ปฏิวัติอาญา “นักการเมือง” รื้อคดีครอบครัว “ชินวัตร” 7 คดี

แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ…… ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะผ่านกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา

เพราะตามขั้นตอน กฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งกลับไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และพักไว้ 10 วัน เพื่อรอดูว่าจะมีองค์กรใดที่เกี่ยวข้องโต้แย้งหรือไม่

หากไม่มีเสียงทักท้วงก็จะส่งกลับไปที่ประธาน สนช.ก่อนจะส่งต่อไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

ท่ามกลางเสียงทักท้วง “นักการเมือง” ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ออกมาถล่มเนื้อหาสาระร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ยั้ง

เพราะกฎหมายดังกล่าวหากถึงวันบังคับใช้ จะกระทบคดีที่นักการเมืองตกเป็นจำเลยเข้าอย่างจัง รวมถึงนักการเมืองที่อาจทำผิดในอนาคต

ในจำนวนคดีที่นักการเมืองเข้าไปเป็นจำเลย และศาลต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวเนื่องจากหลบหนี ขณะนี้นับได้ 4 คดี โดยทั้ง 4 ที่เกี่ยวข้องกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจตัวจริงในพรรคเพื่อไทย (รายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)

ทั้งนี้ สาระสำคัญมี 4 ประเด็นที่เป็น “หมัดเด็ด” ของกฎหมายดังกล่าว

หนึ่ง ในมาตรา 24/1 คดีที่ฟ้องต่อศาลตามกฎหมายฉบับนี้ ให้อายุความสะดุดหยุดลงทันที หรือกรณีที่จำเลยหลบหนีคดี ระยะเวลาที่หลบหนีไม่ให้นับเป็นอายุความ

สอง ในมาตรา 27 ศาลฎีกาฯ สามารถไต่สวนลับหลังจำเลย ไปจนถึงการพิพากษาคดีลับหลังจำเลยได้

สาม ในมาตรา 28 เปิดช่องให้จำเลยสามารถร้องอุทธรณ์ได้หากมีหลักฐานพยานใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของคดี โดยจำเลยจะต้องมาขอรื้อฟื้นคดีต่อศาลด้วยตนเอง ภายใน 1 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษา

สี่ ในบทเฉพาะกาลมาตรา 67 ใจความว่า ให้คดีที่มีการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาฯ ไว้ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วให้ดำเนินการต่อไปทันที

ไม่แปลกที่นักการเมืองฟาก พรรคเพื่อไทย จะมีปฏิกิริยา “แอนตี้” ร่างกฎหมายฉบับนี้ชนิดฉับพลันทันใด ตัวอย่างเช่น พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ถามว่ามีประเทศใดบ้างที่เขียนกฎหมายให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดหลักสากลหรือไม่ เพราะผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น

“อุดม รัฐอมฤทธิ์” ตัวแทน กรธ.ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้ร่างบนพื้นฐานที่ต้องการแก้ปัญหาประสิทธิภาพของการดำเนินคดีอาญานักการเมือง เพราะปกติชาวบ้านหลบหนีพอเข้าใจ แต่พอเป็นนักการเมืองหนี.. หมายความว่าผลกระทบในคดีทุจริตมันเยอะ ในต่างประเทศจึงต้องมีกฎหมายแบบเดียวกันนี้ เช่น ฝรั่งเศส เช็ก อิตาลี เพราะคดีที่มีความสำคัญ แต่จำเลยมีการหลบหนี การจะเอาตัวกลับมาค่อนข้างยาก ก็ต้องถือว่าการแก้ปัญหาพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลยสามารถทำได้

แต่กฎหมายนี้จะใช้ได้ต่อเมื่อมีเงื่อนไข 1.ศาลต้องแน่ใจว่าจำเลยมีตัวตนอยู่จริง และได้รับรู้ถึงข้อกล่าวหาที่จำเลยมีโอกาสในการแก้ข้อกล่าวหา 2.จำเลยมีสิทธิที่มีทนาย ถ้าไม่เปิดโอกาสให้จำเลยมีทนาย การพิจารณาคดีลับหลังก็ทำลายสิทธิในการต่อสู้ 3.เมื่อมาปรากฏตัวหลังจากต้องคำพิพากษา จำเลยต้องมีโอกาสในการขอรื้อฟื้นคดี

ส่วนบทเฉพาะกาลมาตรา 67 ที่ให้นำบทบัญญัติในกรณีที่ศาลฎีกาฯ สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้นั้น อุดม เล่าเบื้องหลังว่า มีคนอภิปรายในคณะกรรมาธิการว่า

“1.กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่สิ่งจะมาชี้ว่าจำเลยผิดหรือไม่ 2 กฎหมายดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่เป็นสารบัญญัติ ที่บอกว่าห้ามเอากฎหมายไปใช้ย้อนหลัง กฎหมายอาญาทั่วไปที่ห้ามใช้ย้อนหลังในทางเป็นโทษแก่จำเลยนั้น เดิมที่กระทำอะไรต่าง ๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต่อมามีการออกกฎหมายใหม่เพื่อบอกว่าการกระทำนั้นผิด ถือเป็นการออกเพื่อมาเล่นงาน.. อันนี้ไม่แฟร์กับจำเลย แต่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ นักการเมือง แม้สิ่งที่ทำไปก่อน แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของการให้ศาลไปตรวจสอบว่าความจริงจะใช้วิธีการอย่างไรไปตรวจสอบ”

“จริงอยู่ที่เดิมบอกว่าศาลตัดสินผม (จำเลย) ไม่ได้ เพราะผมไม่อยู่ แต่กฎหมายใหม่ประกาศใช้ทำให้ศาลตัดสินได้ ก็ไม่ได้เป็นภาระของจำเลย ศาลก็ทำหน้าที่ไป จากเดิมที่ศาลจำหน่ายคดี แต่กฎหมายตัวนี้ไปปลดล็อกให้ศาลพิจารณาคดีได้” อุดมปิดท้าย

ทั้งนี้มีรายงานจาก สนช.ในฐานะแม่น้ำสายนิติบัญญัติว่า ขั้นตอนต่อไป หากครบ 10 วัน ที่ไม่มีองค์กรที่เกี่ยวข้องมาโต้แย้ง ประธาน สนช..ก็จะรับร่างกฎหมายดังกล่าวจาก กรธ. เพื่อส่งต่อให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ แม้ในเบื้องหลังการร่างกฎหมาย ฝ่ายตัวแทนศาลฎีกาจะเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่อยากให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เปิดช่องให้ศาลยุติธรรม ใช้สิทธิโต้แย้งเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เหมือนคดีเซตซีโร่ กกต.

ดังนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอยู่ในลักษณะ “ผ่านตลอด” และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนสิงหาคม หรือกันยายน หากไม่มีอุบัติเหตุใด ๆ

จึงทำให้คดีสำคัญที่นับถอยหลังรอวันพิพากษา มีอยู่ 3 คดี คือ 1.คดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ ที่มี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ เป็นจำเลย ซึ่งศาลนัดวันฟังคำพิพากษา วันที่ 8 ส.ค.ที่จะถึงนี้

2.คดีระบายข้าว จีทูจี ที่มีจำเลยคือ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 2 จำเลยสำคัญ ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษา 25 ส.ค.นี้

3.คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว ซึ่งมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เป็นจำเลย จะมีการไต่สวนวันสุดท้าย 21 ก.ค.นี้

ทั้ง 3 คดีหากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา “เป็นลบ” จำเลยทั้ง 3 คดีก็มีสิทธิ์ที่จะขอ “อุทธรณ์” ภายใน 1 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา

จึงมีข่าวว่า การที่ทนาย “ยิ่งลักษณ์” ยื่นต่อศาลฎีกาฯ ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า มาตรา 5 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปี 2542 ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อประวิงเวลาให้ร่างวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ…… ซึ่งเป็นร่างฉบับใหม่บังคับใช้ หวังผลเรื่องอุทธรณ์คดี

เช่นเดียวกับ 4 คดีของทักษิณ รวมเป็น 7 คดีของครอบครัวชินวัตรในศาลฎีกาที่สามารถรื้อคดีใหม่ได้


ปูมทุจริตการเมืองในศาลฎีกา

สำหรับคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาแล้ว มี 4 คดี ประกอบด้วย คดีที่หนึ่ง คดีที่ดินรัชดา มี “ทักษิณ” เป็นจำเลย โดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 2 ปี

คดีที่สอง คดีร่ำรวยผิดปกติ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 46,373 ล้านบาท

คดีที่สาม คดีคลองด่าน มีนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลย ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ให้จำคุก 10 ปี จากการใช้อำนาจข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ คดีมีอายุความ 15 ปี ครบ 17 ส.ค. 2566

คดีที่สี่ คดีทุจริตจัดซื้อเรือ-รถดับเพลิงของ กทม. มี “นายประชา มาลีนนท์” อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลย อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อ 10 ก.ย. 2556 จำคุก 12 ปี คดีมีอายุความ 15 ปี ครบ 10 ก.ย. 2571

ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างจำหน่ายคดี มี 4 คดี ทั้งหมดมี “ทักษิณ” เป็นจำเลย ประกอบด้วย

หนึ่ง คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคม จากบริษัทในเครือชินคอร์ป ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ศาลออกหมายจับเมื่อ 16 ก.ย. 2551 เนื่องจากทักษิณหลบหนีคดี ในการพิจารณาคดีนัดแรกศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี

สอง คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ศาลหมายจับเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 51 แต่เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีในการพิจารณาคดีนัดแรกและศาลสั่งจำหน่ายคดี

สาม คดีแปลงสัญญาสัมปทาน เป็นภาษีสรรพสามิตโดยมิชอบ คดีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ออกหมายจับเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 51 ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

สี่ คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีไปในการพิจารณาคดีนัดแรก และศาลออกหมายจับเมื่อ 11 ต.ค. 2555 และศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว