#สมรสเท่าเทียม “ไอติม” ชี้เป็นสิทธิพื้นฐาน คู่รักทุกคู่-ทุกเพศ สมควรได้รับ

#สมรสเท่าเทียม

ไอติม พริษฐ์ ชี้สมรสเท่าเทียม เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเพศไหน พึงได้รับอย่างถ้วนหน้า เป็นการเปิดประตูไปสู่สิทธิอีกหลายประการ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสถานะทางเศรษฐกิจ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ หนึ่งในแกนนำ Re-Solution ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu เรื่อง #สมรสเท่าเทียม: สิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอย่างถ้วนหน้า ระบุว่า

หากมองจากภายนอก ประเทศไทยดูผิวเผินเหมือนจะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตหรือเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

แต่ปัจจุบัน กลุ่มเพศหลากหลายยังต้องเผชิญกับหลายอุปสรรคทั้งด้านกฎหมายและด้านสังคม ที่ทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิหรือการปฏิบัติที่เท่าเทียมและเสมอภาคอย่างแท้จริง

หนึ่งในนั้นคือ สิทธิสมรสเท่าเทียม ที่คู่รักทุกคู่ – ไม่ว่าเพศไหน – สมควรได้รับ

การสมรสไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ของความรักระหว่างคู่รักที่รัฐรับรอง แต่เป็นการเปิดประตูไปสู่สิทธิอีกหลายประการ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสถานะทางเศรษฐกิจของคู่รักโดยตรง (เช่น สิทธิรับมรดก สิทธิกู้ร่วม สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิลดหย่อนภาษี)

วันนี้ ข้อเสนอ สมรสเท่าเทียม หรือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลตั้งแต่ปี 2563 จะได้รับการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยร่างฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับร่างสมรสเท่าเทียมที่รณรงค์โดยภาคประชาชนเมื่อปลายปี 2564 (ปัจจุบันมีประชาชนร่วมลงชื่อมากกว่า 280,000 คน ที่เว็บไซต์ https://www.support1448.org/)

คือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 และมาตราอื่น ๆ ที่ตามมา เพื่อเปลี่ยนนิยามของ “การสมรส” จากสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง “ชายและหญิง” เป็น “บุคคล 2 คน” เพื่อให้ทุกคู่สมรส – ไม่ว่าเพศใด – ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมดทันที

แม้บางกลุ่มพยายามเสนอแนวทางอื่น โดยการตรากฎหมายเฉพาะ (เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต) เพื่อระบุสิทธิของของกลุ่มเพศหลากหลายที่จะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน แต่ผมเห็นว่าแนวทางการแก้ไขนิยามของ “การสมรส” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกลในสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ เป็นแนวทางที่เร็วกว่า เรียบง่ายกว่าในเชิงกฎหมาย และเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และตรงกับค่านิยมเรื่องความเสมอภาค ซึ่งเป็นหัวใจหลักของข้อเสนอสมรสเท่าเทียม

เพราะในขณะที่แนวทางอย่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีความเสี่ยงที่จะเป็นการตอกย้ำแนวคิดที่เปรียบเสมือนการมองกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นคนอีกกลุ่ม แต่ข้อเสนอสมรสเท่าเทียม เป็นการร่วมกันยืนยันว่า “สิทธิสมรส” ไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ที่กลุ่มเพศหลากหลายเรียกร้อง แต่เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอย่างถ้วนหน้า การผลักดันเรื่องนี้ จึงต้องมองให้กว้างกว่าแค่ประเด็นทางกฎหมาย แต่มองในเชิงสัญลักษณ์ ว่านี่คือหมุดหมายสำคัญสะท้อนเรื่องความเสมอภาคของคนทุกกลุ่มและความก้าวหน้าของสังคม

หลายคนในประเทศ อาจจะภูมิใจว่าประเทศเราเป็นผู้นำระดับโลกในการผลิตและส่งออกซีรีส์วาย (ซีรีส์ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของเพศชายสองคน) ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศกว่า 1,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)

แต่ผมคิดว่าจะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจยิ่งกว่า หากประเทศเราจะเป็นผู้นำระดับโลกเรื่องความเสมอภาคทางเพศ และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่รับรองสมรสเท่าเทียมสำหรับคู่รักทุกเพศ เพื่อให้ทุกคู่รักที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศในชีวิตจริง ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

ในระยะสั้น ผมหวังว่า ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะร่วมกันโหวตเห็นชอบกับข้อเสนอสมรสเท่าเทียม ในวันนี้

แต่ในระยะยาว ผมคิดว่าชัยชนะที่แท้จริงของเรื่องนี้ คือวันที่สังคมไทยอาจไม่มีความจำเป็นต้องพูดถึงสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกต่อไป เพราะทุกเพศจะมีโอกาสในการมีส่วนร่วมและถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยแท้จริง

บางขุนเทียน แจ้งสมรสเพศเดียวกัน 14 ก.พ.

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานเขตบางขุนเทียน ประกาศว่า คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถบันทึกจดแจ้งได้ ภายใต้กิจกรรม “บางขุนเทียน แสงเทียนแห่งรัก”

สำนักงานเขตบางขุนเทียนระบุเพิ่มเติมว่า การบันทึกจดแจ้งดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เขตบางขุนเทียนนำร่องส่งเสริมการสมรสคู่รัก LGBTQ+ ในวันวาเลนไทน์ ยังไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด

ผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมได้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ณ เดอะไบรท์ พระรามที่ 2 เวลา 08.00-12.00 น. ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว คู่สมรสสามารถมาจดแจ้งที่เขตได้

ศาลวินิจฉัย สมรสชายหญิงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้

(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1148 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 30/2563)

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสอง (นางสาวพวงเพชร เหงคำ ที่ 1 และนางเพิ่มศัพท์ แซ่อึ๊ง ที่ 2) ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 1056/2563 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (กรณีขอจดทะเบียนสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศ) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 และมาตรา 27 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในส่วนนี้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป