พลังประชารัฐ จัดทัพ แก้เกมล้มบิ๊กตู่ พรรคเศรษฐกิจไทยลุ้นปรับ ครม.

รอง

 

ทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาเดือนพฤษภาคม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะเดินเข้าสู่ “หลักประหารการเมือง” หน้าลานสัปปายะสภาสถาน แดนอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151-การพิจาณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566

2 เดือนก่อนเปิดสภา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 พรรคพลังประชารัฐ-พรรคแกนนำรัฐบาล จะเข้าสู่โหมดปรับทัพ-จัดขุมกำลังใหม่ ภายหลัง “คลื่นลมสงบ”

การปราชัยของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6-ชุมพร เขต 1 และความพ่ายแพ้ชนิดหมดรูปในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร เกิดเป็นแรงกระเพื่อมภายในพรรคอย่างหนักเกือบถึงขั้นแพแตก

เป็นการแพ้ 3 สนามรวด ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน จนเกิดวิวาทะท้าทาย-ท้ารบ วัดกระแสพรรค-กระแส พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับกระแสรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล

ที่มีแกนนำพรรคพลังประชารัฐยืนกันอยู่ในมุม

การ “ขับ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค-20 ส.ส.กลุ่มผู้กองธรรมนัส ออกจากพรรค นำไปสู่การ “ล้างไพ่” กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดเก่า

พ่วงเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ยื่นใบลาออกเมื่อ 4 มกราคม 2565 ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะไปกุมบังเหียนพรรคเศรษฐกิจไทย รอฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

นอกจากตำแหน่ง “แม่บ้านพรรคพลังประชารัฐ” ที่ว่างลงแล้ว เก้าอี้รองเลขาธิการพรรคยังต้องเฟ้นหามาเติมอีก 1 ตำแหน่ง หลังจาก “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร ที่เปรียบเสมือนเป็นมือขวา-เป็นเงาของ ร.อ.ธรรมนัส โบกมือลาบ้านเก่า-ไปร่วมวางแปลนบ้านใหม่ที่พรรคเศรษฐกิจไทย

รวมถึง “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์” อดีตนายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ-ขุนพลคู่คิดของ ร.อ.ธรรมนัสอีก 1 คน ซึ่งถือเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่มีบทบาทที่สุดในขณะนั้น

ขณะที่ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ที่ติดสอยห้อยตาม “ร.อ.ธรรมนัส” ไปออกงานตามต่างจังหวัดในช่วงที่ยังเป็น “คู่หู” ในพรรคพลังประชารัฐ ยังอยู่ช่วยงานหัวหน้าพรรค-พล.อ.ประวิตร ไม่ลาออกไปสมทบกับ ร.อ.ธรรมนัส เพื่อบุกเบิกพรรคเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด

มีเสียงลือ-เสียงเล่าอ้างว่า เหตุผลที่ “นฤมล” ไม่ลาออกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย นอกจากจะอยู่ช่วยงาน พล.อ.ประวิตรแล้ว ยังจะเป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเศรษฐกิจไทย ไม่ให้เกิดช่องว่าง

ทว่าแกนนำ-กลุ่มอำนาจนำใหม่ในพลังประชารัฐขณะนี้ กลับมองว่าเป็นหน่วยสอดแนมของ ร.อ.ธรรมนัส การยึดพรรค-กุมกำลังของ “รัฐมนตรีสายตรงตึกไทยคู่ฟ้า” จึงยังไม่ถึงกับเรียกว่าสะเด็ดน้ำ-เบ็ดเสร็จ

การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน ไม่เกินเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ ส.ส.ปิดสมัยประชุม ส.ส.ว่างเว้นงานสภา-ลงพื้นที่ ก่อนเข้าสู่ “เดือนมรณะ” ในช่วงพฤษภาคม

โดยมีวาระการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคที่ลาออกไป-ว่างลง ได้แก่ เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค นายทะเบียนพรรค และแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคเพิ่มเติม

คีย์แมนหลัก-สายตรง พล.อ.ประยุทธ์ จะขยับตำแหน่งรักษาการ-ขัดตาทัพ เข้าไลน์ตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกรรมการบริหารพรรค ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ตำแหน่งเลขาธิการพรรค นายสุชาติ ชมกลิ่น ผู้อำนวยการพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้จะคืนตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ให้กับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม-แกนนำสามมิตร เป็นการ “คืนความเป็นธรรม” หลังจากก่อนหน้าที่ถูกโยกไปให้ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์

และเป็นการจัดทัพเพื่อสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่ “สายตรงประยุทธ์” นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีควบที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีข่าวจะไปเป็น “หัวขบวน” พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังไม่มีการเคลื่อนไหว-ขยับตัว ยังคงเป็นสมาชิกพลังประชารัฐ

ส่วน “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ที่ พล.อ.ประวิตร “ชูชื่อ” ขึ้นมาเป็นบิ๊กเนม-ขุนพลเศรษฐกิจที่จะเข้ามาเสริมทัพพลังประชารัฐ เพื่อมาคิดนโยบายในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังไม่พบ “ใบสมัคร” ในระบบสมาชิกพรรค

“การสมัครเป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้บังคับให้สมัครกับนายทะเบียนพรรค สามารถสมัครกับเจ้าหน้าที่พรรคได้ เพื่อรวบรวมแสดงสถานะสมาชิกพรรคตามรอบบัญชี ไม่เหมือนกับการลาออกจากสมาชิกพรรค ต้องรีบแจ้งเพื่อรายงานต่อ กกต.” แหล่งกล่าวระดับสูงพลังประชารัฐระบุ

“พล.อ.ประวิตร” ลั่นวาจาไว้ว่า จะมี “บิ๊กเนม” เข้ามาร่วมชายคาพรรคพลังประชารัฐไม่ต่ำกว่า “ครึ่งร้อย” ไม่แน่ว่าในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรค จะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์”

ช่วงที่กระแสการเมืองสะวิงไป-สะวิงมา กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับยังลูกผีลูกคน เกิดปรากฏการณ์เข้า-ออก นักการเมืองเบอร์ใหญ่ย้ายพรรค-เบอร์เล็กหนีตาย

ฤดูการโยกย้ายของนักการเมืองจึงต้องรอจนกว่าฝุ่นหายตลบ จนเห็นหน้า-เห็นหลังการเมือง หลังกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ ประกาศใช้อย่างช้าที่สุดในเดือนกรกฎาคม

การจัดทัพใหม่ของพรรคพลังประชารัฐจึงมีเป้าประสงค์หลัก คือ ต่อต้านการปฏิวัติ-ล้ม พล.อ.ประยุทธ์กลางสภา ไม่ให้ตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน-หลังพิงฝา จนตกที่นั่งลำบาก-เพลี้ยงพล้ำในสภา ซ้ำรอยเหตุการณ์ “กบฏธรรมนัส” ภาคแรก

หากเปิดสภาในเดือนพฤษภาคม พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันที-หักดิบใช้งบฯปี’65 ไปพลางก่อน ในช่วง 2 เดือนก่อนเปิดสภา พล.อ.ประยุทธ์จะมีเพียงเครื่องมือเดียว คือ การยุบสภา


ในช่วง 2 เดือนมีนาคม-เมษายน จะเป็นการปรับทัพใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ บล็อกการ “ต่อรอง” เก้าอี้รัฐมนตรี-เมกะโปรเจ็กต์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล-พรรคอิสระอย่างพรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จะถูกปฏิวัติ-ล้มกลางสภา