เลือกตั้งผู้ว่ากทม. กองเชียร์ ทำอะไรได้-ไม่ได้ เช็กเลย

เลือกตั้งผู้ว่ากทม. กองเชียร์ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง
กองเชียร์ของผู้สมัครผู้ว่ากทม. เมื่อเช้านี้ (31 มี.ค.65) ภาพจากมติชนออนไลน์

กางกติกาพ่อยก-แม่ยก FC ผู้สมัครผู้ว่ากทม. อะไรทำได้-ทำไม่ได้ ตามระเบียบ กกต.และ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 

วันที่ 31 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันนี้ (31 มี.ค. 65) ไปจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2565  คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครผู้เข้าชิงชัยในตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหนคร (กทม.)” และ “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)”

บรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา สปอร์ตไลท์ฉายส่องไปที่แคนดิเดตผู้ว่ากทม. ที่แห่กันมาสมัครตั้งแต่เช้าตรู่

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กลุ่มรักษ์กรุงเทพ
วิโรนจ์ ลักขณาอดิศร ในนามพรรคก้าวไกล
สกลธ๊ ภัททิยกุล อิสระ
สุชัชวีร์ สุวรรณสวสัดิ์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อิสระ

โดยวันแรกของการรับสมัครมีผู้มาลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.แล้ว 14 คน โดยบรรดาตัวเต็ง 8 ราย ลงสมัครกันครบครัน และทุกคนเริ่มต้นนับหนึ่งหาเสียงเลือกตั้งทันที โดยตามรายงานของ มติชน ระบุว่า ผู้สมัครแต่ละหมายเลข ต่างติดป้ายออกตระเวนหาเสียงเป็นวันแรก โดยแต่ละคนมีกำหนดการคร่าว ๆ ดังนี้

เบอร์ 1นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวว่า จะเดินทางโดยรถเมล์ ไปร่วมทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เบอร์  3 นายสกลธี ภัททิยกุล จะเดินทางไปที่ศาลหลักเมือง กทม.( สนามหลวง) เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคลื่อนขบวนสู่ศาลเจ้าพ่อเสือ และไปสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1

เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะเดินทางไปยังศาลหลักเมือง สักการะศาลหลักเมือง และ พระแม่ธรณีบีบมวยผม ช่วงบ่าย จะขึ้นรถหาเสียง ผ่านเส้นทางต่างๆ ไปยังสวนลุมฯ เริ่มเวลา 15.30 น.

เบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเดินทางไปหาเสียงยัง อนุสาวรีย์ชัย จากนั้นนั่งรถไฟฟ้าไปต่อที่สีลม เดินซอยละลายทรัพย์ ปากคลองตลาด โดยการหาเสียงโดยขบวนรถ อีวี เน้นรักสิ่งแวดล้อม

เมื่อปี่กลองการเลือกตั้งบรรเลง บรรดากองเชียร์ของผู้สมัครเบอร์ต่าง ๆ ก็เริ่มขยับ แต่ตามกฎหมายการเลือกตั้งมีการกำหนดกฎ กติกา ในการไปช่วยสนับสนุนคนที่รักคนที่ชอบ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม ดังนี้

หาเสียง-เชียร์ออนไลน์

ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2563 ได้กางกติกาควบคุมการหาเสียงทางออนไลน์โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ดังนี้

  1. การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้สมัครผู้ใด ต้องแสดงตนและระบุข้อมูลเหล่านี้ ในรูปแบบตัวอักษร ภาพ หรือเสียง ไว้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย
  • ชื่อและชื่อสกุล หรือชื่อนิติบุคคล หรืออาจแสดงชื่อย่อ สัญลักษี์ หรือเครื่องหมายใดที่สามารถระบุเจาะจงตัวบุคคลที่ดำเนินการได้
  • ชื่อและชื่อสกุลหรือชื่อนิติบุคคลของผู้จัดทำ

2. ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

3. ห้ามใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

4. หากมีการใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งออนไลน์ โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง จะต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ผู้สมัครรับทราบ และผู้สมัครต้องแจ้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดรับทราบ เพื่อรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ประเภทค่าใช้จ่ายที่ต้องแจ้ง ประกอบด้วย

  • ค่าจ้างจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  • ค่าตอบแทนในการดำเนินการ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดเพื่อให้ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ โซเซียลมีเดีย อีเมล์ โปรแกรมค้นหา หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น รับรู้ถึงการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  • รายการตาม 2 ข้อข้างต้น เกิน 5,000 บาท

5. ถ้าผู้สมัครยินยอม หรือไม่คัดค้านการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ให้นับรวมรายการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครนั้นด้วย

กองเชียร์ของ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครชิงผู้ว่ากทม.พรรคไทยสร้างไทย

ข้อห้ามหาเสียง

อ้างอิงจากระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2563 กำหนดข้อห้ามในการหาเสียงและลักษณะต้องห้าม ดังนี้

  1. ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเด็ดขาด
  2. แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
  3. แจกเอกสาร หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้มีการระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของ
    ผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจน
  4. ใช้พาหนะต่าง ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้
    แจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ
  5. ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่
  6. ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามปกติ
    ประเพณีต่าง ๆ
  7. ห้ามนำชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษี์ของพรรคการเมือง คติพจน์คำขวัญ หรือภาพบุคคล โดยมิได้มีหนังสือให้ความยินยอมจากบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้น
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่า กทม หมายเลข 8 นังมอเตอร์ไซต์อีวีเตรียมหาเสียง

มหรสพ-จัดงานเลี้ยง ห้ามเด็ดขาด

นอกจากการกำกับการหาเสียงดังกล่าวตามระเบียบของ กกต.แล้ว ตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  2562 ได้ระบุถึงข้อห้ามการหาเสียงไว้เช่นกัน โดยมีข้อปฏิบัติ ดังนี้

  1. ห้ามหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพ หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ
  2. ห้ามหาเสียงด้วยการ เลี้ยง หรือ รับจัดเลี้ยง
  3. ห้ามหาเสียงด้วยการบังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม
  4. ห้ามจัดยานพาหนะ รับ-ส่ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่เสียค่าโดยสาร หรือค่าจ้าง

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว บรรดาเอฟซีด้อมว่าที่ผู้ว่ากทม. ทั้งหลาย พึงนำไปปฏิบัติตามให้เคร่งครัด หากฝ่าฝืนทำขึ้นมา อาจกระทบกับคนที่พวกท่านเชียร์ก็ได้