
ศึกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้มข้นดุเดือด เดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้าย ในวันอาทิตย์ 22 พ.ค. นี้ ผู้สมัครจากหลายพรรคการเมือง ต่างเร่งหาเสียงเพื่อคว้าชัยครั้งนี้
“ประชาชาติธุรกิจ” เค้นจุดแข็ง – จุดอ่อน จากปากแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. 4 คน จาก 4 สังกัด ในฐานะผู้สมัครที่อาสาเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมเผยทำไมคนกรุงเทพฯต้องเลือก แล้วชีวิตคนเมืองกรุง อีก 5 ล้าน ประชากรแฝงอีกกว่า 7 ล้านคน ข้อมูลจากสำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเป็นอย่างไรต่อไป
4 ปี ชีวิตคนกรุงจะเป็นอย่างไร
“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” พรรคก้าวไกล เบอร์ 1 ลูกแม่ค้าขายผ้าคนจีน จากนักเรียนวิศวกรยานยนต์ พนักงานบริหาร สู่นักการเมือง หัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคก้าวไกล ในสภาผู้แทนราษฎร และได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตอีกครั้ง มาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17
“วิโรจน์” ตอบว่า กรุงเทพฯในมือผู้ว่าฯวิโรจน์ คือ เป็นเมืองที่ทุกคนเท่ากัน เมืองที่ทำให้ความรู้สึกว่า ได้รับการใส่ใจที่เหมือนกัน มีโอกาสที่จะตั้งตัวได้ มีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ดึงดูดการลงทุน อยู่แล้วมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น พัฒนาตัวเองให้มากขึ้น รวมถึงจะกระจายงบประมาณให้คนกรุงเทพฯ มีความรู้สึกว่า เป็นเจ้าของอำนาจ เป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ว่า เป็นผู้ถูกปกครอง หรือผู้อยู่อาศัย

ต่อด้วยเบอร์ 4 “ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อดีตอธิการบดี สจล. สู่สนามการเมือง บนเส้นทางเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ เสื้อสีฟ้าแห่งค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งที่แล้ว ปี 2556 เมื่อ 9 ปีที่แล้ว
“สุชัชวีร์” ยืนยันว่า หากคนกรุงเทพฯได้ผู้ว่าฯสุชัชวีร์ คน กทม.จะได้ใช้ไวไฟฟรี อินเทอร์เน็ตฟรี เป็นสวัสดิการพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้คนเท่าเทียมและมีโอกาส เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้ชีวิตคนจากปิด เป็นเปิด จากไม่เท่า กลับมาเท่า และสร้างโอกาสมหาศาล นอกจากนี้ คน กทม.จะสามารถขอใบอนุญาตต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ได้ แบบไม่โดนใครไถเงิน
ใน 4 ปีโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับลูกหลาน จะเป็นโรงเรียนที่ใกล้บ้าน โรงพยาบาลใกล้บ้านเพิ่มขึ้น 80 แห่ง ฝุ่น PM 2.5 ในจุดวิกฤตจะหายไปครึ่งหนึ่ง จะได้ใช้บริการรถเมล์ไฟฟ้าในราคาที่ถูก 10-12 บาท
ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่จะหายไป สิ่งที่ดี ๆ จะถูกนำมาใช้ใน กทม. เช่น แก้มลิงใต้ดิน หลายคูคลองจะสะอาด ปัญหาน้ำหนุน จะเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่รอให้ กทม.จมน้ำ
ที่สำคัญที่สุด กทม.จะเป็นเมืองที่ปลอดภัยไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ฟุตปาทเรียบ ไฟสว่าง ใช้หลอด LED กล้อง CCTV ผ่านเครือข่ายไวไฟฟรีดูแลคน กทม.ได้ 24 ชั่วโมง
ขณะที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เบอร์ 8 ผู้สมัครอิสระ ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ที่มี “มีม” ในโลกโซเชียลมากที่สุด และเต็งหนึ่งทุกโพล ตอบว่า วิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯชัชชาติ คือ การทำเมืองให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ผ่านนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี คือ ความปลอดภัย, สาธารณสุข, สิ่งแวดล้อม, การศึกษา, ปัญหาการจัดการ, การเดินทาง, เศรษฐกิจ และการสร้างสรรค์
การตอบโจทย์พวกเราทุกคน ใช้นโยบาย 4-5 อันไม่พอ ต้องเป็นนโยบายที่แตะชีวิตเราทุกคน เป็นนโยบายที่ไม่เพ้อฝันทำได้จริง ไม่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ครบทุกคนในแต่ละด้าน พร้อมทั้งจะเป็นผู้นำที่พาข้าราชการ ลูกจ้าง กรุงเทพมหานคร เดินไปด้วยกัน เพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
“ถ้าจะเลือกเรา ก็ขอให้เลือกเราจากนโยบายที่ตอบโจทย์ เชื่อมั่นในตัวเราที่เรามีความมุ่งมั่นและทำได้จริง แต่คราวนี้มีแคนดิเดตเยอะ ประชาชนก็ลองเลือกดูว่าสุดท้ายไว้ใจใคร จะให้เป็นคนที่ช่วยนำ กทม.ไปในทิศทางที่เราต้องการ” ชัชชาติกล่าว

ส่วนคนสุดท้าย “น.ต.ศิธา ทิวารี” นักบินขับไล่ F16 อดีต ส.ส. กทม.เขตคลองเตย-วัฒนา 2 สมัยติดต่อ หมายเลข 11 จากพรรคไทยสร้างไทย ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” กุมบังเหียนเป็นประธานพรรค บอกว่า กทม.ในยุคผู้ว่าฯ ศิธานั้น จะเข้าไปแก้ไข ดูแลเรื่องปัญหาปากท้อง เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง
ในฐานะที่เคยเป็น ส.ส.กทม.ในเขตคลองเตย สัมผัสประชาชน คนรวยในเขตสุขุมวิท ถนนพระราม 4 และคนจนในชุมชนแออัดคลองเตย เราจึงเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของคน กทม.ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นคนตัวเล็ก ทำมาค้าขาย ไม่สามารถอยู่ได้
จัดสรรให้เขาทำมาหากินได้ กำหนดที่ กำหนดทางที่เหมาะสม เป็นตัวกลางสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นตัวกลางในการทำให้คนที่ปล่อยไมโครไฟแนนซ์เข้ามาทำแล้วเอาองค์กรของ กทม.
รวมถึงนำกระบวนการชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนมาช่วยคัดกรองคนและรับรองเครดิตได้ การแก้ไขปัญหาของ กทม.ต้องอาศัยคนที่รู้และเข้าใจ นอกเหนือจากปัญหาที่เคยได้ยินอยู่แล้ว ทั้งน้ำท่วม รถติด
พร้อมทั้งบอกว่า ในทุก ๆ เรื่องจะใช้แคมเปญ “ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ” เป็นสิ่งที่ตั้งใจที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามในสังคม ผมจะได้ตอบว่ามันคือสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจคน กทม.ว่าทำไมผู้ว่าฯ กทม.ถึงไม่ทำแบบนั้น ทำไม กทม.ยังปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ทำไมยังมีน้ำท่วม ปัญหารถติด ขยะล้นเมืองอยู่
ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยแก้ไข หรืออาจบอกว่าทำแล้ว แต่ผมจะบอกว่าในเมื่อทำ แต่ยังไม่สำเร็จ ยังไม่ตอบโจทย์คน กทม.ที่มองว่าเป็นปัญหา ถือว่ายังไม่ได้ทำ ผมจะทำสิ่งเหล่านี้ถ้าผมเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะถูกแก้ไขอย่างถึงแก่น ถึงรากเหง้าปัญหา ให้ลุล่วงไปได้
จุดแข็ง – จุดอ่อน
อีกหนึ่งคำถามสำคัญ เมื่อถูกถามว่าการอาสาเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปรียบเหมือนสมัครงาน หลายครั้งเวลาสัมภาษณ์งาน HR ของบริษัทนั้น ๆ มักจะถามผู้สมัครงานเสมอ ว่า จุดแข็งและจุดอ่อน ของคุณคืออะไร เหตุใดต้องเลือกคุณ
“วิโรจน์” ตอกย้ำจุดแข็งของตัวเองด้วยน้ำเสียงที่ดังและฟังชัดว่า “เวลาที่ผมเห็นความอยุติธรรม เจ้านายของผมคือคนกรุงเทพฯ จะให้ประนีประนอมคงไม่ได้ คนกรุงเทพฯต้องการผลประโยชน์ให้กับพวกเขา ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ อ้างความเป็นกลาง ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง นั่นไม่ใช้ความเป็นกลาง ไม่แยแส ไม่สนใจไยดี ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่างหาก”
ส่วนจุดอ่อนนั้น “วิโรจน์” คิดนานหลายวินาที ก่อนที่จะตอบออกมาว่า ”ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน”

“ดร.เอ้” ตอบจุดแข็งตัวเองว่า ตนเองเป็นคนมีความมุ่งมั่น เป็นคนที่มีพลังที่จะเข้าไปแก้ปัญหาจริง ๆ ซึ่งเป็นพลังที่คนกรุงเทพฯต้องการ เพราะปัญหากรุงเทพฯเป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก และหนักหนามาก เขามาด้วยพลังที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเท่านั้น ซึ่งต้องมีเป้าหมาย และนโยบายที่ชัดเจนพร้อมยกระดับกรุงเทพฯให้เป็นเมืองต้นแบบอย่างแท้จริง จุดแข็งคือความมุ่งมั่น เข้มแข็ง ด้วยนโยบายวิศัยทัศน์ที่ชัดเจน เราจะเปลี่ยนกรุงเทพฯได้
เมื่อถามถึงจุดอ่อนนั้น สุชัชวีร์ตอบว่า “ผมไม่มี…ผมไม่เคยทำการเมืองมาก่อน” ตัวเต็งทั้งหมดเป็นนักการเมืองมาก่อน เป็นที่คนรู้จัก ดังนั้นก็คิดว่า จุดอ่อนนี้อาจเป็นจุดแข็งก็ได้ สังกัดพรรคประชาธิปย์ มาพร้อมกับ ส.ก. บอกชัดเจนว่าผมมีนโยบาย 1 2 3 4 จะทำให้ได้จริง และเป็นผู้ว่าฯที่ไม่พูดโกหก ไม่ปกปิดความผิด และที่ไม่คอร์รัปชั่น

ขณะที่ “ชัชชาติ” ก็ตอบจุดแข็งของตัวเองเพราะเดินนานกว่าเพื่อนผู้สมัครคนอื่น ๆ มาตั้งแต่ 2 ปีครึ่งที่แล้ว เป็นผู้สมัครไก่โห่ เป็นชื่อที่คนได้ยินเยอะ ผู้คนเห็นความตั้งใจ นอกจากนี้ก็จะมีทีมทำงานมานาน เห็นปัญหาในหลายด้าน รวมถึงมีมุมมองที่ค่อนข้างละเอียด ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายจำนวนมากกว่า 200 นโยบาย เป็นจุดแข็งที่เราเดินมานาน เรามีความตั้งใจ มีทีมที่ครบถ้วน
ส่วนจุดอ่อนนั้น “ชัชชาติ” บอกว่า พอเราลงอิสระ เราไม่มีฐานเสียงเลย ไปเดินพระราม 9 แค่ในเมืองใกล้ ๆ บ้านเลย หลายคนไม่รู้จักชัชชาติ บางทีคนที่ทำงานก็ไม่มีเวลาเล่นโซเชียลมีเดีย ป้ายก็น้อย เดินลงไปคนไม่รู้จักก็เยอะ พอเราไม่อยู่ในนามพรรค เราไม่มีฐานเสียง ไม่มี ส.ก. ลงไปเดินให้ทุกวัน ก็จะทำให้เราเข้าไม่ถึงคนบางกลุ่ม ดังนั้น ช่วง 1 เดือนสุดท้ายเราก็พยายามลงพื้นที่ให้หนักขึ้น
ขณะที่ “ศิธา” มองจุดแข็งของตัวเองว่า เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาก่อน ซึ่งทราบดีว่าระบบราชการของ กทม.ไม่เหมาะสมกับการพัฒนา กทม.ให้ดีขึ้น ดังนั้น จะเข้าไปทำงานโดยที่เข้าใจความรู้สึกของข้าราชการชั้นผู้น้อย และจะเปลี่ยนระบบราชการจากการที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ทำงานเพื่อเอาใจผู้ใหญ่เพื่อให้ได้รับการแต่งตั้ง มาเป็นข้ารับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง
“ผมจะเข้าไปทำเป็นตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ผู้อำนวยการเขต จะต้องทำแบบนี้ คิดว่าข้าราชการ 90% อยากเติบโตตามขีดความสามารถไม่ใช่เติบโตตามการเอาใจผู้ใหญ่…ผมจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ตัวเล็กที่สุด ไม่ยึดตำแหน่งแห่งหน จะลงไปทำงานให้ประชาชนเหมือนกับทำงานให้คนคลองเตย”
ส่วนจุดอ่อนนั้น เขาก็ยอมรับว่า เปิดตัวลงสมัครช้า คนเห็นผลงาน อาจไม่ถึง 2 เดือน และคนอาจรู้จักน้อย แต่ในเรื่องของเนื้องาน การที่ไปลงพื้นที่ การคลุกคลีกับประชาชน รู้วิธีการแก้ไข ความเดือดร้อนของประชาชน ในส่วนนี้เป็นจุดที่มาหักล้างกับจุดอ่อนได้