กรณ์ ถามหาบทลงโทษแพลตฟอร์มในไทย โฆษณาข้อความเท็จ ผิดจริยธรรม

กรณ์ ถามหาบทลงโทษแพลตฟอร์มในไทย โฆษณาข้อความเท็จ ผิดจริยธรรม

กรณ์ พรรคกล้า ยกตัวอย่างกฎหมาย “DSA” ในอียู ถามหาบทลงโทษ Platform ในไทยรับผิดชอบข้อความและโฆษณาของตน

วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์คลิปวิดีโอโปรโมทแคมเปญ 5.5 ของลาซาด้า แอปพลิเคชั่นขายของออนไลน์ ซึ่งมีเนื้อหาที่ดูเหมือนเป็นการล้อเลียนพฤติกรรมของผู้พิการ ทำให้กระทบต่อจิตใจผู้ที่ได้รับชมคลิปดังกล่าวว่า วันนี้เห็นประเด็นโฆษณาที่ไม่เหมาะสมถึงขั้นทำร้ายจิตใจของคนไทย

พร้อมระบุต่อไปว่า ทำให้นึกถึงกฎหมาย Digital Services Act (DSA) ที่ทางสหภาพยุโรป ได้เพิ่งผ่านขั้นตอนพิจารณาสำคัญ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา

เป็นกฎหมาย DSA มีเป้าหมายสำคัญที่จะให้ทาง Platform ต่าง ๆ เช่น Facebook (และ Lazada) รับผิดชอบข้อความและโฆษณาที่ปรากฏในพื้นที่ของตน กฎหมายนี้เข้มงวดกว่าของสหรัฐฯ ที่มีจุดยืนกว้าง ๆ ว่า Platform ไม่ต้องรับผิดชอบเนื้อหา โดยหลักสำคัญคือภายใต้ DSA นั้น Platform ต้องรับผิดชอบต่อข้อความที่เป็นข้อความเท็จ ขัดต่อกฎหมาย หรือผิดจริยธรรม

ภายใต้ DSA นั้น platform ต่าง ๆ อาจถูกสั่งให้เปิดเผย algorithm ที่ใช้ในการคัดกรองและเผยแพร่ข้อมูลด้วย

ถึงเวลาที่สังคมเราควรต้องพิจารณากฎหมายลักษณะเดียวกัน ที่ผ่านมากฎหมายยังตามเทคโนโลยีไม่ทัน ซึ่งทางสหภาพยุโรป วันนี้มองว่า สิทธิส่วนบุคคลและความเป็นประชาธิปไตยควรได้รับการปกป้องด้วยกฎหมาย สิทธิในการแสดงออก และหลักการเสรีภาพในการพูดยังต้องมี

สหภาพยุโรป มองว่าอิสระ ต้องไม่ใช่เท็จ ต้องไม่มีการกีดกันอย่างไม่ยุติธรรม หรือไม่โปร่งใส และต้องไม่ใช่การแสดงออกที่ขัดต่อกฎหมาย หรือทำร้ายสิทธิของผู้อื่นและสังคมโดยรวม ถึงเวลาของไทยต้องมีกฎหมายลักษณะนี้แล้วยังครับ