รัสเซีย-ยูเครน: จุดยืนไทย ไม่เลือกข้างดีสุด ดอน ชี้ มีความพยายามให้ยืดเยื้อ

ดอน เผย จับตายูเอ็นถก ปัญหารัสเซีย-ยูเครน ลุ้นเป็น จุดเริ่มต้นของจุดจบ จุดยืนไทย ไม่เลือกข้างดีที่สุด ยืดเยื้อกระทบทุกฝ่าย ชี้ มีความพยายามให้ยืดเยื้อ เพื่อประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน และมาตรการรองรับในด้านต่าง ๆ ของไทย ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ว่า

ในส่วนของกระทรวงต่างประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางยุโรปย่อมกระทบทุกมุมโลก โดยเฉพาะถ้ายืดเยื้อไป ที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปหลายอย่าง แต่อาจะไม่ได้ออกมาพูด เพราะที่พูดกันในสื่อ นักวิชาการ โดยใครต่อใครมีความรู้ดี ได้ให้ข้อมูลกับประชาชนในระดับที่เหมาะสมแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลทำหลายเรื่องต้องมองอีกมุมหนึ่งว่า เราทำอะไรไปบ้าง ที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองแค่ไหน เพราะเป้าหมายเราอยู่ตรงนั้น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อประชาชน ทั้งระยะปัจจุบันและระยะยาว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุดคืออะไร สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบ นายดอนกล่าวว่า ถ้าพูดถึงผลกระทบมาจากความยืดเยื้อทั้งหลาย และไม่ใช่แค่คนไทย แต่ทุกชาติได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะหากสถานการณ์บานปลาย รับรู้กันอยู่

“ท่าทีของเราที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในสหประชาชาติหรือในแต่ละประเทศที่เราต้องดีลด้วย เราพยายามขอให้พูดจากัน หารือกันเพื่อหาทางออก ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นความปกติที่จำเป็น ที่ต้องมาเริ่ม เมื่อมีการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ดีที่สุด คือ หันหน้ามาพูดกัน

ซึ่งสิ่งที่เราดำเนินการ คือ มีแถลงการณ์ของประเทศไทยและมีแถลงการณ์ร่วมกับอาเซียน รวมถึงการคุยกับนานาประเทศ ตลอดจนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ”

เมื่อถามว่า ประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุดระดับใด นายดอนกล่าวว่า ทุกอย่างไม่มีคำตอบสุดท้าย เรารู้ว่า ความยืดเยื้อไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

“แต่มีความพยายามจะให้ยืดเยื้อเหมือนกัน เพื่อประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ในด้านยุทธวิธีเป็นอย่างนั้นจริง ๆ กับทุกเหตุการณ์ในอดีต เรามองเห็นทุกแง่มันในเรื่องเหล่านี้ แต่ ณ วันนี้ สิ่งที่เราเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีมากที่สุด คือ เรื่องที่เขาจะคุยกันระหว่างสองฝ่ายที่เมืองชายแดนระหว่างเบลารุสกับยูเครน”

เมื่อถามว่า รัฐบาลไทยมีแผนรองรับในทุกสถานการณ์ไม่ว่าผลการหารือจะออกมาเป็นอย่างไรว่ายืดเยื้อหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า จำเป็นต้องมี และต้องมองไปข้างหน้าให้ได้ว่า อะไรเป็นอะไร เราติดตาม

นายดอนกล่าวว่า ขณะที่แผนอพยพคนไทยมีอยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 1-2 มีนาคม 2565 จะมา 99 คน ผ่านมาทางวอซอร์ มาทางบูเคเรส และจะตามมาอีก แต่มีจำนวนหนึ่งที่ไม่พร้อมที่จะออกมาเพราะมีครอบครัวอยู่ที่ยูเครน ทุกมุม คนไทยก็ดี ด้านประโยชน์ของคนไทยก็ดี ในระยะยาว ในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ล้วนแล้วแต่อยู่ในสถานะถูกกระทบได้

“ถ้ายืดเยื้อ ลองจิตนาการดู การค้าก็น้อยลง การเดินทางท่องเที่ยวก็น้อยลง คนก็รีรอการลงทุน เป็นส่วนหนึ่งที่รับรู้กันได้ ถ้ายืดเยื้อเงินเฟ้อจะเกิดขึ้น อัตรางานราคาก็สูงขึ้น กระทบทุกด้าน ได้คุยกัน ไม่ต้องกังวลว่า รัฐบาลไม่ได้พูดคุย”

เมื่อถามว่า จะตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ก็มี ก็พูดกันอยู่ แต่ไม่ขอพูดกันในรายละเอียดว่า เราจะดูแลเรื่องนี้อย่างไร แต่ให้ความไว้วางใจว่า รับรู้ถึงปัญหาในทุกมุม มุมที่เกิดขึ้นในเวทีภายในประเทศเองยังพูดถึง ในภูมิภาคยังพูดถึง ในเวทีระหว่างประเทศก็พูดถึง ว่ามีมุมไหนที่กระทบบ้าง

เมื่อถามว่าท่าทีของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์เป็นอย่างไร นายดอนกล่าวว่า เราไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกนี้ เพราะเราต้องการความสงบ เพราะความสงบเท่านั้นที่ทำให้ประเทศสามารถพัฒนาตัวเองได้ เราโดนเรื่องของโควิด-19 มา 2 ปีกว่าแล้ว ระหว่างที่โดนโควิดเราก็บอบช้ำทางเศรษฐกิจไปทั่ว

“ลองจินตนาการ ถ้ามีโควิดแล้วยังมีเรื่องของการเมือง ความขัดแย้งมากระทบ มันซ้ำสอง มันทวีคูณ แทนที่เราจะสามารถฟื้น โดยหวังว่าโควิดจะเบาบางลงไปเราจะฟื้นตัว พัฒนาบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการค้าที่เพิ่มพูน เรื่องการลงทุนที่หวังว่าจะมีเกิดขึ้น หรือ นักท่องเที่ยวที่จะมากันจำนวนมาก ๆ มันก็ย่อมถูกเหตุการณ์เหล่านี้”

“มันโดนทั้งนั้น ทุกประเทศ มากบ้าง น้อยบ้าง ต่างกัน อยู่ที่ว่าเรารับมือกันได้แค่ไหนอย่างไร ในมุมที่เราคิดว่า เราอ่านสถานการณ์ออก และเรามีความพร้อมมากกว่าในด้านต่าง ๆ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันแล้ว และเราเชื่อว่าประชาชนเองต้องให้ความร่วมมือด้วย รัฐบาลทำไม่ได้โดยลำพัง”

นายดอนกล่าวว่า จุดยืนของไทยได้หารือกับประเทศอาเซียน โดยออกมาเป็นสเตทเม้นอาเซียนเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 65 ซึ่งใช้เวลามาก ไม่ใช่ว่าอยากจะเขียนอะไรก็เขียนได้ เพราะเป็นความคิดของคนหลากหลาย

“การเจรจาที่จะเกิดขึ้นจะเป็นจุดแรก และเราหวังว่าจะมีเชิงบวกออกมา แต่เราไม่สามารถไปปักใจได้ เพราะว่า ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน ฟังดูเหมือนทุกคนต้องการความสงบ ความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อประชาชน

อย่างที่เห็นในภาพข่าว ยังเห็นยังกันตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่า เบื้องหลังภาพที่เราเห็นกันอยู่มันจะออกมาด้วยวิธีการความคิดอย่างเดียวกัน เพราะด้านการเมืองระหว่างประเทศมีความซับซ้อนมาก ไม่ได้ดูกันแค่ภายนอก หรือ สิ่งที่เราเห็นโดยทั่ว ๆ ไป”

นายดอนกล่าวว่า เราหวังว่า นานาประเทศจะให้ความร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อให้เรื่องนี้ค่อย ๆ คลี่คลายลงและไม่บานปลาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำทั้งภายในและกรอบภูมิภาค หรือ ในเวทีระหว่างประเทศ เช่น คืนนี้จะมีการหารือกันในสหประชาชาติในเรื่องนี้ ซึ่งเราได้เตรียมตัวให้ผู้แทนของไทยได้แสดงท่าที แต่ไม่ใช่นั่งเฉย ๆ ต้องมีสิ่งที่นำมาบอกกล่าวกับเวลาระหว่างประเทศ ว่า

ที่ผ่านมาเราทำอะไรได้บ้าง และเรากำลังคาดหวังว่า ควรจะเกิดอะไรบ้าง และคาดหวังว่า จะได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศอะไรได้บ้าง เพราะอย่างน้อยที่สุดทำให้ผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในแต่ละจุด เบาบางกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเบาบางกว่าที่ควรจะเป็น ใช่ ถ้าไม่เป็น ยืดเยื้อไปนานเข้า ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบ

“ภายในประเทศเอง คนไทยต้องช่วยกัน มีความสามัคคี มีความเป็นปึกแผ่น เพราะเป็นจุดแข็งของประเทศ ประเทศไหนอ่อนแอก็เป็นเหยื่อได้อย่างง่ายได้ เพราะธรรมชาติมนุษย์ตั้งแต่โบราณกาล ยุค B.C.2000 ใครแข็งแรงกว่าจะครอบงำทันที และเป็นเช่นนั้นมาทุกยุคทุกสมัย ฉันใดฉันนั้น ต้องให้มีการรับรู้ว่า จุดนี้เป็นจุดสำคัญและจะต่อเนื่องไปในอนาคตข้างหน้า

อย่าไปคิดว่า ณ วันนี้ สถานการณ์ของโลกเป็นอย่างนี้ ต่างคนต่างอยู่ เศรษฐกิจเฟื่องฟู หรือ ปัญหาหลังโควิดจะเป็นอย่างงู้นอย่างงี้ มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป จึงอยากฝากไว้ว่า อย่างน้อยความสามัคคีในบ้านเราจำเป็นต้องมี ความแข็งแรงของบ้านเมืองจำเป็นต้องมี และความแข็งแรงของบ้านเมืองจะมีได้ก็ต้องเมื่อประชาชนต้องร่วมใจกัน มีความเป็นเอกภาพ และเป็นฐานของความแข็งแกร่งในสังคม”

เมื่อถามว่า หากสถานการณ์ในอนาคตไม่ดีขึ้นและจำเป็นต้องเลือกข้าง จะเลือกข้างไหน นายดอนกล่าวว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราดูสถานการณ์ที่เป็นจริง ณ วันนี้ ที่เป็นจริง ณ วันนี้ ไม่ต้องเลือกข้างได้ยิ่งดีที่สุด เพราะสถานการณ์จะสงบลงได้เร็ว

“เราต้องช่วยกัน ระหว่างคนไทยด้วยกัน วัยต่าง ๆ หรือ คนหนุ่มสาวทั่วโลกในอาเซียน ถ้าออกมาช่วยกันเรียกร้องให้เหตุการณ์ค่อย ๆ คลี่คลาย และคุยกันรู้เรื่อง เป็นประโยชน์อย่างแน่นอนต่อคนทุกเชื้อชาติ ทุกวัย และไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่ภายหน้าด้วย เพราะแต่ละประเทศสามารถใช้เวลา ใช้โอกาสในแง่ของการพัฒนาบ้านเมืองตัวเอง ฟื้นจากโควิด เพราะฉะนั้นไม่ฟื้น จะฟื้นได้อย่างไร เพราะว่า หลังโควิดแล้วมาเจอแบบนี้ โอกาสที่จะฟื้นตัวจากโควิด พัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวไม่ได้เกิดขึ้นเต็มที่ ต้องช่วยกันให้เรื่องคลี่คลาย เป็นประโยชน์ต่อเราทุกคน ทุกครอบครัว ทั้งทางตรงและทางอ้อม”

นายดอนกล่าวว่า หลายประเทศมีการคุยกันในโซเชียล หลายประเทศมีความรู้สึกเสมือนสะใจ เหมือนได้เห็นวีดิโอเกม แต่มันไม่ใช่ ชีวิตจริงไม่ใช่อย่างนี้ ชีวิตจริงต้องหาทางลดความขัดแย้งและทุกคนจะเดินหน้าต่อไปได้ ทุกครอบครัวสามารถฟื้นวิถีชีวิตของตัวเองได้ ต้องคำนึงอย่างนี้ นี่คือชีวิตจริงของพวกเรา

เมื่อถามว่า สถานการณ์จะเลวร้ายไปสู่การเกิดสงครามหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ไม่อยากพูดว่า จะเลวร้ายหรือไม่เลวร้าย แต่อยากฟังว่า การหารือวันนี้วันแรกที่จะเริ่มต้นนำไปสู่จุดเริ่มต้นของจุดจบได้หรือไม่

เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากน้อยแค่ไหน นายดอนกล่าวว่า ถ้าจบก็กระทบน้อย ถ้าไม่จบก็กระทบมาก

เมื่อถามว่า การตัดธนาคารรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจากระบบสวิฟต์ (Swift) จะส่งผลกระทบอย่างไร นายดอนกล่าวว่า เขาก็ต้องหาทางรับมือ เป็นเรื่องของการแซงชั่นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขกล่าวว่า การหารือวันนี้เป็นการหารือชุดเล็ก โดยรองนายกรัฐมนตรีที่รับชอบแต่ละคลัสเตอร์มาหารือ และในวันพรุ่งนี้ ( 1 มี.ค.65) จะนำมาหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง

รายงานข่าวในที่ประชุมแจ้งว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านความมั่นคงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลความเรียบร้อยยังสถานทูตยูเครน และสถานทูตรัสเซียในไทย