ค่าโง่ใบส้ม กกต. สังเวย 70 ล้าน ติดกับดักรัฐธรรมนูญ คสช.

ค่าโง่ใบส้ม กกต. สังเวย 70 ล้าน

พิษบาดแผลจากกรณีที่ศาลแพ่งสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ชดใช้ค่าเสียหาย 64.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมแล้วกว่า 70 ล้านบาท ให้ “สุรพล เกียรติไชยากร” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.เชียงใหม่ หลังจากแจก “ใบส้ม” หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

7 เสือ กกต. ชุดที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปราบโกง ซึ่งยกระดับให้องค์กร กกต. ต้องมี “ความกล้าหาญ” กลับกลายต้อง “เสียค่าโง่” หลังจากการแจกใบส้ม

ย้อนความกันก่อนหน้านี้ กกต.แจกใบส้ม หรือ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง “สุรพล” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เนื่องจากมีการร้องเรียน กกต.เชียงใหม่ ว่า “สุรพล” ใส่ซองทำบุญพระสงฆ์ จำนวน 2 พันบาท กระทั่ง กกต. จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามารายงานต่อ กกต.ชุดใหญ่ 7 คน

โดยที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่ เห็นว่า พฤติการณ์ของนายสุรพล เข้าข่ายผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

พร้อมกับสั่งให้มีการเลือกตั้งซ่อม ปรากฏว่า “ศรีนวล บุญลือ” จากพรรคอนาคตใหม่ ชนะการเลือกตั้งซ่อมได้เป็น ส.ส. ทว่าในปัจจุบัน “ศรีนวล” กลายเป็น ส.ส.งูเห่า สังกัดพรรคภูมิใจไทย

แต่แล้วในส่วนคดีของ “สุรพล” ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อศาลฎีกายกฟ้อง เมื่อ 25 กันยายน 2563 โดยคำวินิจฉัยของศาลระบุว่า

“…ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนยังฟังไม่ได้ว่า ผู้คัดค้านถวายเงินจำนวน 2,000 บาท แก่พระครูถาวรวรคุณ เพื่อ เป็นการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ผู้คัดค้านได้บริจาคเงินสมทบให้แก่กองผ้าป่าสามัคคีของหมู่บ้าน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการให้เงินไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน อันจะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) และตามคำร้อง และเมื่อฟังว่าผู้คัดค้านไม่ได้กระทำผิดตาม คำร้องแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 ตามคำร้อง พิพากษาให้ยกคำร้อง”

สุรพล จึงหยิบคำพิพากษาศาลฎีกาไปดำเนินการต่อใน 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง “สุรพล” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอคืนสิทธิการเป็น ส.ส. ทว่า 18 สิงหาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง โดยระบุว่า เป็นการใช้อำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ

“การกระทำของสำนักงาน กกต. และ กกต. เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย หาก นายสุรพล เห็นว่า สำนักงาน กกต.และ กกต. กระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของนายสุรพลตามที่กล่าวอ้างอาจใช้สิทธิเยียวยาทางศาลอื่นได้ กรณีจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง นายสุรพลไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้”

“สุรพล” จึงยื่นศาลแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายจาก กกต. กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ศาลจังหวัดฮอด ต.หางดง อ.ฮอด ได้พิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.164/2562 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ. 23/2565 ให้ตนชนะคดีดังกล่าว และสั่งให้ กกต.จ่ายค่าเสียหายและเยียวยา รวมกว่า 64.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านบาท จากที่ตนเรียกค่าเสียหายจาก กกต.ที่ทำให้ตนเสื่อมเสียเกียรติในฐานะ ส.ส. 8 สมัยไปจำนวนเงิน 86 ล้าน

โดย กกต.จะขออุทธรณ์คดีหรือไม่ ภายเวลา 1 เดือน

“สุรพล” กล่าวว่า “ผมดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถเรียกร้องศักดิ์ศรีคืนมาให้ตัวเองและพรรคเพื่อไทยได้ว่าเราไม่เคยใช้เงินซื้อเสียง เราได้คะแนนมาอย่างยุติธรรมขาวสะอาด และคดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานต่อไปให้กับนักการเมือง ว่า กกต. จะเอาผิดกับนักการเมืองต้องมีความรอบคอบ วินิจฉัยให้ชัดเจน ต้องขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับผมในครั้งนี้”

สมชัย ไขคำตอบ กกต. 7 คนต้องใช้คืน

แต่คำถามว่า เมื่อเกิดคดี “ค่าโง่ใบส้ม” ใครจะเป็นผู้จ่าย ?

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย อธิบาย 5 ข้อ สั้น ๆ ว่า

1.สำนักงาน กกต. ต้องชดใช้ไปก่อน 64.1 ล้านบาท (ภาษีประชาชน)

2.สำนักงาน กกต. ต้องฟ้อง กกต. 7 คน ในข้อหากระทำผิดทางละเมิด ทำให้ราชการเสียหาย (หาร 7) ยกเว้นคนที่ลงมติว่า ไม่ผิด ไม่แจกใบส้ม

3.กกต. 7 คน ต้องไล่เบี้ย ไปยังเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่เลขาธิการ รองเลขาธิการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่สอบสวน และสรุปเสนอเรื่องขึ้นมา (หาตัวหารเพิ่ม)

4.ในกรณีที่กว่าเรื่องจะยุติ อาจใช้เวลาเป็นปี ซึ่งเงินที่จ่ายไปล่วงหน้า มีการคิดดอกเบี้ย ร้อยละ 5 ต่อปี (กฎหมายใหม่)

5.การเจรจาประนอมหนี้ อาจขอผ่อนชำระได้ในอัตราที่เหมาะสม โดยราชการไม่เสียหาย

นอกจากนี้ เอฟเฟ็กต์ของคดีสุรพล นอกจากกรณีที่ศาลแพ่งสั่งให้ กกต.ชดใช้ค่าเสียหายให้ “สุรพล” แล้ว ทนายความของ “สุรพล” ยังเตรียมยื่นเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หาก กกต.นิ่งเฉย

พรรคเพื่อไทย โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า กกต.คงจะอุทธรณ์ แต่พรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุน

ต้นกำเนิด “ใบส้ม-เหลือง-แดง-ดำ”

เป็นอีกครั้งที่ กกต. กลายเป็นตำบลกระสุนตก โดยเฉพาะ กกต.ต้องเสียค่าโง่ เพราะต้นเหตุ รัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง “ยกระดับ” กกต.ให้เป็นองค์กรที่มี “ความกล้าหาญ” กล้าตัดสินข้อโต้แย้งทางการเมือง

เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 22(3) วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการ

และใน (10) การควบคุม กํากับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบ ด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการที่จะต้องดําเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําใดอันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม ในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ “คําสั่งของ กกต. ให้เป็นที่สุด” โดยเฉพาะ “ใบส้ม” ที่งอกขึ้นมา

ต่างจากการเลือกตั้งในอดีตที่มีแค่ “ใบเหลือง-ใบแดง” ซึ่งในการเลือกตั้งปัจจุบันอำนาจการแจก “ใบเหลือง-ใบแดง” ไปอยู่ที่ศาลฎีกาแผนก และมี “ใบส้ม-ใบดำ” เพิ่มขึ้นมา

ใบส้ม = เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่แจกก่อน “ประกาศผลเลือกตั้ง” ระงับสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว 1 ปี และสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยพรรคของผู้สมัครที่ถูกใบส้มจะไม่สามารถส่งคนลงเลือกตั้งได้ใหม่ และคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้นจะถูก “ล้าง” ออกไปทั้งหมด ไม่นำมาคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ส่วนหลังการเลือกตั้งนั้น จะเป็นระดับการแจก “ใบเหลือง-ใบแดง-ใบดำ”

ใบเหลือง = เขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทําของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้ กกต.ยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่

ใบแดง = หลังการรับรองผลเลือกตั้งจะเป็นอำนาจของศาลฎีกา สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ใบดำ = เป็นอำนาจของศาลฎีกา สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

ทั้ง “ใบเหลือง-ใบแดง-ใบดำ” กกต.จะมีหน้าที่ “สืบสวนหรือไต่สวน” ก่อนส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดี เป็นผู้ชี้ขาดเป็นที่สุด

ซึ่งกรณี “ใบดำ” เป็นเคสที่ร้ายแรงที่สุด คือไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ระบุใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 138 ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว

ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบแดง) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น (ใบดำ)

ใบส้มที่ กกต.แจกให้ “สุรพล” เป็นใบแรก อันเกิดจากดอกผลของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมรดก คสช.


และเป็นครั้งแรก ที่ 7 เสือ กกต. ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเรียกร้อง “ค่าโง่” 64.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย