คนต่างจังหวัดในกรุง อยากฝากอะไรถึงผู้ว่า กทม.คนต่อไป

ประชากร เลือกตั้ง กทม
รายงาน

อย่างที่ทุกคนเข้าใจว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นสิทธิและหน้าที่ของชาวกรุงเทพฯ แต่ยังมี “คนต่างจังหวัด” ที่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพ พบเจอปัญหาต่าง ๆ ในเมืองหลวงของประเทศไทย เช่นเดียวกัน 

ถึงแม้คนต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีคุณสมบัติและผ่านทุกเงื่อนไขที่จะสามารถเลือกตั้งผู้แทนได้แล้ว แต่ก็ยัง “ไม่มีสิทธิ” เพราะพวกเขาไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 เผยผลสำรวจ “ประชากรแฝง” ในลักษณะที่เป็นกลุ่มคนที่เข้าไปอาศัยใน กทม. แต่ไม่ได้ย้ายหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนพักอาศัย มีจำนวนราว 7.03 ล้านคน ประกอบด้วย 

  • ประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดอื่น 5.78 ล้านคน 
  • ประชากรมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต่างประเทศ 1.17 ล้านคน
  • ประชากรที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใดเลย 0.08 ล้านคน

หากคัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีอายุถึงเกณฑ์การใช้สิทธิเลือกตั้ง มีจำนวนราว 6.24 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกรุงเทพฯ 4.48 ล้านคน จะพบว่ามีจำนวนมากกว่าเกือบ 2 ล้านคน

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็นกลุ่มคนดังกล่าว ในฐานะที่ต้องใช้ชีวิตและพบเจอปัญหาเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ แต่ไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ พวกเขาสะท้อนปัญหาอะไร ถึงผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป

จัดการถนน แก้ปัญหาน้ำท่วม

นายจรัญ พลเรือง อาชีพอิสระ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดนครราชสีมา มองว่า เรื่องปัญหาของถนน ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ คนไหนที่เข้ามาทำงานก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงอยากให้ช่วยจัดการถนนให้เป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง รอการระบาย 

นางสุ อาชีพค้าขาย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดสุรินทร์ ก็อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป ดูแลปัญหาท่อระบายน้ำ เพราะเวลาฝนตก จะเกิดน้ำท่วม รวมถึงปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่า จะมีใครที่เป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาแก้ไขให้ประชาชนได้

เช่นเดียวกับ นายราชัย ฉลูทอง ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดพิจิตร เล่าว่า ตนมีบ้านอยู่แถวเหม่งจ๋าย ซึ่งอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ไปช่วยแก้ไขปัญหาถนนในจุดนั้น เพราะเวลาฝนตกทำให้เกิดน้ำท่วม บางครั้งหากระดับน้ำสูงถึงฟุตปาธก็ทำให้รถสัญจรไป-มาไม่ได้

กทม. น้ำท่วม
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เพิ่มความชัดเจน ทางม้าลาย

นายอดุลย์ ประดับญาติ อาชีพขับรถตู้โดยสาร มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดปทุมธานี ระบุว่า อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. แก้ไขปัญหาเรื่องของทางม้าลาย ปรับให้มีความชัดเจนมากขึ้น และติดสัญญาณไฟจราจรในจุดสำคัญ ที่มีคนข้ามถนนเยอะ ๆ 

อีกทั้ง ปัญหาทางเท้า นายวรศักดิ์ อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ได้สะท้อนว่า อยากให้มีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น 

ทางม้าลาย

กำจัด “บุหรี่” สูบแล้วทิ้งไม่ลงถังขยะ

นายสมพร ศรีวงษา อาชีพขับรถสามล้อ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดร้อยเอ็ด อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป ดูแลปัญหาเรื่องของขยะทิ้งให้ลงถัง โดยเฉพาะก้นบุหรี่ ที่สูบเสร็จแล้วทิ้งกันไม่เป็นที่

บุหรี่ทำเสี่ยง

อยากมีสิทธิเลือกตั้ง

หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ที่สะท้อนปัญหาได้น่าสนใจ คือ นางสาวเอิง (ชื่อเล่น) อาชีพกราฟิกดีไซน์ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดสิงห์บุรี บอกว่า สิ่งแรกที่อยากได้จากผู้ว่าฯ กทม. คือ อยากมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะในฐานะที่ใช้ชีวิตอยู่ใน กทม. มีการจ่ายภาษีและใช้จ่ายในพื้นที่ กทม. จึงอยากมีสิทธิเลือกตั้งบ้าง 

อีกทั้งยังมองว่า ทุกคนน่าจะอยากได้พื้นที่สีเขียวมากขึ้น โดยยังอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งตนมองว่า อาจจะยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำ 

เลือกตั้ง ผู้ว่า กทม

การสำรวจในครั้งนี้ พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ประชากรกลุ่มดังกล่าวต้องการให้เกิดการแก้ไข ยังคงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน แต่หากมองลึกลงไปถึงปัญหาใกล้ตัว พบว่า ปัญหาถนนหนทาง การจราจร น้ำท่วม ขยะ ยังคงเป็นปัญหาพื้นฐานที่พวกเขาถึงกับเอ่ยปากว่า “ผู้ว่าฯ กทม. คนไหน ก็ไม่เห็นแก้ไขได้สักที”

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 เมื่อไร

สำหรับการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00-17.00 น. พร้อมกันทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ

ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง (เกิดก่อน วันที่ 24 พ.ค. 2547) และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง