ปริญญ์ เปิดทัศนะเรื่องสิทธิผู้หญิง การแต่งตัวสวยและเซ็กซี่

ภาพจาก Youtube Channel Raks Thai Foundation

ย้อนทัศนะ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ก่อนพัวพันคดีคุกคามทางเพศผู้หญิงหลายราย ชี้ “กฎหมาย-ทัศนคติ” ตัวเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเพศ แนะทุกภาคส่วนจัดการกฎหมายที่มี รีมายเซ็ตเกี่ยวกับผู้หญิงใหม่ 

วันที่ 16 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อเช้าที่ผ่านมา นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ผกก.สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ก่อนมีการออกหมายจับกระทำผิด 2 ข้อหา ฐานกระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล และข่มขืนกระทำชำเรา หลังมีผู้เสียหายเป็นผู้หญิง 4 คน เข้าแจ้งความดำเนินคดี

ก่อนจะเดินทางกลับไป เพราะยังไม่มีการออกหมายจับ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังนัดฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้พรุ่งนี้ (16 เม.ย.) 08.00 น. ตามขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปริญญ์เคยไปให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาสิทธิสตรี และมุมมองการทำงานกับผู้หญิงไว้บนเวทีสัมมนาของมูลนิธิรักษ์ไทย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 โดยขณะนั้นนายปริญญ์ยังไม่ได้เข้าทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่กำลังทำงานอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หลักทรัพย์ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด

“ประชาชาติธุรกิจ” ถอดความ เรียบเรียงมาให้อ่านกัน

งานสัมมนาที่ปริญญ์ไปร่วมเมื่อปี 2561 ภาพจากเว็บไซต์ https://www.raksthai.org/

ผู้หญิงกับงาน: คิดครอบคลุมกว่า

นายปริญญ์ เริ่มตอบคำถามของพิธีกรที่ว่า ประสบการณ์ในการทำงานกับผู้หญิงโดยเฉพาะด้าน CSR มีแนวทางในการพัฒนาสิทธิสตรีอย่างไรว่า แม้ภาพลักษณ์ของตัวเองจะทำงานด้านการเงินการลงทุนมาตลอด และมักจะขึ้นเวทีเสวนาเกี่ยวกับการเงิน การลงทุนโดยตลอด แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากมาตั้งแต่เด็ก

เพราะเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะมีคุณแม่ (นางศสัย พานิชภักดิ์) ที่เอาใจใส่ลูกทั้งบุ๊นและบู๋มาทุกด้าน คุณแม่เป็นไอดอลในชีวิตตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตและเข้าทำงานในแวดวงการเงินมุมมองการวิเคราะห์หุ้นหรือการเงิน หลาย ๆ เรื่องก็ทำสู้ผู้หญิงไม่ได้ เพราะมุมมองของผู้หญิงจะคิด วิเคราะห์ ครอบคลุมหลายด้าน โดยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีสัดส่วนผู้หญิงทำงานถึง 70%

ส่วนในระดับองค์กรที่ตัวเองทำงาน (บริษัท หลักทรัพย์ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด) กำหนดโควต้าพนักงานผู้หญิงในองค์กรไว้ 50% อย่างพนักงานนักวิเคราะห์หุ้น ตอนนี้มีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ด้วยข้อดีที่ว่าพนักงานผู้หญิงมีความรอบคอบและคิดเยอะกว่าผู้ชาย

“ผมไม่ได้อยากจะพูดว่า Favor ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คงไม่ขนาดนั้น เพียงแค่เรามีโควต้าในใจ ตั้งไว้แล้วว่า จะต้องมีการจ้างผู้หญิงในอัตราเท่าไหร่ ตำแหน่ง CFO (Chief Financial Officer: ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน) ของบริษัทผมก็เป็นผู้หญิง คนที่ดูแลด้าน HR ก็เป็นผู้หญิง หัวหน้า Sale Marketing ก็เป็นผู้หญิง Sale Trader ที่ดูแลการสั่งซื้อออดเดอร์ ระดับซีเนียร์ก็เป็นผู้หญิง งานหลายมิติเราตั้งเป้าในใจไว้ แต่เราแค่ไม่ประกาศออกมา” นายปริญญ์ระบุ

เมื่อถูกถามว่า โควต้าพนักงานในใจกับความจริงที่ได้ ถือว่าเป็นไปตามเป้าไหม เจ้าตัวตอบว่า เกินเป้า เพราะองค์กรส่วนใหญ่จะเน้นแต่ระดับผู้บริหารจะต้องมีผู้หญิงมาทำในส่วนนี้ให้เยอะ แต่จริง ๆ ควรเล็งให้ไปในทุก ๆ ระดับขององค์กร  ซึ่งส่วนมากยังคงทำงานใรระดับกลาง ถึง ล่าง แต่ในระดับบน ระดับ Chief ที่นำองค์กร ยังเห็นบทบาทน้อย

นอกจากนี้ ยังยกระดับสิทธิในการทำงาน โดยเปิดโอกาสเพิ่มวันลาคลอดหรือวันลาเพื่อไปทำกิจกรรมกับบุตรบ้าง ซึ่งหลาย ๆ องค์กรพยายามเลี่ยงไม่จ้างผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีลูกเลย ส่วนหนึ่งก็มาจากสภาพสังคมที่มีมุมมองต่อผู้หญิงส่วนนี้ในแง่ลบ และไม่เปิดโอกาสให้ทำงานอย่างเต็มที่ได้

กฎหมาย-ทัศนะสังคม: เพิ่มเหลื่อมล้ำทางเพศ

ต่อมา พิธีกรถามว่า ในการทำงานเพื่อพัฒนาสิทธิสตรี ยังมีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข นายปริญญ์ตอบว่า สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกจำคุกในทัณฑสถานหญิง ซึ่งมี 2 ประเด็นที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

1.กฎหมาย พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 2559 ระบุไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยถูกจำคุกขอใบอนุญาตเป็นผู้ดําเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้ เว้นแต่จะพ้นโทษมาแล้ว 1 ปี ซึ่งถือเป็นการตัดโอกาสผู้หญิงที่อาจจะเอาการนวดสปา มาประกอบอาชีพเสียโอกาสได้ ดังนั้น จึงควรแก้กฎหมายตัวนี้ ซึ่งนักโทษหญิงที่ได้รับการฝึกอาชีพในเรือนตำ ล้วนแต่มีฝีมือทั้งนั้น หากเขาไม่มีอาชีพทำ ก็อาจจะกลับไปทำผิดอีกก็ได้

2.เพศหญิงด้วยกันเองที่สร้างแรงกดดัน สังคมไทยยังมีทัศนคติเกี่ยวกับเพศหญิงในเชิงว่า ต้องดูแลครอบครัว ต้องเลี้ยงลูก ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะแม่สำคัญมากในการเลี้ยงลูก แต่ก็กลายเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งต้องออกจากงาน ทั้ง ๆ ที่หลายคนมีลูกหลายคน แต่ก็ยังทำงานได้ เช่น กรณีของนางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ แห่ง ช.การช่าง ที่เป็นทั้งวิศวกร ผู้บริหารของช.การช่าง ก็มีลูกถึง 4 คน แต่สามารถแบ่งเวลาทำงานและเลี้ยงดูบุตรได้

ลดเหลื่อมล้ำทางเพศ: กฎหมาย-สังคมต้องเปลี่ยน

ปริญญ์ตอบคำถามพิธีกรถึงวิธีการพัฒนาสิทธิสตรีว่า มี 2-3 วิธี ในเชิงของภาครัฐและกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องเปิดกว้าง แฟร์ และเป็นธรรมให้มากขึ้น การตรากฎหมายมาก ๆ ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความยุติธรรมที่จะได้กลับมา หลายประเด็น กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องหรือร้องเรียน เชื่อว่า ผู้หญิงมีปากมีเสียงได้หากกระบวนการยุติธรรมรับฟังจริงจัง ไล่ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงพนักงานอัยการ และศาล แต่ก็ต้องคิดให้มากว่า ยังมีอีกหลายจุดที่ทำให้ผู้หญิงเสียเปรียบหรือเปล่า?

“กระบวนการยุติธรรมต้องเปิดมากกว่านี้ หลายประเทศให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงอย่างมาก เช่น ในอังกฤษหรือประเทศในทวีปยุโรป ศึกษาเรื่องดี ๆ ของเขาแล้วเอามาใช้ได้ ผมเชื่อว่าในอนาคตจะพัฒนาไปมากขึ้น”

นายปริญญ์กล่าวต่อว่า ในเชิงทัศนคติ เชื่อว่าผู้หญิงหลายท่านมีในใจเรื่องการแต่งตัวที่ดูดีและเซ็กซี่ ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของอาชญากรรมในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ชายต้องเคารพ อย่าไปอ้างว่าการแต่งตัวแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาข่มขืน ลวนลาม สังคมควรเปลี่ยนทัศนคติ เรื่องพวกนี้ควรเปลี่ยน

“นโยบายของรัฐที่ว่า อยากให้ประเทศเติบโตแบบมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ใครในที่นี่ต้องรวมผู้หญิงด้วย ก็ทำ Walk The talk เดินตามคำพูด ทั้งในองค์กรและส่วนบุคคล ต้องทำตามด้วย โดยเฉพาะในความเป็น active citizen จะช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ ผู้หญิงจะลดความเหลื่อมล้ำในส่วนนี้ได้ จริง ๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องขึ้นมายืนด้วยกันในการลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้” นายปริญญ์กล่าวในช่วงท้าย