“ภราดร” กุนซือ เพื่อไทย วิเคราะห์ นายทุน ขุนศึก พร้อมทิ้ง “ประยุทธ์”

สัมภาษณ์พิเศษ 
โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในภาวะเผชิญศึกรอบด้าน ทั้งวิกฤตโควิด-19 ฝ่ายค้านกำลังเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการเผชิญหน้ากับ “ม็อบรายวัน” ทั้งสันติวิธี-ใช้กำลัง

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เขาเคยวิเคราะห์ เสิร์ฟข้อมูลความมั่นคงให้กับ “ยิ่งลักษณ์” ในช่วงที่โดนม็อบ กปปส.รุกไล่ ปัจจุบัน “พล.ท.ภราดร” ยังเกาะติดความมั่นคง เสิร์ฟข้อมูลทางการเมือง-ความมั่นคงให้กับพรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย

เขาจึงพยากรณ์สถานการณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในจังหวะที่เผชิญศึกรอบด้าน ดังต่อไปนี้

รัฐบาลอยู่ในภาวะล่อแหลม

พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ความมั่นคงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในจุดที่ล่อแหลมทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ใน 2 ปัจจัยหลัก 1.ปัจจัยภายในสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตัว พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข

มีประเด็นความล่อแหลม สุ่มเสี่ยงที่จะเพลี่ยงพล้ำในสภาได้ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวพันกันอย่างเหนียวแน่น มีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่

2.ปัจจัยภายนอกสภา คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนต่าง ๆ ที่มารุมขับไล่รัฐบาล ซึ่งมีพลัง และอิทธิพลพอสมควรในการกดดันรัฐบาล เพราะการเคลื่อนไหวแบบใหม่ที่เกิดขึ้น และกระจายตัวแบบธรรมชาติ ไม่ใช่การจัดตั้ง มาจากคนที่เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าอย่างแท้จริง

เมื่อประชาชนพบความจริงเป็นที่ประจักษ์ บวกกับเรื่องหัวใจการแก้ปัญหา คือ วัคซีน ทุกคนได้คำตอบตรงกันแล้วว่า หากยังเป็นรัฐบาลนี้ การมีวัคซีนให้เพียงพอและทันเวลา ยากที่จะเป็นไปได้ เพราะติดกับดักที่ตัวรัฐบาลเอง

“เมื่อปัจจัยภายนอก-ภายในมาบรรจบกันได้ลงตัว ก็จะเป็นสิ่งบอกเหตุ เพราะนักการเมืองจุดสุดท้ายต้องนึกถึงประชาชนเป็นหลัก เมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวผู้นำคือ นายกฯออกไป โอกาสก็เกิดขึ้นได้”

“ความมั่นคงของรัฐบาลต่ำกว่าครึ่งหนึ่งที่จะยืนอยู่ได้ ถ้ารัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ววัน เพราะหลังจากผ่านงบประมาณ 2565 การแก้ไขรัฐธรรมนูญลงตัว โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้”

รัฐประหารซ้อนเกิดยาก

แต่ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังพออยู่ได้ ณ ขณะนี้ในมุม “พล.ท.ภราดร” ก็คือ อำนาจพิเศษเป็นเงา ๆ อยู่ ก็คือ “กองทัพ” ยังค้ำยันรัฐบาล

“ถ้ามองสถานการณ์ปัจจุบัน กับประวัติศาสตร์ในอดีต ก็จะถึงจุดจุดหนึ่ง ที่กองทัพต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจของกองทัพแล้วว่า เอ๊ะ ถ้ายังค้ำยันอย่างนี้อยู่ ก็จะทำให้ประเทศชาติเสียหาย”

แต่การรัฐประหารซ้ำ-รัฐประหารซ้อนเกิดขึ้นยาก เพราะจากสภาวะแวดล้อม สถานการณ์โลกปัจจุบัน กองทัพก็เห็นแล้วว่าการทำรัฐประหาร แล้วใช้ตัวแบบ แบบเดิม โอกาสการอยู่รอดแทบเป็นศูนย์ ผู้นำเหล่าทัพเข้าใจดี

“พล.ท.ภราดร” อ่านใจกองทัพว่า “ตรงนี้คงอยู่ในกระบวนการสื่อสารกับผู้นำว่าควรจะถอย และจะถอยอย่างไร แต่คำตอบจะยังไม่ลงตัว เพราะแน่นอนเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการในช่วงปลายปีงบประมาณ จะต้องมีการต่อรองอะไรกันพอสมควร”

เชื่อประยุทธ์กำลังหาทางลง

ถามย้ำว่าจังหวะนี้คือการดีลกันระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์-กองทัพ” เพื่อหาทางลงแล้วหรือไม่ “พล.ท.ภราดร” ตอบว่า เป็นทหารด้วยกัน เพื่อนพ้องน้องพี่ก็จะมีการพูดจากัน ไม่หักหาญน้ำใจกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำเหล่าทัพ กับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ให้ประโยชน์กับกองทัพมากพอสมควร

“ลูกน้องส่วนใหญ่ได้รับการแต่งตั้ง แต่เมื่อแยกผลประโยชน์ส่วนตัวกับประเทศชาติ ที่อาจจะพังไปทั้งระบบ เชื่อว่ามีการส่งสัญญาณกัน”

“แต่แคแร็กเตอร์ของผู้นำฯ สืบทอดอำนาจ (พล.อ.ประยุทธ์) คนนี้ดันทุรัง ดื้อด้าน ทำให้เกิดปัญหาชะงักกันอยู่ คล้าย ๆ ว่าต่างเล่นแง่ คุณบอกผมมาก่อนสิ ให้ผมออกแล้วจะดูแลผมอย่างไร อีกฝ่ายก็บอกว่า ออกก่อนสิ แล้วเดี๋ยวจะบอกว่า ดูแลอย่างไร ต่างฝ่ายต่างรอให้คำตอบกัน แต่สุดท้ายรัฐบาลยากไปต่อ รอจังหวะจะโคน เอื้อซึ่งกันและกัน”

ทุน ขุนศึก ศักดินา พร้อมถอย

“แต่การที่รัฐบาลอยู่มาได้ถึง 7 ปี ไม่ได้อยู่ได้เพราะประชาชน แต่อยู่ได้เพราะพลังกลุ่มทุน ขุนศึก ศักดินา ทั้งที่การยืนอยู่ได้ของทุกรัฐบาล คือ ประชาชน แต่รัฐบาลนี้เข้ามาโดยไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ประชาชนให้โอกาส และขณะนั้นยังไม่มีความจริงที่ปรากฏ”

“เมื่อเห็นสภาพการเอื้อต่อกลุ่มทุน กองทัพ ในภาวะที่ประเทศลำบาก แต่กลุ่มทุนกลับได้กำไร กองทัพมัวแต่ซื้ออาวุธ ก็เป็นคำตอบว่าไม่ได้อยู่ได้โดยประชาชนเลย อยู่ได้ด้วยพลังของกลุ่มทุน ขุนศึก ศักดินา”

“แต่เนื่องจากสภาวะแวดล้อม สถานการณ์โลก และโควิด-19 เป็นตัวบังคับให้ แม้กระทั่งกลุ่มทุนเห็นแล้วว่า ต่อให้กอบโกยผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม ถ้าสุดท้ายรากฐานรายได้ของกลุ่มทุนต้องมาจากประชาชนระดับกลาง ระดับล่างที่ลำบากกันทุกหย่อมหญ้า”

“เมื่อการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่เฮงซวยของรัฐบาล ไม่มีความแยบยลพอ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประชาชนจึงเห็นข้อเท็จจริงหมด กลุ่มทุนก็อ่านหน้าไพ่ออกแล้วว่า รัฐบาลไปต่อไม่ได้ ถ้าเขารู้ว่าจังหวะจะโคนตรงนี้ การกอบโกยผลประโยชน์เต็ม ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องแบ่งกันบ้าง กลุ่มทุนก็จะถอยออก”

“ส่วนขุนศึก ศักดินา อำมาตย์ต่าง ๆ ถ้าประชาชนเอาอย่างไรก็ต้องไปทางปีกนั้น แต่ระหว่างที่ประชาชนยังไม่มีความชัดเจน ก็จะต้องประสานกับกลุ่มทุนกันไป แต่ถ้าประชาชนมีความชัดเจนเมื่อไหร่ ไม่ว่าปีกนายทุน ปีกศักดินาต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ แปรมาอยู่กับประชาชน”

หาตัวแทน “ประยุทธ์”

ทว่า ยังมีปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังอยู่ได้ เพราะกลุ่มทุน ขุนศึก และอำมาตย์ยังหาตัวตายตัวแทนไม่ได้

“ณ ตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์จริง ๆ คือปิดเกมแล้ว เกมต่อไปคือใครจะเป็นนายกฯต่อ ที่มันยังยึกยัก ดูหน้าแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองทั้งหลายก็ยังไม่ลงตัว นายกฯคนกลางก็ไม่ง่าย เพราะต้องผ่านกระบวนการถึง 3 เด้งในสภา กับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่”

“ยังไงก็ต้องเปลี่ยนตัว พล.อ.ประยุทธ์ แต่เมื่อเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ต้องเป็นคนที่อยู่ในสภา ถือว่ามีการยึดเกี่ยวกับประชาชนทางตรง จึงเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดคาราคาซัง แต่ถ้าลงตัวเมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องไป”

“ประยุทธ์” ไม่ยอมตายคนเดียว

ให้ “พล.ท.ภราดร” แห่งเตรียมทหารรุ่น 14 เดาใจรุ่นพี่ “พล.อ.ประยุทธ์” เตรียมทหารรุ่น 12 ระหว่างยุบสภา-ลาออก “พล.อ.ประยุทธ์” จะเลือกอย่างไหน

“การลาออกเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก แต่ถ้าลาออกก็ไม่ได้มาจากความสมัครใจของ พล.อ.ประยุทธ์หรอก แต่มาจากองค์ประกอบต่าง ๆ บีบคั้นจนต้องจำยอมลาออก คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าจะตายไม่ยอมตายคนเดียว ที่ผ่านมาโทษคนอื่นหมด ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดสักเรื่อง เช่น โทษว่า ส.ส.เฮงซวย เสียอีกแล้วยุบสภา”

“เวลานี้อยู่ในจุดที่ล่อแหลม เมื่อมีการรับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถยุบสภาได้ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายน ช่วงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ว่าตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลบอกว่า สู้ได้ ตอบได้แต่ถ้าข้อมูลที่ฝ่ายค้านเอามาแฉจนกระทั่งไปไม่ได้”

“รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่แน่ ๆ สมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ เมื่อเจอกรณี ส.ป.ก.4-01 ก็ชิงยุบสภา แต่ตอนนั้นรัฐธรรมนูญเอื้อให้ยุบสภา ผิดกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ห้ามยุบสภา ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องลาออกไปคนเดียวแล้ว”

พท.จับมือ พปชร.เกิดขึ้นได้

ทว่า สถานการณ์ในฝ่ายค้าน “เพื่อไทย-ก้าวไกล” เปิดฉากทะเลาะกันเอง ฝ่ายค้านมีพลังล้มรัฐบาลหรือไม่

อาจจะเห็นบรรยากาศเหมือนบั่นทอนนะ แต่เรามองแล้วถือเป็นเรื่องเล็ก เพราะเป้าหมายหลักยังตรงกันอยู่ว่า เอา พล.อ.ประยุทธ์ออก เชื่อเถอะว่าน้ำหนักยังอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข คนอื่นแค่องค์ประกอบ เพราะเรื่องโควิด-19 และวัคซีน 2 คนนี้คือเจ้าภาพหลัก

“ภราดร” ประเมินปิดท้ายว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ถึงเลือกตั้งปี 2566 แต่ที่เสียเวลาตอนนี้คือ นายกฯคนใหม่คือใคร มาอย่างไร คนในสภา หรือนอกสภาลงตัวเมื่อไหร่ วันนั้นคือวันจบ พล.อ.ประยุทธ์ 100%

“ส่วนพรรคเพื่อไทย พร้อมการเลือกตั้งตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป เพราะประสงค์เข้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนต้องการอะไร”

แล้วถ้านายกฯไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว เพื่อไทย-พลังประชารัฐ จะจับมือกันได้หรือไม่ “พล.ท.ภราดร” กล่าวว่า ณ ตอนนั้น ในทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันได้ว่า ดูกระแสของประชาชน ว่าจะพอรับอะไรกันได้ไหม ความลงตัวอยู่ที่นายกฯคนใหม่มากกว่า ว่าเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้หรือไม่ ถ้ายอมรับได้ก็โอเค

“แต่ถามว่าจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ มองว่ายากมาก และลึก ๆ ที่พรรคเพื่อไทยยังยืนยันว่าที่ไม่อยากจับมือ เพราะอยากไปสู่การเลือกตั้งมากกว่า เพราะการแก้ไขปัญหาที่ดีต้องมาจากการเลือกตั้ง และได้เสียงส่วนใหญ่ชัด ๆ รับรองการแก้ไขปัญหาจะคลี่คลาย ดังนั้น ตอนนี้ความเป็นไปได้ในการจับมือพลังประชารัฐถือว่าน้อยมาก”