ายค้านต่อไป พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้ปิดโอกาสกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ปิดโอกาสเดียวคือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ วางยุทธศาสตร์ไว้ ไม่เอา 3 ป. แต่ไม่ได้ปฏิเสธการเมืองฝ่ายตรงข้าม 100%”

“สติธร” อ่านใจฝ่ายค้านทำไมเลือกแผนนี้ ก็เพราะตั้งใจให้พรรคร่วมรัฐบาลอยู่ด้วยกันไม่ได้ เป็นการเลือกตัวละครให้ฝ่ายรัฐบาลระแวงกันเอง ต้องมีการต่อรองกันมากขึ้น

และหวังว่าหากเขาต่อรองไม่ลงตัว เขาจะแตกคอกัน เช่น ใส่ชื่อนายศักดิ์สยาม ไม่ใช่ตัวละครเอกของเรื่อง การอภิปรายเรื่องรถไฟทางคู่เหนืออีสาน-ที่ดินเขากระโดง ไม่ใช่อภิปรายเพื่อเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพราะในมุมพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องทนอยู่ “กั๊ก ๆ” กันแบบนี้ ต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่าทำอะไร แต่ไม่กล้าจัดการกันโต้ง ๆ แต่ใช้วิธีอ้อม ๆ เช่น กรณีเอกสารหลุด ต่างคนต่างรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างไร แต่ไม่หักดิบกัน

โควิดจุดตายรัฐบาล ไม่ใช่ม็อบ

อีกมุมหนึ่งฝ่ายค้านหวังผลว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจจะก่อให้เกิด “แผ่นดินไหว” นอกสภา “สติธร” วิเคราะห์ว่า ถ้าส่งแรงสะเทือนไปนอกสภาให้ม็อบมาไล่รัฐบาลมากขึ้นก็พอ “คาดหวังได้” แต่ต้องพ่วงด้วยผลลัพธ์บางอย่าง เช่น ตัวชี้วัดโควิด-19

“ลำพังแรงเรียกร้องของม็อบกับแรงอภิปรายไม่พอ ต้องเจอผลลัพธ์ที่เป็นโทษกับรัฐบาลด้วย สมมติสถานการณ์ทรง ๆ แบบปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 2 หมื่น วัคซีนมาตามกำหนด รัฐบาลก็ประกาศตัวเลขการฉีดวัคซีนไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีจุดหักเห สถานการณ์ม็อบก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ส่วนแรงในสภาอภิปรายอย่างไรก็มีเท่าที่เห็น”

“ดังนั้น ตัวชี้วัดของรัฐบาลอยู่ที่ตัวเลขโควิด-19 อย่างเดียว ถ้าตัวเลขยังอยู่ที่ 2 หมื่น รัฐบาลยังรอด ประคองตัวต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ ตราบใดที่มีความหวัง”

“แต่ถ้าทุกอย่างพังพร้อมกัน เช่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 5 หมื่นรายต่อวัน คนตายใกล้ ๆ หลักพันคนต่อวัน เครื่องช่วยหายใจไม่พอ วัคซีนไม่มาตามนัด มีการคอร์รัปชั่นต่าง ๆ นานา ต้องเป็นประเด็นโดดขึ้นมา พังทั้งระบบพร้อมกันถึงจะพอ เพราะรัฐบาลชุดนี้เขาเหนียวจริง ถ้าไม่พังเขาก็ไม่ไป” สติธรวิเคราะห์

เพื่อไทย เปิดศึก ก้าวไกล

การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ่วงด้วยรัฐมนตรี อีก 5 คน  แทนที่จะสร้างความหวาดหวั่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพ แต่กลายเป็นฝ่ายค้านด้วยกันเองที่ “เปิดศึก” ถล่มกันยับเยิน ทั้งบนหน้าสื่อกระแสหลัก ไปถึง โซเชียลมีเดีย

แปลงสภาพพื้นที่ฟีดบน “ทวิตเตอร์”  และ ห้องพูดคุยใน “คลับเฮาส์” ให้เป็น สมรภูมิปะ ฉะ ดะ ระหว่างเพื่อไทย – ก้าวไกล เรื่องของเรื่องคือ ชื่อบิ๊กเนมที่ “หายไป” เป็นชื่อของ “บิ๊กป้อม”  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บิ๊กบราเธอร์ในรัฐบาล ที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าพรรคเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” จนนาทีสุดท้าย แต่ถูก “ตีตก” โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน

แต่ด้าน “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ได้ทวีตข้อความเชิงตำหนิ – เตือนสติ เลขาฯ ก้าวไกล เป็นฉากๆ อาทิ

“เลขาฯก้าวไกลต้องเป็นผู้ใหญ่กว่านี้ อย่าใช้วิธีเล่าคลาดเคลื่อนข้อเท็จจริงฝ่ายเดียว คงทำงานกันยาก โยนให้เราคุยกับคนอื่นและยืนยันเอาตามมติพรรคร่วมฯ การพูดนอกห้องประชุมถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ อย่าใช้วิธีนี้กับมิตร เมื่อเช้าหารือ คุณก็หลบ ถ้าทำงานการเมืองแบบเสนอความเห็นแล้วแพ้ในที่ประชุม”

พูดเอาดีใส่ตน ทำลายคนอื่น อย่างนี้ทำงานร่วมกันยาก ไม่เข้าใจทุกคนกำลังจะตรวจสอบอภิปรายความล้มเหลวรัฐบาล ทำไมเปลี่ยนประเด็นมาด้อยค่าพรรคเพื่อไทย คิดอะไรอยู่ครับ ไม่อยากคิดว่าต้องด้อยค่าพรรคเพื่อไทยลงจึงจะทำให้ตนแข็งแรงขึ้น…ไม่กล้าคิดจริงๆ”

นอกจากนี้ “ภูมิธรรม” ได้รีทวีตข้อความผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ระบุว่า “เลขา ก.ก.ชี้แจงประเด็นนี้ใน CH แล้วว่าไม่ได้เป็นอย่าง ส.ส.พท. ให้ข่าว คุณสุทิน หมอชลน่าน ไม่โต้แย้งที่เลขาฯ กก.พูด”

นายภูมิธรรมระบุว่า “จัดเวทีให้เลขาก้าวไกลคุยกับผมต่อหน้าสื่อสิครับ เมื่อวานคุยกับหัวหน้าและเลขาก้าวไกล”

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล  ได้มารีทวิตตอบว่า “ได้ประสานกับ @VoiceTVOfficial แล้ว ทางช่องตอบรับเป็นอย่างดี รอแต่เพียงคุณ @phumtham พร้อมเมื่อไร ยินดีจะไปคุยกับพี่อ้วนต่อหน้าสื่อตั้งแต่วันนี้เลยครับ เราจะได้เข้าใจตรงกันแล้วเดินหน้าทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลกันต่อไป”

ทักษิณ กรรมการห้ามศึก

ทำให้ในช่วงค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม “โทนี วู้ดซัม” หรือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ที่ร่วมสนทนาในรายการ CARE Talk x CARE clubHouse ครั้งที่ 13 ในตอน ทางออกประเทศ ทางรอดประชาชน เป็น กรรมการห้ามศึก

“…พรรคก้าวไกลต้องใจเย็นๆ ถ้าหวังสร้างประชาธิปไตย อย่าใจร้อน จะทะเลาะทำไม ภารกิจเราคือ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตย…” . พี่โทนี่ให้ความเห็นเรื่องข้อครหา “โทนี่มีดีล” เรื่องรายชื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจว่า

พรรคก้าวไกลต้องใจเย็นๆ ถ้าทำงานเพื่อหวังสร้างประชาธิปไตย อย่าใจร้อน จะทะเลาะทำไม เรามีภารกิจคือต้องทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ด่าประวิตร ธรรมนัสแล้วจะได้ประชาธิปไตย อย่างว่าพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลมีวัฒนธรรมต่างกัน แต่ทั้งคู่ต้องทำงานร่วมกัน อย่าทะเลาะกัน เราโตกันแล้ว

ไม่มีอะไรครับ ใจร้อน ไม่ได้ดั่งใจก็หงุดหงิดเป็นเรื่องธรรมดา การเมืองต้องมียุทธศาสตร์ จะใจร้อนไม่ได้ ต้องคิดว่าจะด่ายังไงให้ได้คะแนน จากคณะรัฐมนตรี 36 คน ด่าอย่างเดียวผู้ชมก็เบื่อ ถามว่าประวิตรวันนี้มีหน้าที่อะไร เป็นรองนายกฯ เฉยๆ งานไม่ค่อยมี แถมการอภิปรายส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัจจุบัน ถ้าเอาเรื่องอดีตมาคุยก็ไม่มีน้ำหนัก ตอนนี้เป็นเรื่องโควิด ความล้มเหลวในการบริหาร มีพฤติการณ์ที่ส่อกระทำทุจริต จะอภิปรายใครควรมีหลักฐานที่ชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าร่วมคลับเฮาส์ รายหนึ่งถามเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายทักษิณ ตอบว่า ให้รอฟังวันที่ 31 สิงหาคม 2564 อีกครั้งหนึ่ง และบอกว่าจะพูดให้หมดในวันนั้น ทำให้ผู้ถามและผู้ดำเนินรายการหลายคนพูดเสริมกันว่า ต้องรอฟังคำเฉลยในวันนั้น

ทั้งนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน และลงมติในวันที่ 3 กันยายน 2564