ทัศนะเก็บภาษีคริปโท กรณ์-ปริญญ์ ประสานเสียง ไม่เห็นด้วย

กระดานคริปโตฯไทย ลือหักภาษีจากกำไร 15% นักเทรดว่าอย่างไรบ้าง
ภาพจาก pixabay

2 มือเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ – พรรคกล้า ประสานเสียง ค้าน เก็บภาษีคริปโทฯ “กรณ์” ไม่เห็นด้วย เสีย ภาษีคริปโทฯ “สามเด้ง” แนะ กำไรส่วนแรก 1 แสน ไม่ต้องเสียภาษี “ปริญญ์” ยก 3 ข้อ ค้านสุดตัว สมองไหล-สตาร์อัพขนเงินลงทุนต่างประเทศ

วันที่ 12 มกราคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ว่า ไม่เห็นด้วย กับการเก็บ ‘ภาษีคริปโท’ จนกว่าสรรพากร จะตอบคำถามในกระบวนการอย่างชัดเจน ยุติธรรม และเป็นระบบเรื่องภาษี โดยเฉพาะภาษีจากโลกดิจิทัลละเอียดอ่อน ต้องลึกซึ้ง และรู้จริง

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า

ภาษีคริปโท เรื่องใหญ่ที่คนไทยต้องรู้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกรมสรรพากรประกาศวิธีการคำนวณภาษีคริปโทฯ โดยคิดกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายรายธุรกรรม (transactions) โดยไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบได้ โดยคำนวณจากเงินได้ (กำไร) แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องนำเงินได้ (กำไร) มารวมกับเงินได้อื่น ๆ พร้อมยื่นภาษีประจำปี ซึ่งแน่นอนว่ามีเสียงสะท้อนออกมาในด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ประกอบการ exchange หรือบรรดานักเทรดคริปโท

ก่อนที่จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องภาษีกำไร อีกเรื่องที่นักลงทุนคริปโทควรจะต้องมีคำถามกับทางสรรพากร (แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) คือประเด็นเกี่ยวกับการเก็บภาษี VAT เพราะสรรพากรเก็บ VAT เสมือนคริปโทเป็นสินค้า
เพราะฉะนั้น ‘จะเกิดการจ่าย VAT สองเด้ง’ หากเรารับชำระการขายสินค้าเป็นคริปโท เพราะนอกจากเสีย VAT ตอนขายสินค้าแล้ว เรายังต้องเสีย VAT จากการขายคริปโทเป็นบาทอีกด้วย

แม้แต่ผู้ลงทุน หากขายคริปโทเกิน 1.8 ล้านบาท ก็ต้องจด VAT และเสีย VAT โดยไม่สามารถเขียนใบเสร็จได้ เพราะเราขายคริปโทใน exchange เราไม่รู้ผู้ซื้อ นี่คือสาเหตุที่หลายประเทศได้แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกคริปโทออกจากระบบ VAT

แนะดูตัวอย่างจากต่างประเทศ

ดังนั้นกรมสรรพากรควรจะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอและศึกษาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศต่อไป โดยอาจจะดูตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการออกข้อกำหนดลักษณะนี้มาแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง capital gains tax, VAT/GST สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น

1. VAT/GST – สิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือบางประเทศใน EU กำหนดให้การขาย crypto currency, การใช้ crypto currency ในการซื้อสินค้าและบริการ, การจ่ายเงินเป็น crypto currency จะไม่ต้องเสีย VAT.
ในต่างประเทศมีการยอมรับให้ใช้ crypto currency โดยไม่เสีย VAT แต่ประเทศไทยเรื่องนี้ยังต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น มิเช่นนั้นอาจจะสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อขายสินค้าโดยใช้ crypto currency ก็เป็นได้

2.Capital Gains Tax (CGT) – หลายประเทศในเอเชีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิด CGT แต่อีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา มีการคิด CGT แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุน มาคำนวณเงินได้สุทธิก่อนยื่นภาษีได้

บางประเทศอนุญาตให้นำขาดทุนจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาหักจากเงินได้ที่มาจากการลงทุนในตัวสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้ประเภทอื่น ส่วนประเทศไทยเองก็สามารถคำนวณ CGT โดยใช้หลักเกณฑ์ลักษณะนี้ได้เหมือนกันเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

3.Tax-exempt – เกาหลีใต้ จะเก็บภาษีคริปโทในอัตรา 20% แต่จะยกเว้นภาษีจากกำไรส่วนแรกที่ไม่เกิน 2.5 ล้านวอน (แต่กฎเกณฑ์นี้ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยถึงปี 2023)

ยกเว้นภาษีกำไรส่วนแรก- 1 แสนบาทไม่ต้องเสียภาษี

ส่วนในประเทศไทย “ถ้า” หากกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้จริง อาจจะมีการพิจารณายกเว้นภาษีในส่วนแรก เช่นกำหนดให้กำไร 1 แสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษีก็สามารถทำได้ ผม “ไม่เห็นด้วย” ที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีส่วนนี้ จนกว่าจะมีคำตอบและความชัดเจนในทุกประเด็นที่กล่าวมา

รวมไปถึงความชัดเจนในวิธีการว่าจะสามารถบริหารจัดการให้การเก็บมีความยุติธรรมต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ มีระบบและเครื่องมือที่สามารถตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนในทางปฏิบัติ ?

ในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บ CGT ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำข้อตกลงกับทาง exchanges หรือ platforms ต่างๆเพื่อให้ส่งข้อมูลการซื้อขายกลับมายังรัฐบาล แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่เห็นมีมาตรการเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน

อย่างที่ได้กล่าวไปครับ รายละเอียดเยอะ ความซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจมีเยอะ เรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่รู้จริงมาถกหาทางออกร่วมกัน

ปริญญ์ชี้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15 % ทำไม่ได้จริง

ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐที่ผมพูดมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างเรื่องเว้นการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ วันนี้มันเริ่มร้อนแรงขึ้น แม้มันไม่ง่ายที่จะแก้ แต่ถ้าจะแก้มันก็ต้องแก้ อำนาจ รมว.คลังทำได้…และผมก็ได้พูดคุยเรื่องนี้กับ อธิบดีกรมสรรพากร ท่านก็ยินดีที่จะรับเรื่องไปพิจารณา อธิบดีฯ เข้าใจถึงปัญหาการจัดเก็บ และจะพยายามปรับแก้ให้มันเหมาะสมได้

โดยการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องนำกำไรส่วนต่างจากการถือครอง หรือ การโอน นำไปคิดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไรที่ได้ กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก โดยเฉพาะการคำนวณต้นทุน และการหัก ณ ที่จ่ายที่ไม่สามารถทำได้จริง

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์

ยก 3 ข้อ ยกเลิกเก็บภาษีคริปโท

นายปริญญ์เสนอให้รัฐบาล “ยกเลิกการจัดเก็บภาษีคริปโท” พร้อมเหตุผล 3 ข้อ ที่ได้เดินหน้าผลักดันมาตลอดหลายปีตั้งแต่ก่อนจะมี พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561 และได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเงินทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ ยืนยันจะเดินหน้าเข้าพูดคุยกับกระทรวงการคลังเพื่อหาทางออกให้เร็วที่สุด

“ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่ การยกเว้นการจัดเก็บ ซึ่งการยกเว้นการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เป็นอำนาจรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีคลังก็นำเสนอ ครม. ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งทำก่อนจะเกิดผลกระทบเสียหายมากไปกว่านี้”

เหตุผลข้อแรก การยกเลิกจัดเก็บภาษีคริปโท จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนในตลาด การที่รัฐบาลเก็บภาษีมันไม่ใช่แค่การนำรายได้เข้าสู่ภาครัฐ แต่มันเป็นการจัดเก็บเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การจะทำได้ก็ควรจะต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมือนกันกับที่สนับสนุนตลาดหลักทรัพย์มาตลอดกว่า 40 ปีในการที่ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษี Capital Gains

ดังนั้น มันก็ควรจะเกิดความเสมอภาค ทั้งต่อนักลงทุนหรือผู้ประกอบการที่ระดมทุนฝั่งตลาดหุ้นและฝั่งของผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยที่ระดมทุน หรือประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

จะทำอย่างไรให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนตัวใหญ่ บริษัทใหญ่ ๆ ที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นกับสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งคนที่เข้ามาลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี การจัดเก็บภาษีตัวนี้จะทำให้พวกเขาต้องเสีย 15% ,25% หรือ 35% ด้วยซ้ำตามแต่ฐานเงินได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อน

“ทำไมมันเขย่งกันขนาดนั้น ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่าอยากสนับสนุน เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ให้เติบโตได้ แต่คุณมาลงโทษเขาผ่านภาษีเหล่านี้…แทนที่จะคิดเก็บภาษีคริปโท รัฐควรจะคิดลดหย่อนภาษีให้อุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ด้วยซํ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ”

สมองไหล-สตาร์ทอัพขนเงินลงทุนต่างประเทศ

เหตุผลข้อที่ 2 ป้องกันคนเก่งสมองไหล และช่วยสนับสนุน GDP ประเทศ

นอกจากนี้ กฎหมายการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล “ในทางปฏิบัตินั้นทำได้ยาก” ทั้งรูปแบบการจัดเก็บ ,วิธีการคำนวณต้นทุนที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความกังวลและไม่กล้าที่จะลงทุน ประเทศไทยจะเสียโอกาสสร้างวัฎจักรอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ เพราะจะเกิดภาวะสมองไหลไปต่างประเทศได้

“ยกตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพเก่ง ๆ แทนที่จะระดมทุนในไทย เขาก็แค่เอาบริษัทไประดมทุนในต่างประเทศที่กฎหมายเอื้อต่อการระดมทุนมากกว่า หรือในแง่ของผู้ลงทุน แทนที่เขาจะอยากจ่ายภาษีเขาก็กลายเป็นเอาเงินไปลงทุนกับแพลตฟอร์มต่างชาติดีกว่า อย่างเช่น Binance หรือที่อื่น ๆ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้คนไทยสนับสนุนแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ได้

ทั้งนี้ วงการสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทยได้อย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ด้วย เนื่องจากสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรมได้จากเทคโนโลยีบล็อกเชน

“จะให้รายเล็กรายน้อยไปออกหุ้นกู้ หรือระดมทุนในตลาดหุ้น มันไม่ง่ายเลย นี่คือช่องทางเขา อย่าปิดช่องทางเขาด้วยภาษี หรือไล่บี้ด้วยกฎหมายที่พะรุง พะรังจนเกินควร”

ตลาด NFT แท้ง

เหตุผลข้อที่ 3 กฎหมายต้องมีไว้เพื่อการพัฒนา ไม่ใช่เพื่อควบคุมและลงโทษคนทำผิด

นอกจากเรื่อง กฎหมายภาษีคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว สำนักงาน ก.ล.ต.กำลังจะเข้ามาควบคุมตลาด NFT จึง “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” เนื่องจาก NFT ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการให้ความรู้กับประชาชนมากกว่าที่จะมาออกกฎหมายกำกับในขณะที่ตลาดยังไม่เติบโต เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นนวัตกรรม

“ภาครัฐไม่ควรที่จะทำตัวเป็นคุณพ่อแสนรู้ มันไม่เหมาะสมที่จะทำตัวเป็นนักกฎหมายยุคเก่า คิดแต่จะออกกฎหมายมาควบคุม มากจนเกินควร คุณต้องเปิดให้นวัตกรรมมันเติบโตไปก่อน เพราะยังไงกฎหมายก็ไม่มีทางตามทันอยู่แล้ว”

ต้องปล่อยให้ตลาดเติบโตได้เต็มที่ก่อน ภาครัฐค่อยเข้ามาควบคุมในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่การตัดสินใจกระโดดเข้ามากำกับควบคุมอย่างฉับพลัน เพียงเพราะเห็นว่าเกิดกระแสความนิยมในเทคโนโลยีนั้น ๆ อย่างมาก

การทำแบบนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในอดีต ยุคของ ICO ปี 2561 ที่กำลังเติบโต เอกชนเริ่มจะสนใจระดมทุนด้วยแนวทางนี้ ขณะนั้นภาครัฐก็ได้เร่งออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ที่สุดแล้วตลาดการระดมทุนแบบ ICO ก็ชะงักลง สตาร์ทอัพหันไประดมทุนในต่างประเทศแทน