นายกฯ ยังไม่ยุบสภา ขับธรรมนัสและพวก ขัดแย้งร้ายแรง อยู่ร่วม พปชร.ไม่ได้

นายกฯ ยังไม่ยุบสภา ขับธรรมนัสและพวก ขัดแย้งร้ายแรง อยู่ร่วม พปชร.ไม่ได้

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” แถลง นายกฯ ยังไม่ยุบสภา มติ กก.บห.- ส.ส.พลังประชารัฐ ขับกลุ่ม ส.ส. ธรรมนัส พ้นพรรค เหตุเสนอปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ กระทบเสถียรภาพพรรค เป็นเรื่องร้ายแรง

วันที่ 20 มกราคม 2565 ที่อาคารรัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่าวานนี้ 19 มกราคม 2565 มีการเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรค ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค รวมกับ ส.ส.ในกลุ่ม ไปเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคอย่างขนานใหญ่

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร เห็นว่าประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวจะสร้างปัญหามาก เกรงจะเกิดความขัดแย้งกันครั้งใหญ่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค ที่เป็น ส.ส. ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคได้ประชุมเรื่องที่ ร.อ.ธรรมนัส และคณะเรียกร้อง เห็นว่าเป็นเรื่องที่พรรคไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ต้องการ เพราะหากดำเนินการไปจะทำให้เกิดความเสียหายของพรรคทั้งหมด

เพื่อรักษาหลักการของพรรค เรื่องเอกภาพ ความมีเสถียรภาพ หลักการ อุดมการณ์ของพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นว่ารับไม่ได้ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันอยู่แล้วว่า ถ้าไม่รับข้อเสนอจะมีปัญหาในการบริหารพรรคแน่ จึงทำให้พรรคเห็นว่า เป็นเหตุที่ร้ายแรงที่กระทบกับเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพของพรรค

นายไพบูลย์กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นว่า เข้าข้อบังคับ 54 (5) มีมติผู้เรียกร้อง นำโดย ร.อ.ธรรมนัส รวม 21 ท่าน พ้นจากพรรค เพื่อรักษาส่วนใหญ่อีก 100 คน เพื่อขับเคลื่อนตามอุดมการณ์ของพรรค เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรค มีการประชุม 17 คน ประชุมร่วมกับ ส.ส. ที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคร่วมประชุม 61 คน รวม 78 คน

สำหรับข้อบังคับ 54 (5) พรรคการเมืองมีมติให้ออก กรณีมีเหตุร้ายแรงอื่น เรื่องความมั่นคง เสถียรภาพ ของพรรคที่จำเป็นต้องรักษาไว้ ดังนั้น การสิ้นสุดลงมาตราดังกล่าว หากสมาชิกเป็น ส.ส.กว่า 3 ใน 4 ที่ประชุมร่วมได้มีมติเห็นชอบให้สมาชิก 21 คน ที่เป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค ได้คะแนนเสียง 63 เสียง เกิน 3 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมประชุมที่ต้องมีเสียง 59 คน เมื่อมีมติให้สมาชิกพรรคทั้ง 21 คน พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค

ขั้นตอนต่อไปจะนำเอกสารไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ทั้งนี้ ทั้ง 21 คน ยังเป็น ส.ส. แต่ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญ 101(9)

ส่วนสาเหตุความขัดแย้งภายในนั้น ร.อ.ธรรมนัส ได้เรียกร้องในเรื่องที่ทางพรรคไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ให้ปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ส่วนเรื่องดังกล่าวไม่สำคัญ แต่โยงเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ถ้าไม่ปรับก็จะเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้เกิดความเสียหาย

“การปรับโครงสร้างพรรคเป็นเรื่องร้ายแรง ถ้าปรับกระทบทั้งหมด ท่านบอกว่าถ้าไม่ได้ก็ไม่ยอม ดังนั้น เป็นความขัดแย้ง กระทบต่อความเสียหาย กระทบเสถียรภาพความมั่นคงของพรรคทั้งระบบ ถือว่าร้ายแรงแล้ว ไม่ใช่เรื่องจุดแตกหักเสียทีเดียว แต่เป็นจุดที่พรรคต้องตัดสินใจ ทั้งหมดเป็นเรื่องในพรรค ไม่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ท่านไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นความขัดแย้ง เราพยายามแก้ไขแล้ว แต่เมื่อแก้ไม่ได้การที่เรามีมติตามข้อบังคับพรรค เรามั่นใจในสปีริตของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 100 กว่าคน ร่วมออกเสียงเป็นร้อย ท่านก็ยังปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เหมือนเดิม ในสภาก็ยังสะกดชื่อเป็นพรรคพลังประชารัฐอยู่ ส่วนการทำงานต่อร่วมกันได้หรือไม่นั้น ไว้ถาม ร.อ.ธรรมนัส ทั้งนี้ ทำงานร่วมกันในพรรคไม่ได้ แต่ทำงานร่วมในสภาได้

ขณะนี้พรรคเหลือ ส.ส.ประมาณ 100 คน แต่จะมีกี่ร้อยคนไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่มีเอกภาพ มีความขัดแย้งภายในพรรค มันอ่อนแอทั้งสิ้น ดังนั้น จำนวนไม่สำคัญเท่ากับการมีเอกภาพ ความมีเสถียรภาพ ความมีสามัคคีของคนในพรรค

“การแก้ไขครั้งนี้เป็นประโยชน์กับพรรคพลังประชารัฐ เป็นการแก้ไขการที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคที่มองว่ามีปัญหามาก มีความขัดแย้ง เรื่องแกนนำคนสำคัญระดับสูงก็จะจบไป…จบไปอย่างแน่นอน และจะไม่เกิดปัญหานี้อีกแล้ว พรรคจะมีเอกภาพ ผมเชื่อมั่น จากนี้ไปจบ จบจริง ๆ พรรคพลังประชารัฐจะเป็นสถาบัน ให้ดูตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” นายไพบูลย์กล่าว

เมื่อถามว่าไว้ใจว่ากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่า การยกมือโหวตในสภา ยังสนับสนุนรัฐบาลอยู่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ก็ให้ติดตามดูต่อไป ส่วนใครเหมาะสมนั่งเลขาธิการพรรคนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า ตำแหน่งยังว่างลง หัวหน้าพรรคต้องตั้งคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน แต่ตอนนี้ยังไม่มี

เมื่อถามว่าปัจจัยของ ร.อ.ธรรมนัส จะส่งผลทำให้ยุบสภาหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ผมยังไม่เห็นประเด็นที่จะยุบสภาเลย ไม่เกี่ยว อยู่ที่ลายเซ็นนายกฯ ถ้าท่านไม่เซ็นจะยุบได้อย่างไร

สำหรับ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค 21 คน ได้แก่ 1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 2.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส. ตาก 4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 5.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 6.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 8.นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 9.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์

10.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 11.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 12.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 14.นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 16.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 17.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 18.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 20.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา และ 21.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี