15 ปี 19 กันยา ยึดอำนาจทักษิณ จุดเปลี่ยน 3 ป.ในสายตา “เสรีพิศุทธ์”

รายงานพิเศษ

19 กันยายน 2549 ผ่านไปแล้ว 15 ปีเต็ม ที่คณะยึดอำนาจโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อ้างเหตุความแตกแยกในประชาชน-นักการเมืองทุจริต ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ในคืนวันนั้นมีทั้งผู้แพ้-ผู้ชนะ และส่งผลกระทบวิถีการเมืองของมนุษย์การเมืองนับร้อยคน พลิกชะตาการเมืองไทยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก

ชะตาผู้แพ้-ชนะ และการเมืองไทย

“ผู้แพ้” ในเกมยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องเผชิญหน้ากับคดีความที่ถูกตั้งข้อหาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กระทั่งส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ

หลัง 19 กันยายน 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 ชีวิต แตกกระเด็นไปตั้งพรรคใหม่ แต่ “ทักษิณ” ยังรวบรวมกำลังปักหลักบัญชาการตั้งพรรคการเมืองใหม่มาสู้เกมเลือกตั้งแล้วทั้งหมด 3 พรรค

หนึ่ง พรรคพลังประชาชน แต่ถูกยุบไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรรมการบริหารพรรคคือ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ทุจริตเลือกตั้ง

สอง พรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนหลักในฝ่ายค้านปัจจุบัน

สาม พรรคไทยรักษาชาติ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้กติกาจัดสรรปันส่วนผสมของรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็น “ผลไม้พิษ” ของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นรัฐประหาร “ภาคต่อ” ของการยึดอำนาจปี 2549

พรรคการเมืองของ “ทักษิณ” หลัง 19 กันยายนได้เป็นรัฐบาล 2 ครั้ง เป็นฝ่ายค้านมาแล้ว 2 หน มีนายกฯในกำมือถึง 3 คน

พรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2551 โดยมีกลุ่มเพื่อนเนวิน กลุ่มการเมืองใหญ่ที่สุดในฝ่ายทักษิณกำกับหางเสือพรรคเวลานั้น เข็นชื่อ “สมัคร สุนทรเวช” ขึ้นมาเป็นนายกฯ หักล้างข้อกล่าวหา “ไม่จงรักภักดี”

แต่แล้ว “สมัคร” ก็ต้องพ้นเก้าอี้นายกฯจากคดี “ชิมไปบ่นไป” และต้องโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ ปรากฏว่า “สมัคร” ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนเนวิน แต่ “ทักษิณ” ผนึกกำลังนักการเมืองในสายทักษิณทุกขั้ว “บอยคอต” การโหวตเลือกสมัครให้กลับมาเป็นนายกฯรอบสองในวันที่ 12 กันยายน 2551

17 กันยายน 2551 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็เลือก “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยทักษิณให้เป็นนายกฯ และล้มกลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นจุดกำเนิด “พรรคภูมิใจไทย” เวลาต่อมาก่อนจะพลิกขั้วไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล

กำเนิดนาม 3 ป.

ช่วงการเมืองเปลี่ยนขั้ว-การเมืองตึงเครียด “กองทัพ” ยุคนั้นมี “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เป็นผู้บัญชาการทหารบก อันเป็นช่วงรอยต่อ-จุดเริ่มต้นของกลุ่ม 3 ป.ในปัจจุบัน ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ค่อย ๆ อยู่ในไลน์อำนาจ จากแม่ทัพภาค 1 มาเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.

หลังพลิกขั้วอำนาจ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถีบพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านครั้งที่ 1

รัฐบาลอภิสิทธิ์คุมอำนาจภายใต้การหนุนหลังจากกองทัพ มี รมว.กลาโหม ชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ 3 ป. ส่วนพรรคทักษิณเนรมิตพรรคใหม่ในนาม “พรรคเพื่อไทย”

สถานการณ์การเมือง “คู่ขนาน” กับความพ่ายแพ้ของ “ทักษิณ” ปรากฏม็อบการเมือง 2 กลุ่มใหญ่ขึ้นมาประกอบฉากความขัดแย้งคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาเป็นกุญแจสำคัญในการล้มรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลสมัคร-สมชาย

แต่อีกด้านเครือข่ายทักษิณก็ก่อร่างสร้างกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขึ้นมา ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ด้วยข้อหา “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”

รัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่รอดปลอดภัยผ่านจลาจลใหญ่กลางกรุงในเมษายน 52 และพฤษภาคม 53 แต่กลับพ่ายแพ้ให้กับพรรคของทักษิณ คือพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

นายกฯคนที่ 3 ของทักษิณคือ น้องสาวแท้ ๆ ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ แต่ย้อนหลังไปเกือบ 1 ปีก่อนหน้านั้น “กองทัพบก” ที่คุมกำลังหน่วยรบ เปลี่ยนผู้นำจาก “พล.อ.อนุพงษ์” เป็น “พล.อ.ประยุทธ์”

เพียงแค่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผบ.ทบ.ก็ถูกถามเรื่องการ “รัฐประหาร”

ส่วนคนที่ชนะในเกมยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 แต่กลายเป็น “ผู้แพ้” ทางการเมืองคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หลังคลายอำนาจให้มีการเลือกตั้ง ชีวิตเขาโลดโผนพยายามเป็น “นักการเมือง” ในระบบ ตั้งพรรคที่ชื่อว่า “พรรคมาตุภูมิ” และได้มี ส.ส. 1 คน

“พล.อ.สนธิ” เข้ามามีบทบาทในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดองแห่งชาติ แต่ก็เป็นวาระถูกดอง เพราะ พรรคประชาธิปัตย์ค้านหัวชนฝาจนเกิดเหตุการณ์ยุ่งเหยิงในสภา ปาเก้าอี้-ดึงเก้าอี้ประธานสภา

ต่อมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมอีกครั้ง แต่ที่สุดแล้วก็ถูกกล่าวขานว่า “นิรโทษกรรมสุดซอย” ในช่วงปลายปี 2556 พรรคประชาธิปัตย์ก็ถึงคราวจุดเปลี่ยนเมื่อ “สุเทพ เทือกสุวรรณ” นำทีม ส.ส.ประชาธิปัตย์ออกมาตั้งกลุ่ม กปปส.เดินเกมข้างถนน ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

ปี 2556 เคลื่อนผ่านปี 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพลี่ยงพล้ำเกมกฎหมายนิรโทษกรรม ส่งผลให้มีคนจำนวนมากออกมาขับไล่รัฐบาลร่วมกับกลุ่ม กปปส.

ยิ่งลักษณ์เสียสถานภาพการเป็นนายกฯ แม้กระทั่งนายกฯรักษาการจากกรณีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ถูกนักข่าวถามมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงการออกมายึดอำนาจ

สุดท้ายการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์และกลุ่ม 3 ป.ที่กลับมาครบทีมเป็นแกนหลักอำนาจอยู่โยงถึงปัจจุบัน

ภายใต้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยของ “ทักษิณ” ก็กลับไปเป็นฝ่ายค้านครั้งที่ 2

เสรีพิศุทธ์ 1 ใน คมช.

ประจักษ์พยานสำคัญที่ร่วมเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีก่อน และยังอยู่บนกระดานการเมือง ณ วันนี้คือ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

15 ปีที่แล้วเขาเป็น 1 ในสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เขาเล่าว่า วันยึดอำนาจผมอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตอนนั้นท่านนายกฯทักษิณอยู่ที่นิวยอร์ก ส่วนพี่ชิดชัย (พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์) ทำหน้าที่รักษาการแทนนายกฯอยู่ พอยึดอำนาจปุ๊บ พี่ชิดชัยก็โทร.มาหาเพราะรู้ว่าผมไม่ค่อยชอบเรื่องแบบนี้ (ยึดอำนาจ) อยู่แล้ว

ตัดภาพไปที่กองบัญชาการทหารสูงสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ไม่ผลีผลามเข้าไป แต่ซุ่มดูระยะหนึ่งเขาตัดสินใจไปตั้งหลักที่ สตช.

“ถ้าไปพบวันนั้นก็ถูกจับไปด้วย หรือถูกมองว่าเป็นฝ่ายไหน จึงตัดสินใจไม่เข้าไป”

“คืนนั้นเขาก็ยึดอำนาจต่าง ๆ ไป เราก็ไม่เกี่ยวข้องด้วย”

แม้ไม่เกี่ยวข้องในค่ำคืนยึดอำนาจ แต่ผ่านไปราว 4 เดือน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นรักษาราชการแทน ผบ.ตร. เพราะ คมช.เด้ง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.เข้ากรุทำเนียบ แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ถูกตั้งให้เป็น คมช.

“เป็นสมาชิก คมช. เป็นไปตามรูปแบบที่จำเป็นต้องตั้ง เพราะรักษาราชการ ผบ.ตร.ก็คือ ผบ.ตร.นั่นแหละ เพราะถ้าเราคุมตำรวจทั้งประเทศ แล้วไม่ได้ประชุมก็ขาดเรื่องความมั่นคงไป จึงจำเป็นต้องตั้ง ไม่มีอะไรแอบแฝง”

ประยุทธ์ – สุรยุทธ์

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เทียบ 2 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ – พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า ท่านสุรยุทธ์ ท่านเป็นองคมนตรี และได้รับการเชิญมา ไม่ได้หวังที่จะเป็นนายกฯ หรอก พี่สนธิไม่กล้าจะเป็นเอง พอมาเป็นก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างดี ท่านจะไม่ค่อยพูดหรอก ไม่เหมือน พล.อ.ประยุทธ์ พูดไม่หยุด ท่านสุรยุทธ์ สุภาพ ให้เกียรติ ไม่เคยแทรกแซงการทำงานเลย ไม่ว่าจะบริหารงานบุคคลใดๆ ไม่มีนายกฯ สั่งมาจะเอาอย่างนู้นอย่างนี้

ไม่เหมือนสมัยนี้ นายกฯ มาควบคุม บิ๊กป้อม (พล.อ.ประวิตร) มาเปลี่ยนระบบหมด มันพัง ทำแบบทหาร ตอนนี้ตั้งยศอวยยศกัน ตั้งเป็นผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เหมือนกองทัพบก ซึ่งคนพวกนี้ไม่มีแม้กระทั่งห้องทำงาน โต๊ะทำงาน ก็ไม่ได้ทำงาน ยศเกร่อ ยศเฟ้อไปหมด

พล.อ.ประยุทธ์ ก็เห็นไหม… บ้าอำนาจ ไม่รู้จักพอ ท่านสุรยุทธ์เป็นนายกฯได้ปีเศษๆ พอ 2540 จัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์คิดอยู่ยาว

7 ปีประยุทธ์ ไม่สะเด็ดน้ำ

“พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” วิเคราะห์สมมุติฐานที่ว่าการยึดอำนาจอีกครั้งปี 2557 เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คืนอำนาจเร็วเกินไป ทำให้รัฐประหารไม่สะเด็ดน้ำว่า “ท่านสุรยุทธ์ปล่อยให้ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จิตใจของท่านเป็นประชาธิปไตยแค่ปีกว่า ๆ ก็ให้มีการเลือกตั้งแล้ว ใครจะเป็นนายกฯให้เป็นเรื่องของประชาชน”

“ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแล้วต้องเป็นให้นาน สะเด็ดน้ำ บ้านเมืองจะได้สงบเรียบร้อยเจริญเติบโต 6-7 ปีแล้วเป็นอย่างไร บ้านเมืองมีแต่เลวลง หนี้ครัวเรือนก็มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็สูงขึ้น แล้วจะบอกว่าอยู่ให้สะเด็ดน้ำ…ไม่ได้หรอก”

หรือเป็นเพราะ 3 ป.วางฐานกำลังไว้แข็งแกร่ง ถึงได้อยู่ได้ยาวกว่ายุค คมช.? “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” กล่าวว่า ทหารเขาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันนะ ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรเสียหมด พล.อ.ประยุทธ์จะเอาใครเป็น ผบ.ทบ.ก็ต้องถีบคนอื่นไป คนอื่นที่ไปจะพอใจหรือไม่พอใจหรอก เพียงแต่เขาคุมอำนาจอยู่

และ พล.อ.ประวิตรก็คุมฐานอำนาจมาตั้งนาน เพียงแต่ไม่มีโอกาสเป็นนายกฯ การยึดอำนาจปี 2549 เขาไม่เอาแก (พล.อ.ประวิตร) ด้วยซ้ำไป ทั้งที่เตรียมทหาร 6 รุ่นเดียวกัน โอกาสจึงมาอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น ถ้าเขาไม่ยึดก็เลยเวลาเขาเพราะจะเกษียณกันยายน 2557 สุดท้ายจึงตัดสินใจทำ

มองความขัดแย้ง 3 ป.

มองเห็นจุดล่มสลายของ 3 ป.หรือไม่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” กล่าวว่า ใกล้แล้วแหละ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจมา เคารพบูชา พล.อ.ประวิตรน่าดู เป็นลูกพี่ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ดูแลให้เจริญก้าวหน้ามา แต่ผ่านมา 6-7 ปีอาจจะเห็น พล.อ.ประวิตรเป็นลูกน้องไปแล้วก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เห็น พล.อ.ประวิตรเหมือนเดิมหรอก เดินก็เดินไม่ไหวแล้ว ยังไม่พักเสียที อยู่เพื่อช่วยกันค้ำบัลลังก์ตัวเองเท่านั้น

ตอนนี้ก็ทะเลาะเบาะแว้งกันแล้วนี่ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการซื้อเสียงล้มกันอะไรต่าง ๆ ข่าวที่รู้กัน พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยเห็น ส.ส.ในพรรคและ ส.ส.ในพรรคก็มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชานะ ไม่เคยดูแล ส.ส.จะมาให้ ส.ส.สนับสนุน จะสนับสนุนไปทำไม

เหตุใด “พล.อ.ประยุทธ์” ช่วงนี้ถูกท้าทายอำนาจมากที่สุดช่วงนี้ ? เขาตอบว่า อ้าว…อยู่นานความชั่วก็เริ่มปรากฏ ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ

เมื่อถามถึงจุดแข็งในตัว “พล.อ.ประวิตร” ที่ยังอยู่คืออะไร ? เขาตอบว่า แกเป็นคนหาเงินและเป็นคนใช้เงิน พลังประชารัฐต้องจ่ายเงิน ส.ส.คนละ 2 แสนต่อเดือนต่อคน พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พูดเองว่าจะตัดเงินเดือน ส.ส. และพรรคเสียงเดียวก็สองแสน ดึงไปเลี้ยงพรรคอื่นอีก เพื่อหวังผลอนาคตใครจะมากับกูก็จ่ายให้

ถามว่าประเทศไทยยังมีโอกาสเกิดรัฐประหารอีกไหม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตอบว่า หัวเราะ หึหึ แล้วตอบว่า น้อง…เขาคิดตลอดเวลาตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้ว เขาสอนกันมา แต่จังหวะจะให้ไม่ให้อีกเรื่องหนึ่ง

ถามว่าจะเกิดไหม…ถ้าจบ พล.อ.ประยุทธ์ไป ต้องหาคนที่มาแก้พระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม 2551 ให้ได้ เพราะมีคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายคือ รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหม ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ปลัดกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมืองมีแค่ 2 เสียง เท่ากับว่านายกฯไม่มีอำนาจกับทหารเลย การเมืองก็แพ้

เอาไว้ให้ผมจัดการก็แล้วกันนะ…