วิเชียร ดีลเมกเกอร์ พลังประชารัฐ วาระรัฐบาลปีสุดท้าย ส.ส.ทุกเสียงมีค่า

วิเชียร ชวลิต
วิเชียร ชวลิต
สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

 

ข่าวลือล้มโต๊ะ-คว่ำร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.-ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง กลับหลังหันไปสู่การเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว”

ประสานเสียงขู่คำราม ในพรรคร่วมรัฐบาล ถึงการโหวต-ไม่โหวตให้กฎหมายสำคัญๆ ในสมัยประชุมหน้า

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วิเชียร ชวลิต” รองประธานวิปรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ ผู้เป็นพันธมิตรกับคนในพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ถึงการพิจารณากฎหมาย ในจังหวะที่สภาปริ่มน้ำ ล่มเกือบทุกวี่วัน

“วิเชียร ชวลิต” รองประธานวิปรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ
“วิเชียร ชวลิต” รองประธานวิปรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ

Q : กฎหมายลูกเสร็จเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคมเป็นไปได้หรือไม่

ตอบยาก เพราะ หนึ่ง แก้ไขหลายมาตรา สอง มีหลายฉบับ (10 ฉบับ) ไม่ใช่ง่าย ๆ คงลำบาก แต่ไม่เกิน 8 เดือน เร็วกว่าได้

Q : ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า จะถูกตีตกและกลับไปเลือกตั้งบัตรใบเดียว

เรื่องบัตรสองใบถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลูกจะไปฆ่า หรือไปเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ สมมุติว่า ถ้ากฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับไม่ผ่านเลย ก็ไม่มีหลักประกันว่า รัฐธรรมนูญจะแก้หรือไม่ ถ้าจะกลับจาก 2 ใบกลับไป 1 ก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็ก และไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ปัจจุบันทันด่วน หรือรวดเร็ว

“คราวที่แล้ว นับแต่มีการพูดกัน มีการเสนอ เป็นปีนะ กว่าจะได้แก้รัฐธรรมนูญ นี่เวลาเราเหลืออีก นับถอยหลังได้แล้ว สภาจะสิ้นสุดอายุขัย 4 ปี ภายในวันที่ 24 มีนาคม 2566 ตอนนี้นับถอยหลัง”

ด้วยกรอบเงื่อนเวลา ยากพอสมควร กว่าจะเปิดสมัยประชุมครั้งต่อไปปลายพฤษภาคม (วันที่ 22) จะเปิดสมัยประชุมที่หนึ่งของปีสุดท้าย ปีที่ 4 เวลาที่เหลือ 1 ปี ต้องแก้ทั้งรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ทั้งกฎหมายลูก ถ้าแก้กลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว ต้องไปแก้กฎหมายลูกอีก จะทำทันไหม ยุ่งยาก และมีข้อจำกัดพอสมควร

Q : มีประเด็นใดบ้างที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วย จนอาจทำให้ถูกตีตกในวาระ 3

กฎหมายลูกไม่เหมือนการพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงข้างมากในการประชุมรัฐสภารวมกันแล้วชนะ ถือว่าผ่าน ไม่เหมือนการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 เสียง ตอนนี้กึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 361 ถ้าได้เสียงถึงเกิน 361 เสียง ถือว่า ผ่าน อย่าเรียกว่า ไม่ต้องพึ่งเสียงของ ส.ว. ถือว่า เขาไม่ได้กำหนดเกณฑ์ว่า จะต้องมีเสียงมาจากฝ่ายไหน เสียง ส.ส.รัฐบาลเป็นปึกแผ่น ไปทางเดียว 100% มี 264 เสียง รวมพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียงด้วย

เราต้องเคารพในเสียงสมาชิกรัฐสภาทุกคน ระบบเสียงข้างมากในสภา ทุกเสียงมีความหมาย ไม่ได้แปลว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน

Q : อะไรทำให้เชื่อว่ากฎหมายลูกไม่ถูกคว่ำในวาระที่ 3

อย่าไปคิดในแง่ร้าย เพราะเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็น ต้องแก้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถ้าเราจะบอกไว้ว่า ไม่มีหรอก (เน้นเสียง) เหตุการณ์ยังไม่เกิด ไม่มีใครยืนยันได้ แต่ถ้าไม่ผ่านการพิจารณา หรือไม่ได้รับการประกาศออกมาใช้ มันก็จะมีอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง

Q : พรรคเล็กยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้กลับไปเลือกตั้งบัตรใบเดียว

เป็นการใช้สิทธิ โต้แย้งรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญถูกแก้แล้ว เรากำลังทำลูกของรัฐธรรมนูญ คนละเรื่องกัน ทางร้ายที่สุด รัฐธรรมนูญไม่ชอบ เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าตัดสินว่า รัฐธรรมนูญถูกต้องแล้ว ก็จบ

Q : รับมือการโหวต พ.ร.บ.งบประมาณ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไร

หนึ่ง เหตุการณ์ยังไม่เกิด สอง วิถีของการเมือง เมื่อเปิดสมัยประชุมก็ต้องมีวาระกฎหมายงบประมาณเข้า ส่วนเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นสิทธิของฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญ แต่จะยื่นหรือไม่ ไม่รู้ อย่าเพิ่งไปมองว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือจะรอด หรือไม่รอด ไม่มีใครตอบได้ ถ้ารัฐบาลเข้มแข็ง เสียงนิ่ง การทำงานไม่มีรอยด่างพร้อย ไม่มีประเด็น ก็ไม่รู้จะยื่นอะไร
ถ้าถามว่า รัฐบาลเสียงมั่นคงหรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า ปี’62 ตอนตั้งรัฐบาลใหม่ ๆ เสียงปริ่มน้ำกว่านี้เยอะ ตอนนี้ไม่ได้ปริ่มขนาดนั้น ตอนนี้เสียงรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านตั้งกว่า 40 เสียง ส่วนเสียงมั่นคงหรือไม่ ไม่มีใครได้ตอบหรอก มันต้องมีประเด็นทางการเมืองขึ้นมา มันถึงจะมาว่ากันเป็นครั้ง ๆ”

Q : ประเด็นทางการเมืองที่ยังไม่ถูกดึงฟืนออกจากไฟ เช่น พรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่

เป็น ๆ

Q : ต้องให้เก้าอี้รัฐมนตรีพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียงหรือไม่

เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ก็ว่าไปทางการเมือง

Q : ถ้าไม่ให้เก้าอี้รัฐมนตรีจะกระทบเสียงในสภา

ตอบยากนะ

Q : อาจยุบสภาก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียว

ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ถ้าไม่มีกฎหมายลูกก็เลือกตั้งยาก ถามอาจารย์วิษณุ (เครืองาม รองนายกฯ) ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน ถ้ายุบสภาแล้วจะเลือกตั้งอย่างไร ในขณะที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ

Q : เดินไปถึงทางตัน หากมีการยุบสภา

เรายังไม่รู้เลยว่ารัฐบาลจะยุบสภาหรือเปล่า ถ้ายุบก็จะมีปัญหาว่าเลือกตั้งไม่ได้ เท่านั้นเอง

Q : ประเมินจากฝ่ายค้านว่า เสถียรภาพรัฐบาลปั่นป่วน จะเป็นชนวนยุบสภา

ฝ่ายค้านเขาก็ต้องยุ บอกให้รัฐบาลปั่นป่วน หน้าที่เขา ถ้าเราฟังฝ่ายค้านอย่างเดียวก็เท่ากับรัฐบาลง่อนแง่นตลอดเวลา งานไม่มีปัญหาฝ่ายค้านก็ไปบอกว่า พวกคุณ (รัฐบาล) กำลังทะเลาะกัน ก็…เป็นกลยุทธ์การเมืองตื้น ๆ ธรรมดา ไม่มีอะไร

ถ้าเขามานั่งชมว่ารัฐบาลเข้มแข็ง คิดว่าฝ่ายค้านทำถูกไหมล่ะ..

Q : ประเด็นอะไรที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ

ตอนนี้ยังไม่มี กฎหมายสำคัญ ๆ ที่จะต้องเข้าเมื่อเปิดสภา คือ กฎหมายงบประมาณปี 2566 ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ยังไม่รู้ ต้องยื่นก่อนถึงว่ากัน

Q : ประสานอย่างไรไม่ให้กฎหมายงบประมาณโดนคว่ำกลางสภา

เราอยู่กันมาตั้ง 3 ปีแล้ว การที่จะทำให้งบประมาณผ่าน เรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องกังวล

Q : ที่ไม่กังวลเพราะงบประมาณผ่านสภา ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์

อย่าไปพูดอย่างนั้น งบประมาณเป็นกฎหมายที่การบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้งบประมาณไปดูแลประชาชน เรื่องนี้เป็นกระบวนการอยู่แล้ว อย่าไปเรียกว่าเอื้อประโยชน์

การคว่ำงบประมาณ คือ การล้มรัฐบาล เพราะถ้างบประมาณไม่ผ่าน รัฐบาลอยู่ไม่ได้ เป็นกระบวนการหนึ่งในการถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล ว่าอย่าทำอะไรตามอำเภอใจ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ฉันสามารถลงมติไม่ให้งบประมาณผ่าน นี่คือกลไกกำกับดูแล แต่ไม่ใช่จะทำให้ล้มรัฐบาลลงไป

Q : สภาล่มบ่อยสะท้อนเสถียรภาพเสียงรัฐบาลที่พร้อมจะสะวิงได้ตลอด

ฝ่ายค้านจะไม่ใช้เกมการล่มที่ประชุม โดยทำในวันที่ไม่ใช่วันพิจารณากฎหมาย

ยุคนี้พุธ-พฤหัสบดี ประชุมเต็มวัน วันศุกร์อีก เพิ่มอีก 1 วันครึ่ง หรือเพิ่มจากยุคก่อนกว่า 1 เท่า พอเพิ่มขึ้น ส.ส.ที่ติดพื้นที่ วันศุกร์เขาต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เขา

ดังนั้น เมื่อฝ่ายค้านใช้เกมนี้ มันก็ล่ม พอล่มก็โทษกัน จะให้ ส.ส.นั่งในสภา 3 วัน มันเกินกำลัง แล้วคำว่านั่ง ไม่ใช่แปลว่า นั่งเฉย ๆ นะ จำนวนมันต้องได้

ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนมากกว่าองค์ประชุมไม่ถึง 30 คน เพราะป่วย มีนัดหาหมอ มีนัดงาน 30 ที่จาก 300 คน ดูแลไหวเหรอ

ถ้าพูดไม่อยากกล่าวหากัน ไปดูสิ ส.ส.ฝ่ายค้าน มาประชุมกี่วัน มาลงชื่อ มาโหวตบ้างหรือเปล่า มาถึงครึ่งไหม…ถูกไหม นี่คือข้อเท็จจริง เราไม่อยากกล่าวหา แต่เราอยากพูดว่าอย่าใช้เกมเหล่านี้มาทำลายสภา เพราะสภาทำงานด้วยองค์ประชุม สภาเหมือนกับคณะบุคคล วิธีที่กฎหมายกำหนด ต้องใช้องค์ประชุมมากกว่ากึ่งหนึ่ง

Q : ฝ่ายค้านบอกว่าองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ก็พูดได้แหละ สภานี่ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.รัฐบาลเท่านั้น แต่มันคือ ส.ส.ทุกคน ถึงเน้นย้ำว่า เขาล่มองค์ประชุมเพื่อใช้ประท้วง อย่าเอาเสียงข้างมากมาข่มเหง เขาใช้แค่นั้น

Q : พลังประชารัฐพร้อมเลือกตั้ง

ถามหัวหน้าพรรคสิ (พล.อ.ประวิตร) หัวหน้าพรรคก็ตอบว่า พร้อม…

Q : อยู่พรรคพลังประชารัฐตั้งแต่วันแรก เห็นพัฒนาการอย่างไร

พรรคการเมืองก็พัฒนาการไปตามกระบวนการ พรรคมีวิถีในการพัฒนาตนเอง อยู่มาตั้ง 3 ปีแล้ว มี ส.ส.จำนวนมาก แม้ไม่ใช่มากอันดับหนึ่ง แต่เป็นพรรคหลักของรัฐบาล ผมประเมินว่าราบรื่น

Q : เกิดอะไรขึ้นถึงมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคถึง 2 คน เลขาฯพรรคเปลี่ยนไปแล้ว 4 คน

แต่ละพรรคมีแบบฉบับของตนเอง แต่ถามว่าเดินไปไหม…ก็เดิน ถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยน การเมืองก็อย่างนี้ จะให้มันอยู่นิ่ง ๆ เป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนเร็ว นี่ถือว่าน้อยนะ

Q : พลังประชารัฐจะอยู่ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าไหม

หัวหน้าพรรคบอกว่า ได้ ส.ส. 150 คนไง จะอยู่ไหมล่ะแบบนั้น