เปิดกฏมาตรฐานประชาธิปัตย์ ระบุต้องมีศีลธรรม ตัวอย่างที่ดีสถาบันครอบครัว

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดได้เพียงรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ทันได้ข้ามเข้าสู่ตำแหน่งฝ่ายบริหารในรัฐบาล หล่นลงจากบังเหียนคุมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยกฏกติกาสังคม และมาตรฐานจริยธรรมของพรรค

กรณี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ซึ่งวันนี้กลายเป็น “อดีต”

อดีตนักการเมือง

อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์

อดีตผู้อำนวยการการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์

และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อเขาลาออกทุกตำแหน่ง จากเหตุถูกสาววัย 18 แจ้งความข้อหาอนาจาร รวมถึงมีบุคคลที่เข้าแจ้งความว่าเป็นเหยื่อการคุกคามหลายราย

อีกทั้งยังถูกขุดพฤติกรรมในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ ที่เคยถูกจับ – ขึ้นศาลในอดีต มาถล่มในโซเชียลมีเดีย

ในเรื่องนี้ “เทพไท เสนพงศ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช นักการเมืองตัวจี๊ดในพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ขอชื่นชมสปิริตนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรค เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพรรค เป็นการเสียสละและรับผิดชอบ เพื่อไปต่อสู้พิสูจน์ความจริงตามกระบวนการยุติธรรม”

“ขอชื่นชมที่นายปริญญ์ นักการเมืองรุ่นใหม่ ที่รักษามาตรฐานความเป็น ปชป.ไว้ เหมือนสมาชิกพรรคที่เคยถูกข้อกล่าวหาในอดีต และแสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งไว้ก่อน ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา ปชป.ยันไม่ปกป้องคนผิด”

ขณะที่ “น.ส.รัชดา ธนาดิเรก” กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ รองโฆษกรัฐบาล กล่าวเรื่องเดียวกันว่า กรณีข้อกล่าวหาคดีคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจความรู้สึกทั้งของผู้เสียหายและสังคม พรรคสนับสนุนให้ผู้เสียหายจากการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และขอให้ตำรวจเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าโดยเร็ว

“ยืนยันว่า พรรคจะไม่แทรกแซง หรือดำเนินการใดที่เป็นการปกป้องคนผิดแน่นอน พรรคยังคงยึดมั่นจุดยืนเรื่องการต่อต้านการคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศความรุนแรงในครอบครัว การเลือกปฏิบัติ พร้อมรับฟังข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอจากประชาชน อีกทั้งมีทีมนักการเมืองหญิงที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็งมายาวนาน ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในทุกกรณี โดยเฉพาะด้านกฎหมายเพื่อร่วมกันเป็นกลไกยุติปัญหาสังคมดังกล่าว”

อีกด้านหนึ่ง “ปริญญ์” ก็ถูกตำรวจแจ้ง 3 ข้อกล่าวหา จากการเปิดเผยของ พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น.เปิดเผยว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายปริญญ์ 3 ข้อหา เป็นการกระทำอนาจาร 2 คดี และข่มขืนกระทำชำเรา 1 คดี ซึ่งนายปริญญ์ได้ให้การปฏิเสธ โดยในวันพรุ่งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำพยานหลักฐานไปยื่นต่อศาลเพื่อขอออกหมายคุมขังนายปริญญ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่นิยามมาตรฐานตนเองว่า เป็นพรรคที่มีมาตรฐานสูงในทางการเมืองพรรคหนึ่ง

ในข้อบังคับพรรคของพรรคประชาธิปัตย์ กำหนด “มาตรฐานจริยธรรม” ไว้ใน 2 ส่วน

ส่วนแรกในหมวดที่ 4 มาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค อาทิ

ข้อ 24 กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 25 กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงยืนหยัดทําในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม การปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับพรรค ระเบียบพรรค และประกาศพรรค โดยเคร่งครัด

ข้อ 26 กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม และวางตนเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน เคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคล ของผู้อื่นไม่แสดงกริยาหรือใช่วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้ายหรือเสียดสีบุคคลใดและเป็นแบบอย่าง ที่ดีในการรู้รักสามัคคีและเป็นแบบอย่างที่ดีในการเสริมสร้างสถาบันครอบครัว

ส่วนที่ 2 เป็นการเขียน “มาตรฐานทางจริยธรรม” ของนักการเมืองในเสื้อพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ ห้ามนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค

ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวด 15 มาตรฐานทางจริยธรรมและวินัยของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

ข้อ 115 นอกเหนือไปจากปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับตามหมวด 4 ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกแล้ว ให้ผู้ดำรงตำแห่งทางกรเมืองต้องปฏิบัติตามวินัยดังต่อไปนี้

1.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด

2.ไม่ใช้ตําแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น จนนํามาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาสู่พรรคทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

3.ไม่ยินยอมรู้เห็นเป็นใจ หรือสั่งการให้ผู้อื่นแสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ โดยมิชอบ

4.ห้ามรับเงินหรือประโยชน์อันมิชอบอื่นใดจากพรรค

5.ห้ามดําเนินการที่มิชอบในที่ประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการ ของรัฐสภา หรือคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร จนนํามาซึ่งความเสื่อมเสียมาสู่พรรค

6.ห้ามดําเนินการอื่นใดอันอาจจะนําความเสื่อมเสียมาสู่พรรค

ก่อนหน้านี้ ในยุคที่เป็นรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ได้ออกกฎ 9 ข้อ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปฏิบัติตาม เป็น “มาตรฐานจริยธรรม” ก่อนที่จะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เสียอีก

1.ให้ ครม.น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้ ครม. เมื่อวันที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะที่พระองค์ทรงเน้นเรื่องการปฏิบัติงานให้เกิดความเรียบร้อย และเกิดความสุขในหมู่ประชาชน

2.เน้นกับ ครม.เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อใดรัฐบาลไม่สามารถบริหารอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริตได้ ก็จะเป็นปัญหาทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล และบางครั้งนำไปสู่ความสูญเสียอธิปไตยด้วยซ้ำ ที่สำคัญจะต้องดูแลไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคลากรที่มาช่วยงาน

3.ยึดนโยบายที่ ครม.แถลงต่อสภาในการทำงาน ถ้ารัฐมนตรีที่จะไปกำหนดนโยบาย เพิ่มในระดับกระทรวง หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบาย ขอให้อ้างอิงนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ

4.การทำงานของรัฐบาลต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและความเป็นเอกภาพ แม้เป็นรัฐบาลผสม แต่เราต้องไม่เป็นรัฐบาลที่แบ่งพรรค ต้องเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบร่วมกัน ปัญหาในประเทศหลายอย่างในขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ดังนั้นการประสานงานระหว่างกระทรวงเป็นเรื่องสำคัญ หมายถึงบทบาทของการมีระบบคณะกรรมการ จึงขอให้ ครม.เห็นความสำคัญของระบบการทำงานแบบคณะกรรมการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะต้องแก้วิกฤติ

5.รัฐบาลนี้อยู่ในวิถีทางรัฐสภา รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ ไปรับฟังความเห็นของ ส.ส. ทั้งการอภิปรายในสภา หรือพบปะพูดคุยกับ ส.ส.ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดรัฐมนตรีต้องทราบเวลาที่ชัดเจนเรื่องกระทู้ถามสดคือ 13.30 น. ของทุกวันพฤหัสบดี จึงขอให้รัฐมนตรีไม่มีภารกิจนัดหมายใด ๆ ยกเว้นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

6.รัฐมนตรีทุกคนถือเป็นบุคคลสาธารณะ ขอให้รัฐมนตรีปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน

7.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม การดำเนินนโยบายหรือโครงการที่ยังไม่เป็นที่รับทราบของประชาชน ขอให้อดทนและอย่าตั้งแง่ต่อการเข้าไปรับฟังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการประชาพิจารณ์ หรืออะไรก็ตาม

8. รัฐบาลชุดนี้ต้องพร้อมรับการตรวจสอบ จะมีการตรวจสอบเชิงนโยบายหรือเรื่องอื่น ๆ รัฐมนตรีต้องไม่สร้างอุปสรรค ขัดขวางการตรวจสอบ อยากขอว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการตรวจสอบลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ หรือการสัมภาษณ์ขอให้ชี้แจงโดยใช้เหตุผล ข้อเท็จจริง หลีกเลี่ยงการนำรัฐบาลหรือตัวเองเข้าไปตอบโต้หรือทะเลาะ

9. รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชนคนอื่นในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นจะต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย

ทั้ง 9 ข้อ สำแดงผลต่อรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เอง

เรื่องเกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อ “วิฑูรย์ นามบุตร” อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เจอปัญหาเรื่อง “ปลากระป๋องเน่า” จากเหตุที่ปลากระป๋องตรา “ชาวดอย” ในถุงยังชีพของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่แจกให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.พัทลุง เกิดเน่าเสียก่อนวันหมดอายุที่ระบุอยู่บนฉลากว่าปี 2554 รวมถึงของช่วยในถุงยังชีพอีกหลายอย่างมีคุณภาพต่ำ

ทุกกล่าวหาเรื่องการทุจริต กระทั่งทนแรงกดดันทางการเมือง ทั้งในพรรคประชาธิปัตย์ ในรัฐบาล และฝ่ายค้าน สุดท้าย “วิฑูรย์” ต้องลาออกจากตำแหน่งเป็นรายแรก สังเวยมาตรฐาน 9 ข้อของ ครม.ประชาธิปัตย์

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ยังมีสโลแกน “ประชาธิปไตยสุจริต”

ที่สุด เหตุที่เกิดขึ้นกับ “ปริญญ์” เลือดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ

นักการเมืองเลือดเก่า ประเภท “ประชาธิปัตย์” เข้มข้น ต่างแยกตัว – ตีจาก เหมือนบ้านแตกสาแหรกขาด

ผลหลายปัจจัยดังกล่าว อาจทำให้พรรคที่เพิ่งจัดงานครบรอบวันสถาปนา 76 ปี กู่ไม่กลับ….