เปิด 3 ทางล้างรัฐธรรมนูญ คสช. แก้ทั้งฉบับ-ตัดอำนาจ ส.ว.-ล้มบ้านใหญ่

เรื่องรอง

อาจกล่าวได้ว่าในช่วงกลางปี 2565 ถนนการเมืองเกือบทุกสายมุ่งไปสู่วาระการขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญ 2560

เป็นการลบ-ล้าง มรดกตกทอดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สายที่หนึ่ง การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย ในนามคณะรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา

“สมชัย” ปักหมุดเดินสายพบพรรคการเมืองทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน พรรคเกิดใหม่ ขอคะแนนเสียงเพื่อร่วมกันตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ หลังการเลือกตั้งรอบหน้า ไม่เว้นแม้แต่บุกถ้ำเสือไปกล่อม ส.ว.เจ้าของอำนาจให้มาร่วมลงชื่อ

โดยเปิดให้ลงชื่อจนถึงเมษายน 2565 ครบ 7 หมื่นชื่อเมื่อไหร่จะยื่นต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้บรรจุวาระการประชุมร่วมรัฐสภา

“เรามาเขียนรัฐธรรมนูญให้ 5 ปีแรก ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ แต่ปัจจุบันบริบทได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะในปี 2562 เราบอกว่าต้องการความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ และปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น สิ่งนี้จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นโอกาสดีที่เราเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเราทำสำเร็จน่าจะทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป”

สมชัยเชื่อว่า ส.ว.กอดอำนาจโหวตนายกฯไว้ก็ไม่เป็นผลดี “มองในเชิงประโยชน์ คิดว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์แม้กระทั่ง ส.ว. ถามว่าถ้ามีอำนาจเลือกนายกฯ ท่านได้อะไร ผมไม่คิดว่าท่านได้ประโยชน์ ท่านได้รับเสียงครหาจากประชาชน และอาจทำให้มีปัญหาในเรื่องความรู้สึกที่ไม่ดีจากประชาชนมากกว่า”

“แต่ถ้ามาสนับสนุนให้ลดอำนาจตัวเอง กลับจะได้เสียงยกย่องจากประชาชน และเอาภาระที่มีอยู่และไม่เป็นประโยชน์ออกจากตัวเอง ดังนั้น โอกาสสำเร็จเป็นไปได้ เพราะครั้งที่ผ่านมามีการเสนอหลายเรื่องรวมกันมากเกินไป อาจทำให้เกิดความลำบากใจในการลงมติ แต่ครั้งนี้เสนอเพียงเรื่องเดียว น่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย”

ตามปฏิทินการเมือง วาระแก้รัฐมนตรีของ “สมชัย” จะถูกนำไปพิจารณาในสมัยประชุมถัดไป ซึ่งจะเริ่มต้นหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

ระหว่างนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของ “สมชัยและพวก” ที่จะต้องสร้างกระแสการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 บีบให้ ส.ว.เจ้าของอำนาจยอมจำนนแก้รัฐธรรมนูญ

สายที่สอง การทำประชามติเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทย เตรียมจับมือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ชงญัตติประชามติรัฐธรรมนูญใหม่เข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อแทนราษฎร และที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี ให้จัดทำประชามติขอเสียงประชาชนให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า รอร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังแก้ไขอยู่ขณะนี้บังคับใช้ เมื่อมีการบังคับใช้ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องที่เห็นควรให้มีการลงประชามติผ่านรัฐสภาไปยังรัฐบาล ถ้าข้อบังคับเสร็จเร็วก็สามารถยื่นภายในสมัยประชุมนี้ได้ทันที และเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังบุคคลภายนอกเพื่อให้เคลื่อนไหวการแก้รัฐธรรมนูญ

ถ้าไม่ทันก็จะไปถึงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งจะตรงกับกลุ่มผู้ริเริ่มเชิญชวนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่มี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เตรียมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาในเวลานั้นพอดี

เหตุที่ต้องยื่นในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากสมัยประชุมปัจจุบันรัฐสภาได้ตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ resolution ที่มีหลักการแก้ไขมาตรา 272 ไปแล้ว ดังนั้น ต้องยื่นเป็นสมัยประชุมใหม่หลัง 22 พฤษภาคม 2565

ทว่าเส้นทางนี้ โอกาสสำเร็จอาจจะ “หืดขึ้นคอ” เพราะต้องได้รับการเห็นชอบจาก ส.ส. และ ส.ว. เพื่อส่งคำขอทำประชามติไปให้คณะรัฐมนตรี และนายกฯตัดสินใจ แต่เรื่องไม่มีมาตรการ “บังคับ” ทางกฎหมาย ต้องใช้สังคมกดดันเท่านั้น

สายที่สาม คณะก้าวหน้า ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นประธาน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นเลขาธิการ จับมือกับพรรคการเมืองคู่ขนาน คือ “พรรคก้าวไกล” เตรียมผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่อง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

“ปิยบุตร” ผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ฉายไอเดียนี้ว่า เนื่องจากการกระจายอำนาจของรัฐบาล คสช.ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่การกระจายอำนาจที่ถูกต้อง

วิธีคิดของ คสช.มองการกระจายอำนาจในลักษณะที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสินใจเป็นหลัก มีการเลือกตั้งนายกท้องถิ่นก็จริง แต่นายกฯกลับไม่มีอำนาจทำอะไรเลย แต่การกระจายอำนาจแบบที่ตั้งใจทำตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ คือ การกระจายงาน เงิน คน ไปไว้ที่ท้องถิ่น เพื่อให้วันหนึ่งเราจะเดินทางไปถึงการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ไม่ต้องมีผู้ว่าฯจังหวัด นายอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด อะไรแบบนี้เลิกทั้งหมด โดยจะเป็นส่วนกลางแล้วไปท้องถิ่นเลยเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ

จะมีการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี’60 หมวด 14 เรื่อง การปกครองท้องถิ่นที่เขียนเรื่องการกระจายอำนาจแบบถอยหลังเข้าคลอง เราต้องการเอาหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญปี’40 เรื่อง การปกครองท้องถิ่นที่เขียนไว้ดีพอสมควรกลับมาใหม่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 40 พลัส

โดยพลัสเข้าไปอีก 2 เรื่อง คือ พลัสแรก ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องเลิกราชการส่วนภูมิภาค และพลัสสอง ใช้หลักการอำนาจเป็นของท้องถิ่นเป็นหลัก เว้นแต่กฎหมายกำหนดเป็นอย่างอื่น หรือท้องถิ่นไม่มีศักยภาพทำ ส่วนกลางจึงค่อยเข้ามาช่วย

“หากเราทำสำเร็จ ประเทศไทยจะกลับหัวกลับหางเลย ศักยภาพของท้องถิ่นจะขึ้นมาหมด และจะเขย่าโครงสร้างของรัฐไทย เพราะที่ผ่านมาเอาผู้ว่าฯไปนั่งคร่อม อบจ. เอาศึกษาธิการจังหวัดไปนั่งคร่อมโรงเรียนของ อบจ. ผมจะเอาที่ครอบนี้ออก นี่คือการรวมพลังของผู้บริหารท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่ง คุณอาจไม่ชอบพวกผมก็ได้ แต่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ”

ปิยบุตร-ธนาธร เตรียมใส่สูทเข้าสภาไปชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา

เป้าหมายสูงสุด รื้อการผูกขาดอำนาจรัฐจากส่วนกลาง ล้างตระกูลการเมืองบ้านใหญ่


แม้ว่ากระแสการเมืองเรื่องเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 จังหวัด อันประกอบด้วย ชุมพร สงขลา และ กทม.จะกลบกิจกรรมการเมืองอื่น ๆ แทบมิด แต่ถัดจากนี้ไปวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-มรดก คสช.จะร้อนยิ่งกว่าร้อน