ประยุทธ์ อภิปรายปิด “ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ” เล็งอัดฉีดเศรษฐกิจปลายปี

ประยุทธ์ อภิปรายปิด ก้าวพ้นวิกฤตไปด้วยกัน-ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ เล็งอัดฉีดเศรษฐกิจปลายปี

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันสุดท้ายว่า

เปรียบโควิดเป็นคลื่นลมแรง

ท่านประธานสภาฯ ที่เคารพครับ โควิด-19 เป็นเสมือนคลื่นพายุลมแรง ถึงแรงมาก ที่พัดผ่านเข้าไปในแต่ละพื้นที่ ด้วยขนาดที่แตกต่างกัน แต่ได้แพร่กระจายไปทั่วบริเวณของโลกใบนี้ และคลื่นนี้ ยังคงเป็นคลื่นลมแรงที่ยังไม่มีวี่แววเด่นชัดว่าจะสงบลงเมื่อใด 

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศลำดับแรกๆ ที่เจอกับพายุโควิด-19 เราพบเจอคลื่นขนาดต่างๆ ตั้งแต่คลื่นเล็กในช่วงปีที่แล้ว จนมาถึงวันนี้ ที่เราประสบกับคลื่นขนาดใหญ่ และแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ได้ดีที่สุด แต่ยืนยันว่าเรารับมือได้ในระดับที่ดี และเต็มกำลังความสามารถของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ทำงานอย่างแข็งขัน และเสียสละ และที่สำคัญคือ ประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการที่รัฐบาลกำหนดขึ้น ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความเข้าใจและร่วมกันรวมพลังฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปพร้อมๆ กัน

ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีคนตาย 

ต่อข้อกล่าวหาที่ว่า การมีคนตายเพราะโรคระบาดโควิด รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ให้ความสำคัญสูงสุด และได้พยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อแก้ปัญหาสู้กับอุปสรรคต่างๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ “อัตราการหายป่วย” ของไทย มากกว่า 85% ต่อผู้ติดเชื้อในประเทศ (ป่วยสะสม 1.23 ล้านคน หายป่วย 1.05 ล้านคน) หมายถึง แม้จะติดเชื้อ จนป่วย แต่ก็หายป่วย 85 คน จาก 100 คนที่ป่วย ด้วยความเสียสละ ทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และหน่วยสนับสนุน “ทั้งประเทศ” ด้วยความร่วมมือของทุกคน ด้วยวัคชีน และด้วยการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล และภาคเอกชน จิตอาสาต่างๆ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ รักษาชีวิตประชาชน 

รัฐบาลสามารถลดอัตราการเสียชีวิต ต่อการติดเชื้อ ได้มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของโลกถึง “2 เท่า” (อัตราการเสียชีวิตต่อการติดเชื้อของ โลก=2.08% : ไทย=0.96%) และมากกว่าหลายประเทศมหาอำนาจ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย หรือแม้กระทั่งประเทศในยุโรป “บางประเทศ” ที่มีทรัพยากรด้านการเงินและด้านสาธารณสุข มากกว่าไทยมาก

การควบคุมโรคที่สมดุลกับการดำเนินชีวิต “ไม่ใช่เป็นการกำจัดโรค” ให้หมดสิ้นไปจากประเทศ จากโลก เพราะโรคนี้ สุดท้ายแล้ว ก็จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่นทั่วโลก” เหมือนโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย โรคไข้หวัดใหญ่ 

ก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

สำหรับบทบาทของ “วัคซีน นั้น อาจเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยลดการติดเชื้อ ลดการป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิต แต่ไม่ได้ทำให้เชื้อโรคหายไปจากโลกได้ ดังนั้น วันนี้ผมขอชวนให้ทุกคน “คิดและมองไปข้างหน้า” เราไม่อาจจะตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวจนไม่กล้าจะทำอะไรเลย และเราก็ไม่อาจจะกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีกต่อไป 

เราจำเป็นต้องปรับตัว เราจำเป็นต้องมองหาแนวทางใหม่ ในการ “ก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” หมายถึง เราจำเป็นต้องมีแนวทาง “การควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19” (Smart control and living with Covid-19) ซึ่งมีมาตรการสำคัญ 10 ประการ ตามที่ ศบค.ได้สร้างการรับรู้ไปแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับมาตรการ DMHT (อยู่ห่าง-ใส่แมสก์-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ) ที่เป็นมาตรการพื้นฐาน ให้เป็นการ Universal Prevention ซึ่งเป็นการสร้างพฤติกรรม การระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด โดยคิดเสมือนว่า “ทุกคน” ที่พบปะนั้น มีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นแล้วทุกคนก็จะปลอดภัย สังคมก็จะปลอดเชื้อนะครับ

กระตุ้นเศรษฐกิจ 4 เดือนสุดท้าย

ในเรื่องเศรษฐกิจในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ รัฐบาลก็เตรียมการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้อย่างต่อเนื่องในโครงการคนละครึ่ง – ยิ่งใช้ ยิ่งได้ – มาตรการรักษาการจ้างงานเพื่อรองรับคนว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ให้มีรายได้ – บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยทุกมาตรการ ทุกโครงการ จะดำเนินการอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว

“หัวใจสำคัญ คือ การสร้างโอกาส ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางสังคม โดยการขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานอย่างเป็นธรรม และทั่วถึง ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการต่างๆ กับประชาชน ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่”

เช่น ยกระดับสวัสดิการพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย ให้นักเรียนเรียนฟรี มุ่งดูแลเด็กแรกเกิด – ผู้สูงอายุ – ผู้พิการ รวมทั้งดูแลผู้มีรายได้น้อย และแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยกลุ่มต่างๆ เช่น หนี้ กยศ. หนี้สินครู หนี้บัตรเครดิต หนี้จำนำ สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

โชว์พิมพ์เขียวประเทศไทยก่อนครบวาระ

ทั้งนี้ในปี 2564 นี้เป็นปีที่มีความท้าทาย เนื่องจากยังเป็นปีที่ต้องประคับประคองเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน ของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทั้งภายในและต่างประเทศ เราควรใช้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการเดินหน้าประเทศไทย รวมไทยสร้างชาติ เพื่อความสำเร็จของการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยวันนี้ผมจะขอกล่าวถึงยุทธศาสตร์ขอประเทศไทย ที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อจากนี้

1. การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภูมิภาค โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของภาครัฐขยายตัว เฉลี่ย 7.9% ต่อปี ครอบคลุมถึงการขยายถนน ระบบราง สนามบิน ท่าเรือ ระบบพลังงาน (ทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ) รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการมุ่งพัฒนาพื้นที่ EEC รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

2. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็น “วาระของโลก” โดยเน้นนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน หรือการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) มีรถพลังงานไฟฟ้า EV 30% ในปี 2573 ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทดแทน 50% ผลักดัน BCG Model ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคอุตสาหกรรม ปลูกป่า จาก 31.8% เป็น 40% ในปี 2579

3. อุตสาหกรรมเดิมต้องเข้มแข็งขึ้น โดยการต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร-เกษตรแปรรูป เกษตร BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรคุณภาพสูง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ศูนย์กลางทางการแพทย์ ดึงดูดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รับสังคมสูงวัย ศูนย์กลางขนส่งและโลจิสติกส์ ท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพให้มีรายจ่ายต่อหัวสูง เป็นต้น

4. อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต โดยเน้นการส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป  เช่น ศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น แอพเป๋าตัง e-Payment อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ

5. การสร้างภูมิคุ้มกันและแต้มต่อให้ SMEs โดยรัฐบาลมีแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐาน “ผู้ประกอบการยุคใหม่” เพื่อสร้างโอกาสด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ SME ทั้งการเข้าถึงโอกาสทางการเงิน การเข้าถึงตลาด รวมไปถึงการสร้างโอกาสให้ SME เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ได้มากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่า 42% ต่อ GDP และสร้างการจ้างงาน 12 ล้านคน

6. การปฏิรูปและพัฒนาระบบการบริหารงานภาครัฐ โดยเน้นเสริมศักยภาพ สร้างความสะดวกในการทำธุรกิจและดึงดูดการลงทุนของประเทศได้เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น อันดับ Ease of Doing Business ติด 1 ใน 10 ของโลกในปี 2565 – 2566 ส่วนราชการต่างๆ ต้องยกระดับงานบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา ที่หลายๆ อย่างดำเนินการไปแล้ว ก็จะเดินหน้าต่อไป นะครับ

ฟ้าหลังฝนสดใสเสมอ

ท่านประธานสภาฯ ที่เคารพครับ ในช่วงสามวันที่ผ่านมา เราได้ยินข้อมูลประเด็นต่างๆ มากมาย ผมยินดีรับฟังทุกข้อมูล ทุกความเห็น ทุกข้อเสนอแนะแนวทางให้กับรัฐบาล โดยรัฐบาลจะนำไปปรับปรุง แก้ไขเพื่อลดจุดอ่อนในการทำงาน ที่อาจจะยังมีอยู่ 

ผมไม่เคยปฏิเสธทุกอย่างที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ผมขอเรียนผ่านท่านประธาน ไปยังพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และผู้ทรงเกียรติทุกท่านในที่นี้นี่คือคำมั่นของผม ที่จะทำงานเพื่อคนไทยทุกคน ที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในครั้งนี้ พร้อมๆ กับชาวโลก

“โดยรัฐบาลจะร่วมมือกับทุกฝ่าย ทำหน้าที่อย่างที่ที่สุด เพื่อนำพาประเทศไทยของเรา ก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่เราคาดหวัง อย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ  เราชาวไทยเชื่อว่า ฟ้าหลังฝน ย่อมสดใสเสมอ แม้จะไม่มีใครบอกได้ว่าวิกฤตโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่ “ความหวัง” จะเป็นพลังสำคัญให้เราก้าวข้ามความยามลำบากในวันนี้ พร้อมกับความรัก ความสามัคคีของคนในชาติจะเป็นแรงขับเคลื่อนบ้านเมืองของเราไปสู่จุดหมายร่วมกันโดยสวัสดิภาพ ทุกๆ คน นะครับ”

ขอบคุณครับ