ผู้ว่ากทม.คนใหม่ ได้สิทธิคุมโควิดสู่โรคประจำถิ่น

รมว.ท่องเที่ยวฯ หารือผู้ว่าฯกทม. เลื่อนเปิดกรุงเทพฯ ดีเดย์ 15 ต.ค. นี้
ภาพจาก pixabay

เมืองใหญ่ ๆ ของโลกเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะ “ใกล้ปกติ” หลายเมืองเกือบจะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

ตัวอย่างเมืองที่ใกล้เรือนเคียงของประเทศไทย เช่น สิงคโปร์ ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากเมื่ออยู่นอกอาคาร ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565

ที่กัมพูชา นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ประกาศ ยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากนอกอาคารมีผลทันที เว้น ห้องประชุม โรงภาพยนตร์ยังคงบังคับสวม

ส่วนมาเลเซีย นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ให้การใส่หน้ากากเป็นทางเลือกของประชาชน

แม้ว่าไทยเตรียมเข้าสู่การให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเดือนกรกฎาคม แต่ในวาระที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัครตัวเต็งมีไอเดียแก้ปัญหาโควิด-19 ในมุมที่ต่างกัน อาทิ

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ จะติดอาวุธให้เป็นสมาร์ทคลินิกให้บริการทางการแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนแก่ชุมชน จัดหมอ ส่งยาถึงบ้าน สามารถเรียกรถจากศูนย์มารับไปโรงพยาบาล

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เข็นนโยบาย “หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน” ที่เป็นการยกระดับศูนย์สาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ศูนย์หน่วยย่อย 78 แห่ง ให้เป็นศูนย์การแพทย์ทันสมัย มีแพทย์เฉพาะทาง ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่จะทำจะต่อสู้กับภัยโควิดให้มากกว่านี้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล บอกว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีเป้าหมายสำคัญเปิดเมือง เปิดหน้ากาก เปิดการใช้ชีวิต การค้าขาย ให้คนกรุงภายใน 90 วัน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ ขายผลงานที่เคยทำมาแล้ว ว่า ตอนเป็นผู้ว่าฯ ทำศูนย์พักคอย 70 จุด รพ.สนามสีเหลือง สีแดง ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รอยต่อรัฐกับประชาชนลดไปมาก ทำรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ 6 คัน ไม่ได้ใช้งบฯราชการ และรถเก็บตัวอย่างโควิดเคลื่อนที่ ตนเป็นทั้งนักปฏิบัติและนักประสาน เปิดกว้างทางความคิด ถ้ากลับมาใหม่ ขอให้มั่นใจไม่นิ่งนอนใจเรื่องนี้

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ ประกาศว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะส่งเสริมฟ้าทะลายโจรและยาไทยฟรีทุกบ้าน ลดภาระหมอพยาบาล จะกระจายงบฯ 50 ล้านบาท 50 เขต ให้คนในพื้นที่ตัดสินใจทำโครงการ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ มีนโยบาย telemed เอาหมอลงชุมชน ผ่านทางไกล โดย 100 วันแรก เราต้องเริ่มเห็นแล้วว่ามีการนำแพทย์ลงสู่ชุมชน โดยใช้วิธีผ่านทางไกลเชื่อมโยงกับหมอที่ศูนย์

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งดาบอาญาสิทธิ์ที่จะมาพร้อมกับตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อรับการเปิดประเทศ คือ การยกเลิกประกาศปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของคนกรุงเทพฯ ในช่วงก่อนหน้านี้

ซึ่ง กทม.ได้ออกประกาศ กทม. เรื่อง ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว แล้วจำนวนทั้งสิ้น 52 ฉบับ (ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565) และได้ผ่อนคลายความเข้มงวดเป็นลำดับ

แต่กิจการที่ยังล็อกตายไม่ให้เปิดคือ สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งกระทบอาชีพคนทำงานกลางคืน ที่ยังรอคอยการ “ปลดล็อก”

แต่อย่างน้อย ผู้ว่าฯ กทม.ต้องกล้ายืนปะฉะดะ เป็นตัวแทนของคน กทม. ชงให้รัฐบาลกลาง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน กทม.คุมโควิด-19