ครม. เตรียมร่าง พ.ร.บ. คุมกิจกรรม แหล่งทุน NGOs

ครม.เคาะแนวทางยกร่าง พ.ร.บ.NGOs 11 ข้อ เปิดเผยแหล่งที่มาของเงินจากต่างประเทศ ห้ามทำกิจกรรมที่กระทบความมั่นคงแห่งรัฐ-สร้างความแตกแยกของสังคม ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา

วันที่ 4 มกราคม 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. เสนอโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2)

และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (มติ ครม. 23 ก.พ. 64) และหลักการในข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปรับปรามก่อนการฟอกเงิน จำนวน 8 ประเด็น (มติ ครม. 29 มิ.ย. 64) โดยต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา 78 มาตรา 42 และมาตรา 25

ดังนั้น สาระโดยรวมของร่างพระราชบัญญัติจึงมุ่งเน้นที่การส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและกำหนดกลไกการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นภาระแก่องค์กรฯ เกินสมควร และเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

สาระสำคัญของแนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติมีดังนี้

1.องค์กรไม่แสวงหากำไร หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใด ๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงาน เพื่อจะทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมโดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมการรวมกลุ่มของคณะบุคคล เพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราวหรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะ เพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้นหรือพรรคการเมือง

2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

3.กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยเฉพาะ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเฉพาะนั้นแล้วให้อยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย

4.กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรฯ เช่น การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรฯ

5.สิทธิ์ที่ประโยชน์ขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่จะได้รับ 1) การสนับสนุนเงินทุน 2 )องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุนอาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนด

6.กำหนดข้อห้ามดำเนินการ เช่น 1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ 2)กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม 3)เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย

7.องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศต้อง 1)แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ 2)ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งต่อนายทะเบียน (ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ)

8.องค์กรไม่แสวงหากำไร มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อขององค์กร วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน และรายชื่อผู้รับผิดชอบการดำเนินงานให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย วิธีการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด วิธีที่สามารถกระทำได้โดยสะดวก

9.กรณีที่องค์กรต้องเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้วตามกฎหมายเฉพาะ ให้ถือว่าได้ทำการเปิดเผยข้อมูลแล้ว

10.กรณีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนแจ้งเตือน หรือหยุดการดำเนินการที่ฝ่าฝืนข้อห้าม หากยังไม่ดำเนินการในระยะเวลาที่กำหนดหรือยังคงฝ่าฝืนข้อห้ามต่อไป ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งให้องค์กรนั้นหยุดการดำเนินกิจกรรมหรือยุติการดำเนินงานได้ แล้วแต่กรณี

11.หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียน องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องรับโทษปรับทางอาญา และผู้รับผิดชอบดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรต้องรับโทษเช่นเดียวกัน