ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. 50 เขตเลือกตั้ง ‘คนกรุง’ เคยเลือกใคร

รายงานพิเศษ

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เริ่มขึ้นแล้ว ผู้สมัครที่อยู่ในสปอตไลต์การแข่งขัน 7 คน ซึ่งมีนัยทางการเมืองถึงการขับเคี่ยว-ตัดแต้มกันอย่างดุเดือด เพื่อแย่งชิงโหวตเตอร์ 4,374,131 เสียง

7 คน ได้หมายเลข ดังนี้ เบอร์ 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล เบอร์ 3 สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 7 รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ และเบอร์ 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย ส่วนผู้สมัครที่เหลือเป็นผู้สมัครสร้างสีสัน-ไม้ประดับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองสนาม กทม.ถูกจำลอการเมืองภาพใหญ่ แบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน ขั้วรัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับข้างฝ่ายค้านเพื่อไทย-ก้าวไกล

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 3 มีนาคม 2556 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว หลังจากเหตุสลายการชุมนุม พฤษภาคม ปี 2553 แม้ว่าพรรคเพื่อไทยขณะนั้นเป็นรัฐบาล ส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แข่งกับแชมป์เก่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน

แต่ช่วงโค้งสุดท้ายภาพของ “พล.ต.อ.พงศพัศ” ถูกโยงกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ปลุกอารมณ์คนกรุงให้หันมาเลือก “คุณชายหมู” พรรคประชาธิปัตย์

ในบรรทัดสุดท้าย ทั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ คะแนนแตะล้านคะแนนทั้งคู่

เลือกตั้ง

คะแนนพงศพัศ VS สุขุมพันธ์ุ

ทว่า “พล.ต.อ.พงศพัศ” ได้ 1,077,899 คะแนน ยังแพ้ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ที่ได้ 1,256,349 คะแนน ทิ้งอันดับ 3 ไม่เห็นฝุ่น คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในนามอิสระ ได้รับคะแนนโหวต 166,582 คะแนน

หากส่องกล้องมองเกม สถิติเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อ 9 ปีที่แล้ว พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จากพรรคประชาธิปัตย์ เอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ถึง 39 เขต

ประกอบด้วย จตุจักรได้ 38,766 คะแนน บางคอแหลมได้ 25,107 คะแนน ประเวศได้ 34,919 คะแนน คลองเตยได้ 22,060 คะแนน สวนหลวงได้ 29,803 คะแนน จอมทองได้ 33,968 คะแนน ราชเทวีได้ 14,841 คะแนน ลาดพร้าวได้ 29,690 คะแนน วัฒนาได้ 19,877 คะแนน บางแคได้ 44,419 คะแนน

ะพานสูงได้ 23,928 คะแนน วังทองหลางได้ 26,437 คะแนน บางนาได้ 21,764 คะแนน ทวีวัฒนาได้ 20,559 คะแนน ทุ่งครุได้ 27,081 คะแนน บางบอนได้ 22,934 คะแนน

พระนครได้ 15,074 คะแนน บางรักได้ 13,632 คะแนน บางกะปิได้ 35,581 คะแนน ปทุมวันได้ 13,242 คะแนน ป้อมปราบศัตรูพ่ายได้ 14,837 คะแนน พระโขนงได้ 23,346 คะแนน มีนบุรีได้ 28,744 คะแนน ยานนาวาได้ 21,359 คะแนน สัมพันธวงศ์ได้ 9,346 คะแนน พญาไทได้ 17,254 คะแนน

ธนบุรีได้ 28,279 คะแนน บางกอกใหญ่ได้ 17,393 คะแนน ห้วยขวางได้ 18,616 คะแนน คลองสานได้ 21,089 คะแนน ตลิ่งชันได้ 23,504 คะแนน บางกอกน้อยได้ 26,695 คะแนน บางขุนเทียนได้ 33,989 คะแนน ภาษีเจริญได้ 28,009 คะแนน ราษฎร์บูรณะได้ 17,625 คะแนน บางพลัดได้ 22,877 คะแนน ดินแดงได้ 29,484 คะแนน บึงกุ่มได้ 33,679 คะแนน สาทรได้ 24,600 คะแนน

ขณะที่พงศพัศชนะแค่ 11 เขต ดอนเมืองได้ 40,073 คะแนน หลักสี่ได้ 24,518 คะแนน สายไหมได้ 45,767 คะแนน คันนายาวได้ 19,137 คะแนน คลองสามวาได้ 35,758 คะแนน ดุสิตได้ 21,818 คะแนน หนองจอกได้ 32,168 คะแนน บางเขนได้ 43,024 คะแนน ลาดกระบังได้ 39,007 คะแนน หนองแขมได้ 33,129 คะแนน บางซื่อได้ 27,070 คะแนน

เวลานั้นคน กทม.โซนฝั่งธนฯ-รวมถึง กทม.ชั้นใน เทใจเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ส่วน กทม.โซนตะวันออก อันเป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทย ก็เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ได้เกือบครบ อาทิ สายไหม คันนายาว คลองสามวา

ทว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2556 ยังไม่ใช่คำตอบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งปัจจุบัน

กทม.ชั้นในเลือก พปชร.

เพราะในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ปรากฏ “ตัวแปรสำคัญ” พรรคหน้าใหม่ทางการเมืองเข้ามาชิงคะแนน ทั้งพรรคพลังประชารัฐที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ามากวาดพรรคประชาธิปัตย์จนสูญพันธุ์ในสนามเลือกตั้ง กทม. เพราะฐานเสียง ฐานคะแนน ฐานคน ไหลจากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่กับพลังประชารัฐ

ฝั่งธนฯเทใจอนาคตใหม่

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ที่กระแสแรงเหลือล้น เข้ามาตัดแต้ม-ขโมยซีนการเลือกตั้ง ได้คะแนนคนกรุงไปท่วมท้น

ส.ส.กทม.จึงเหลือแค่ 3 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ ชนะ 12 เขต พรรคเพื่อไทย ชนะ 9 เขต พรรคอนาคตใหม่ ชนะ 9 เขต พรรคประชาธิปัตย์เหลือ 0

พรรคพลังประชารัฐได้มา 12 เขต ประกอบด้วย เขต 1 พระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, ดุสิต (ยกเว้นแขวนถนนนครไชยศรี) เป็นของกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ เขต 2 ปทุมวัน, บางรัก, สาทร เป็นของ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ เขต 4 คลองเตย วัฒนา เป็นของนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา เขต 6 พญาไท, ราชเทวี, จตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล) เป็นของ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์

เขต 7 บางซื่อ, ดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี) เป็นของ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ เขต 8 ลาดพร้าว, วังทองหลาง (ยกเว้นแขวงพลับพลา) เป็นของนายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ เขต 9 หลักสี่, จตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล) เป็นของนายสิระ เจนจาคะ (ปัจจุบันมีการเลือกตั้งซ่อม นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทยได้เป็น ส.ส.)

เขต 13 บางกะปิ, วังทองหลาง (เฉพาะแขวงพลับพลา) เป็นของ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ เขต 15 มีนบุรี, คันนายาว (ยกเว้นแขวงรามอินทรา) นายชาญวิทย์ วิภูศิริ เขต 17 หนองจอก คือ นายศิริพงษ์ รัสมี

เขต 19 สะพานสูง, ประเวศ (ยกเว้นเขตหนองบอน และแขวงดอกไม้) เป็นของนายประสิทธิ์ มะหะหมัด เขต 30 เขตบางพลัด บางกอกน้อย จักรพันธ์ พรนิมิตร

พรรคเพื่อไทย คว้าไป 9 เขต ดังนี้ เขต 5 ดินแดง ห้วยขวาง คือ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ เขต 10 ดอนเมือง นายการุณ โหสกุล เขต 11 สายไหม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เขต 12 บางเขน นายอนุสรณ์ ปั้นทอง เขต 14 บึงกุ่ม, คันนายาว (เฉพาะแขวงรามอินทรา) นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ เขต 16 คลองสามวา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์

เขต 18 ลาดกระบัง น.ส.ธีรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เขต 26 บางบอน, หนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) คือ นายวัน อยู่บำรุง เขต 29 ภาษีเจริญ, ตลิ่งชัน (ยกเว้นแขวงตลิ่งชัน และแขวงฉิมพลี) นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา

พรรคอนาคตใหม่ มี ส.ส. 9 คน เขต 3 บางคอแหลม, ยานนาวา คือ น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน เขต 20 สวนหลวง, ประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอน และแขวงดอกไม้) คือ นายมณฑล โพธิ์คาย

เขต 21 บางนา, พระโขนง คือ นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์

เขต 22 คลองสาน, บางกอกใหญ่, ธนบุรี (ยกเว้นแขวงดาวคะนอง แขวงบุคคโล และแขวงสำเหร่) คือ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เขต 23 จอมทอง, ธนบุรี (เฉพาะแขวงดาวคะนอง แขวงบุคคโล และแขวงสำเหร่) คือ นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี

เขต 24 ราษฎร์บูรณะ, ทุ่งครุ คือ นายทศพร ทองศิริ เขต 25 บางขุนเทียน คือ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ เขต 27 ทวีวัฒนา, ตลิ่งชัน (เฉพาะแขวงตลิ่งชัน และแขวงฉิมพลี), หนองแขม (ยกเว้นแขวงหนองแขม) คือ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ เขต 28 บางแค คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ทั้งนี้ จากการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. 24 มีนาคม 2562 ปรากฏว่าพื้นที่ใจกลาง กทม.ที่เคยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ฐานเสียงของคนฝั่งธนฯก็จดปากกาเลือกพรรคอนาคตใหม่ พรรคน้องใหม่

ผิดจากฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ยังเหนียวแน่นกับ กทม.โซนตะวันออก แม้จะสูญเสียจตุจักร-หลักสี่ให้กับ “สิระ เจนจาคะ” จากพรรคพลังประชารัฐในเบื้องแรก

แต่หลังจากการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 30 มกราคม 2565 “สุรชาติ เทียนทอง” จากพรรคเพื่อไทยก็ชิงพื้นที่กลับคืนไปได้

ทว่า พื้นที่โซนตะวันออกของพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในการดูแลของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ก็แตกตัวออกมาเป็นพรรคไทยสร้างไทย ชู น.ต.ศิธาเข้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เสียแล้ว

บริบทการเมือง 2556 บนวาทกรรม “ไม่เลือกเราเขามาแน่” มาถึงฉากเลือกตั้ง 2562 จนถึงปัจจุบันผ่านมา 3 ปีกว่า ความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็เสื่อมถอยจากพิษเศรษฐกิจ-โควิด-19

ศึกเลือกตั้งรอบนี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่เกาะเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์กับขั้วที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ลุ้นกันตัวโก่ง