ประชาธิปัตย์-ฝ่ายค้าน คุมเกมกฎหมายลูก หักพลังประชารัฐ ทะลุ “บิ๊กป้อม”

นำ

 

ความพ่ายแพ้ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้กับ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ ในการชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 ฉบับ

หนึ่งคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. …

กับอีกหนึ่งคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …

ทำให้ดูเหมือน “คำประกาศิต” ของพี่ใหญ่ศูนย์รวมอำนาจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะถูกท้าทาย-ลูบคม จากพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนก่อน

ตั้งแต่ “ผิดคิว” ในการโหวต ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่มีออร์เดอร์มาจาก พล.อ.ประวิตร ถึง วิปรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ว่า ให้โหวตรับเฉพาะร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้เป็นร่างหลัก แต่ถึงเวลาโหวตจริง กลับทะลุเข้าป้ายถึง 4 ร่าง ที่สำคัญ เป็นร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านถึง 2 ร่าง

ซึ่งในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย มีประเด็นที่ร่างของ ครม.ไม่มี คือ ประเด็นหมายเลขผู้สมัครเลือกตั้ง ทั้งระบบเขต และ ระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นหมายเลขเดียวกัน ใช้ “เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ”

กับร่างของพรรคก้าวไกล มีประเด็นยกเลิกการยุบพรรคการเมือง จากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่มีผู้กระทำให้คะแนนเสียงที่ถูกนับกับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกัน (บัตรเขย่ง)

เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่กระทำการเป็นอุปสรรคต่อการนับคะแนนหรือทำให้ประชาชนไม่สามารถเห็นบัตรเลือกตั้งและเครื่องหมายลงคะแนนอย่างชัดเจน หรือกระทำการขัดขวางการบันทึกภาพและเผยแพร่ภาพและเสียงของประชาชนผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง

ดักคอผู้มีอำนาจ ล็อกผลการเลือกตั้ง-การนับคะแนน ตั้งแต่ชั้นกฎหมายลูก

ต่อมา เมื่อมาถึงคิวโหวตเลือก ประธานคณะกรรมาธิการ ในวันที่ 1 มีนาคม ก่อนการลงมติไม่ถึง 2 ชั่วโมง พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์นักข่าว “การันตี” เก้าอี้ไพบูลย์ จากใต้ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลว่า

“ฝ่ายรัฐบาล โดยพรรคพลังประชารัฐ ส่งนายไพบูลย์ แน่นอน คิดว่าจะทำหน้าที่ได้ดี”

แต่เกมดันพลิก เมื่อ “สาธิต” กลับได้รับเสียงโหวตชนะ “ไพบูลย์” ทั้งที่เป็น “ซามูไรกฎหมาย” ของ พล.อ.ประวิตร อย่างเฉียดฉิว ด้วยการลงมติลับ 22 ต่อ 21 เสียง

ทั้งเหตุการณ์วันที่ 24 กุมภาพันธ์ และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ล้วนไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของ “พล.อ.ประวิตร” ถูกหักประกาศิตกันดื้อ ๆ

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ “สาธิต” ปาดหน้า “ไพบูลย์” เข้าป้ายว่า ไม่ถึงขั้นขัดแย้ง แต่ไม่ปฏิเสธ 100%

“ที่จริงน่าจะมีการพูดกันมาก่อน แต่ทราบว่าเรื่องนี้ไม่มีการพูดกันมาก่อน พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครรู้ว่าจะให้ใครเป็นประธาน กมธ. เรื่องนี้ผิดปกติมาตั้งแต่ต้น เดิมที นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เป็นเจ้าของร่าง เป็นผู้พูดสรุปในรัฐสภา แต่ไม่มีชื่อนายวิเชียรเป็น กมธ. แปลว่ายังไม่พูดจาอะไรกันที่ชัดเจน”

ขนาด “พี่โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังตีความเรื่องนี้ผ่านคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์ว่า เป็น “wake up call ของ พล.อ.ประยุทธ์” ประหนึ่งสัญญาณเตือนจากสภาผู้แทนราษฎร ไปยังนายกฯ ที่บัญชาการอยู่ในทำเนียบรัฐบาล

Inside เกมโค่นไพบูลย์

เบื้องลึก-เบื้องหลัง เกมชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.กฎหมายลูก 2 ฉบับนั้น เป็นการแท็กทีมระหว่างพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อ “หักดิบ” พรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร

ต้องเริ่มจากแกะเสียง กมธ.กฎหมายลูกทั้ง 49 คน ที่แต่งตั้งตามโควตาต่าง ๆ ฟากฝ่ายรัฐบาลมี 22 คน แบ่งเป็น คณะรัฐมนตรี 8 คน พรรคพลังประชารัฐ 6 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คนพรรค ภูมิใจไทย 3 คน พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน

ขณะฝ่ายค้านมี 13 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน และ ส.ว.มี
ทั้งสิ้น 14 คน

แต่ปรากฏว่า พอถึงวันโหวตประธาน กมธ. มีคนลาประชุม 6 คน อยู่ในโควตารัฐบาล 4 คน คือ 1.นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), 2.นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการสำนัก กกต. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น กมธ.ในโควตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.นายสาธิต ติดประชุม ครม. 4.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช มาประชุมไม่ทัน เพราะเครื่องบินดีเลย์

1 คนจากฝ่ายค้าน คือ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ 1 คน นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ส.ว.

ทำให้เสียงในที่ประชุมจาก 49 เสียง หายไป 6 เสียง เหลือ 43 เสียง ดังนั้น คนที่จะชนะได้เก้าอี้ กมธ.ไปครอง ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินครึ่งคือ 22 เสียง

ก่อนการประชุมเริ่มขึ้น กมธ.จากพรรคฝ่ายค้าน นัดหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาว่าจะเสนอชื่อใครแข่งกับ “ไพบูลย์” หรือไม่ โดยพรรคเพื่อไทยมีแผนว่าจะเสนอ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ลงแข่ง เพราะไม่อยากให้ไพบูลย์เป็นประธาน แม้ไม่ได้หวังว่าจะชนะ “ไพบูลย์” แต่ส่งเพื่อศักดิ์ศรีฝ่ายค้าน

จึงมีการเสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นมา ชื่อแรกคือ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพลย์เมกเกอร์พรรคภูมิใจไทย ที่แย้ม ๆ กับเพื่อน ส.ส.ว่า สนตำแหน่งประธาน แต่เมื่อต่อสายหา “ศุภชัย” กลับขอถอย พร้อมกับชงชื่อ “สาธิต” เข้ามาแทนที่

เพราะมีคุยนอกรอบว่า “สาธิต” ก็สนใจ ! ทั้งยังเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่อยู่ใน กมธ.

จึงมีการต่อสายไปหา “สาธิต” ที่กำลังคุยอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และวิษณุ รองนายกฯ ที่ทำเนียบ “สาธิต” จึงไม่ได้รับสายในช่วงแรก

ฝ่ายค้านจึงพก 2 แผนเข้าห้องประชุม แพลน A เสนอชื่อ “สาธิต” โดยให้คนในพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอชื่อ แพลน B เสนอชื่อ “ชูศักดิ์” ประกบ ตามฟอร์มฝ่ายค้าน

ณ นาทีนั้น พรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคฝ่ายค้าน จึงสนธิกำลังกัน รวมเสียงได้ 18 เสียง

แต่มีวงในว่า มี กมธ.ในฝ่ายรัฐบาลจะช่วยลงคะแนนให้ฝ่ายค้าน-พรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มอีก 4 เสียง เป็น 22 เสียง จึงมีการ “ติ๊กชื่อ” ยืนยันกันเรียบร้อย

ดังนั้น ก่อนการประชุมเริ่มเพียงอึดใจ ฝ่ายค้านก็ได้รับการ “คอนเฟิร์ม” จาก “สาธิต” ว่า ยินดีลงแข่งกับ “ไพบูลย์” เพื่อชิงการเป็นประธาน กมธ.

เวลานั้นในห้องประชุมทุกคนรู้แล้วว่า มี กมธ.ไม่มาประชุม 6 คน พรรคร่วมรัฐบาล ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ บวกกับฝ่ายค้าน จึงพอเห็นเค้าลางว่าโอกาสชนะมีสูง

เมื่อถึงหน้างาน “สมชาย แสวงการ” ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร เสนอชื่อ “ไพบูลย์” ส่วนฝ่ายค้าน ให้ เกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ประกาศตัวทำงานให้ภูมิใจไทย เสนอชื่อ “สาธิต” จากนั้นมีการลงคะแนนลับ

ผลปรากฏว่า “สาธิต” ปาดหน้า แซงไพบูลย์อย่าง “ฉิวเฉียด”

และแล้วประกาศิต “บิ๊กป้อม” ถูกหัก ว่ากันว่า มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 2-3 คน ส.ว. 1 คน ที่ไม่พอใจ “ไพบูลย์” ลงมติลับให้ “สาธิต”

รับ มีคนไม่พอใจ “ไพบูลย์”

“วิเชียร ชวลิต” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอย่างเปิดเผยว่า คนที่เข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณากฎหมายลูก มีประสบการณ์ตอนเป็นคณะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช.. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) และมีความเห็นว่า นายไพบูลย์ไม่ค่อยฟังคนใน กมธ. จึงมีความไม่พอใจวิธีการทำงานตั้งแต่ตอนนั้น

“เพราะบางทีเราต้องให้โอกาสคนที่เป็น กมธ.ได้อธิบายและพูดให้หมดประเด็นจะได้บันทึก ส่วนมติเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้มีการติดใจอะไร เท่าที่ทราบเป็นเช่นนี้ ฉะนั้น พอเห็นจะมาเป็นประธาน กมธ.วิสามัญกฎหมายลูกชุดนี้ เขาก็เกิดความกังวล เขาจึงไม่อยากได้ นี่คือเนื้อแท้ที่ กมธ.วิสามัญชุดนี้บ่นกัน”

ไม่ถ่วงกฎหมายลูก

ด้าน “สาธิต” กล่าวในฐานะประธาน กมธ.ว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้าทันที หลังวันที่ 22 พฤษภาคม หรือหากเสร็จเร็วจะประสานประธานรัฐสภา เพื่อขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อป้องกันข้อครหาว่ารัฐบาล “เตะถ่วง” เพราะต้องการอยู่ในตำแหน่งนาน ๆ

“รัฐบาลต้องแสดงออกให้เห็นว่า ไม่ได้ถ่วงเวลาที่จะใช้กฎหมายเพื่อให้อยู่ได้นาน ทุกอย่างต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ”

“จะใช้เหตุผลในการทำงาน ควบคุมการประชุม เพื่อนำไปสู่กติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ด้วยเหตุด้วยผล ต้องยอมรับว่ามีแรงกดดัน เพราะมองกันว่ากรรมาธิการชุดนี้มีความสำคัญ”

“มีคนมาแสดงความยินดีกับผม แต่ผมบอกว่ามันเป็นเผือกร้อน เพราะการจะสร้างกติกาให้แต่ละฝ่ายยอมรับเป็นแรงกดดันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคการเมือง หรือประชาชนฝั่งไหน”

แหล่งข่าวใน กมธ.วิเคราะห์ หลังจากเกมชูไพบูลย์ถูกหัก-ประกาศิต พล.อ.ประวิตร ถูกโค่นว่า การประชุม กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายลูกต่อไปนี้ พรรคพลังประชารัฐต้องคุมเกมให้อยู่ ลุกเข้าห้องน้ำไม่ได้

“เพราะเกมนี้สะท้อนแล้วว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลแตกกัน ในประเด็นรัฐธรรมนูญ” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อผู้มีอำนาจพยายามเข็น “ไพบูลย์” มาคุมเกม ลากเกมกฎหมายลูกยาวถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อาจไม่บรรลุเป้าหมาย เมื่อคนที่คุมเกมกลายเป็น “สาธิต”

ผู้มีอำนาจต้องการให้หมายเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับ ส.ส.เขต เป็นคนละเบอร์ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ก็อาจจะไม่สำเร็จ

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน อยากให้ใช้หมายเลขเดียวกัน ทั้ง ส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์

และเกมนี้ปรากฏชัดว่า “ภูมิใจไทย” มีส่วนอยู่เบื้องหลังเกมหักไพบูลย์ สะเทือนถึง พล.อ.ประวิตร โดยความยินยอมทั้งประชาธิปัตย์ และฝ่ายค้าน

เกมโค่นไพบูลย์ ส่งผลต่อเกมกฎหมายลูก ไม่มีใคร “ทุบโต๊ะ” ตามธง พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน สมประโยชน์ทุกฝ่าย

เว้น บิ๊กป้อม-พลังประชารัฐ เพราะใบสั่งจากผู้มีอำนาจได้ถูกฉีกไปแล้ว