เปิดประวัติ พล.อ.วิชญ์ ปาดหน้า สามมิตร ขึ้นแท่นประธานยุทธศาสตร์ พปชร.

การประชุม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ “ครั้งแรก” หลังจากจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ – ปลด “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรค พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

มองด้วยตาเปล่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น-ส.ส.ปรบมือกันเป็นระยะ เมื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป่ากระหม่อม-บริกรรมคาถา “รักกัน ๆ” สยบศึกเกาเหลา-ผสานรอยร้าว “พรรคแตก”

พร้อมกับยืนยันต่อหน้า ส.ส. 100 กว่าชีวิต จะไม่มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ไม่ลาออกจากหัวหน้าพรรค ไม่มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค-เหรัญญิกพรรค และนายทะเบียนพรรค เพื่อเดินหน้าสู้ศึกการเลือกตั้ง

ทว่า การแต่งตั้ง-เปิดตัว “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นั่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ “อย่างเป็นทางการ” เปรียบเหมือนการ “ปาดหน้า” กลุ่มสามมิตร 

หลังจากก่อนหน้านี้ วันที่ “ร.อ.ธรรมนัส” โค่น “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตร ลงจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค มีกระแสข่าวว่า จะตั้ง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตรเป็น ประธานยุทธศาสตร์พรรค 

ประหนึ่งเป็นการมอบเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อ “ปลอบใจ” กลุ่มสามมิตร หลังจาก “พล.อ.ประวิตร” ลาออกจากหัวหน้าพรรค-เปิดทางล้างไพ่ กก.บห.พรรคใหม่ ส่งผล “เสี่ยแฮงค์” หลุดจากเก้าอี้แม่บ้านพรรคโดยอัตโนมัติ 

แต่หลังจากนั้น – ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ไม่มีคำสั่งแต่งตั้ง “นายสมศักดิ์” เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการออกมาแต่อย่างใด 

จนกระทั่งถึงวันการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 – ก่อนถึงวันที่ได้รับ “ไฟเขียว” ให้เผยแพร่คำสั่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ 63/2564 เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ลงวันที่ 14 กันยายน 2564 ลงนามโดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร 

ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ “สมศักดิ์” ขึ้นไปพบ “บิ๊กป้อม” บนห้องทำงาน ตึกบัญชาการ 1 ก่อนประชุมครม. สอดรับกับ “คำสารภาพ” ของนายสมศักดิ์ ว่า เพิ่งทราบข่าวการแต่งตั้ง “บิ๊กน้อย” เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค

ขณะเดียวกันการแต่งตั้ง “บิ๊กน้อย” เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค ยังเป็นการ “รักษาระยะห่าง” กับ ร.อ.ธรรมนัส-นฤมล ไปในคราวเดียวกัน 

เพราะที่ผ่านมา “ร.อ.ธรรมนัส” – “นฤมล” คือ “ขุนพลคู่ใจ-คู่คิด” และเป็นคนที่ “บิ๊กป้อม” ไว้ใจ และ “เงี่ยหูฟัง” ทุกคำปรึกษา-การตัดสินใจครั้งสำคัญของพรรคของพล.อ.ประวิตร ต้องมี “ธรรมนัส-นฤมล” ร่วมตัดสินใจ เช่น การส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม-แหกกฎมารยาททางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และการสนับสนุน-ไม่สนับสนุนการเลือกตั้งท้องถิ่น 

แม้กระทั่งการ “จัดคิวเข้าพบ”

จนคนในพรรค-คนนอกพรรค มองว่า “บิ๊กป้อม” ไม่เป็นตัวของตัวเอง เป็น “หุ่นเชิด” และถูกเป่าหู-ถูกลากไปซ้ายที-ขวาที ถึงขั้นถูกครอบงำ

การมานั่งประธานยุทธศาสตร์พรรคของ “บิ๊กน้อย” จึงเปรียบเสมือนเป็นทั้งการ “หย่าศึก” ระหว่าง “คู่ขัดแย้ง” ที่ “ร.อ.ธรรมนัส” เคยพูดกลางกลาง-ปรากฏเป็น “ตัวละคร” ทั้ง “กบฏ 4 ช.” – “ไอ้ห้อย-ไอ้โหน”

ก่อนหน้านี้ “ร.อ.ธรรมนัส” ประกาศว่าเป็น “คนจำนาน” พร้อมกับ “ฝากเอาไว้ก่อน” – “ทีใครทีมัน” ตราบใดที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ยังเป็นเลขาธิการพรรคจะไม่ส่งลงเลือกตั้งครั้งหน้า

นอกจากนี้ “บิ๊กน้อย” จะเข้าเป็น “กุนซือบิ๊กป้อม” ในการกำหนดทิศทางของพรรคพลังประชารัฐ และ “คั่นตรงกลาง” ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ “ธรรมนัส-นฤมล”

“บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นน้อง (ตท.11) จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 22 (จปร.22) เป็น “น้องรักบิ๊กป้อม” เป็น 1 ใน แม่น้ำ 5 สาย คสช. อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเป็น “นายพลคู่ใจบิ๊กป้อม” เป็นอดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก 

โปรไฟล์ “บิ๊กน้อย” เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2493 เป็นบุตรชายคนโตของ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และ คุณหญิงเพลิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตราชองครักษ์พิเศษ

เป็น “ผู้ช่วยผบ.ทบ.” ขุนพลข้างกายพล.อ.ประวิตร ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และ 1 ในกรรมาการ “ศอฉ.” แก้ปัญหาม็อบเสื้อแดง-แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อปี 53 

เป็น “ทหารราบ” รับราชการเป็น ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ปี 45 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ปี 2547 ราชองครักษ์ – รองแม่ทัพภาคที่ 1 ในปี 48 

แม่ทัพน้อยที่ 1 ปี 49 ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ปี 51 ตุลาการศาลทหารสูงสุด ปี 52 

“บิ๊กน้อย”ได้รับตำแหน่งสำคัญในยุคคสช. นอกจากเป็น สนช.แล้ว ยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม ปี 58กรรมการอิสระ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ปี 59 

โดยเฉพาะการเป็น “แม่บ้านสนามม้านางเลิ้ง” เลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

“บิ๊กน้อย” เคยมีข่าวครึกโครม-เกี่ยวข้องกับ “คดีแพรวา” เพราะถูกโยงกับนามสกุล “เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ถึงขั้น “ขู่ฟ้อง” สื่อมวลชนที่ตีข่าว-สื่อโซเซียลที่ตีไข่ 

ปัจจุบัน “บิ๊กน้อย” ยังช่วยงาน “บิ๊กป้อม” ในการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นผู้แทนประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เป็นผู้ช่วยเหรัญญิก คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย

เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬา นั่งหัวโต๊ะการถ่ายทอดสดและสิทธิประโยชน์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 (TOKYO 2020) เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกชนิดกีฬา-นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ประจำทีมเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์

“บิ๊กน้อย” จึงถือเป็น “กลุ่มบิ๊กป้อม รุ่น 1”  ที่จะมาสลายกลุ่มก๊วน-มหกรรมแก้แค้น-คิดบัญชีในพรรคพลังประชารัฐ