เรืองไกร ร้อง กกต. “ยุบพรรคก้าวไกล” อภิปรายงบส่วนราชการในพระองค์

เรืองไกรร้อง กกต.ยุบพรรคก้าวไกล เหตุ อภิปรายงบฯส่วนราชการในพระองค์ เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ดำเนินการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยใช้สิทธิรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (1) และเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
โดยขอให้ กกต.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่

ทั้งนี้ ได้พบเห็นการกระทำตามคำร้อง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล หลายคนได้ร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มาตรา 36 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ รายละเอียดปรากฏตามรายงายการประชุมแบบคำต่อคำ (ชวเลข) และเทปวิดีโอบันทึกภาพและเสียง ซึ่งอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ต่อมา พรรคก้าวไกลได้นำข้อมูลการอภิปรายมาตรา 36 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ ไปเผยแพร่ ทั้งข้อความ ภาพ และวิดีโอ ในเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกล เพื่อเผยแพร่สู้สาธารณชน ซ้ำอีก เป็นช่วง เป็นตอน เช่น จากการอภิปรายของ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในวาระพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี’65 มาตรา 36 งบฯส่วนราชการในพระองค์

การกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เช่น ข้อความที่ว่า “ความจงรักภักดีไม่ได้วัดกันที่จำนวนหน่วยถวายรักษาความปลอดภัย จำนวนข้าราชบริพาร จำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หรือการใช้ 112 แจกจ่ายประชาชน” หรือ “ทำให้งบOสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้…และไม่ถูกต้องตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ที่องค์พระมหากษัตริย์ อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง…”

จึงเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลได้กระทำการอัน “อาจเป็นปฏิปักษ์” ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ที่ควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 92 วรรคสอง ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 92 (2) ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ (กกต.) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใด กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข