วิสัยทัศน์ 4 ตัวเต็ง คุณถามมา (ผู้สมัคร) ผู้ว่าฯ กทม.ตอบ

ถามผู้ว่า

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่ตึกข่าวสด เครือ “มติชน” จัดเสวนา “คุณถามมา….(ผู้สมัคร) ผู้ว่าฯ กทม.ตอบ” โดยมี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ และ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทย ร่วมประชันนโยบาย

ทั้งนี้ นายวิโรจน์กล่าวว่า 100 วันแรก ถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะทำได้ใน 3 เรื่อง ต้องรับมือกับน้ำท่วม หรือฝนตกที่จะหนักแน่ ๆ เป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุด งบฯกลางที่อยู่ในมือผู้ว่าฯคนก่อน คิดว่าคงยังใช้ไม่หมด ต้องนำไปบำรุงรักษา รวมถึงเครื่องสูบน้ำ ไว้ใช้กับจุดวิกฤตต่าง ๆ ที่สำคัญ ฝนมาพร้อมกับไฟดับ ทำให้เครื่องสูบน้ำดับลงไปด้วย ซึ่งเราต้องแก้อย่างเร่งด่วน

เราต้องเปิดเมืองให้ได้ ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลคิดว่าทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา แต่เราคิดว่าเปิดให้คนค้าขายได้ในเวลากลางคืน รณรงค์ให้ประชาชนฉีดเข็ม 3 เข็ม 4 สำรองยาโควิด-19 ทำให้คนมั่นใจว่า หากคนที่เรารักติดโควิด-19 จะมีที่รักษา และไม่ซ้ำรอยโครงการไทยร่วมใจ ที่มีการเล่นการเมืองระหว่าง กทม. กับสาธารณสุข

นอกจากนี้ เราจะทำให้สวัสดิการผู้สูงอายุ 1 พันบาทต่อเดือน เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ 3 วันแรก จะเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวได้แล้ว จะได้เลิกดำมืดเสียที

“การทำให้คนมีส่วนร่วมที่ดีที่สุด ทำให้คนเห็นว่าเป็นเจ้าของอำนาจ กระจายอำนาจที่แท้จริง คือ กระจายงบประมาณ ดังนั้นต้องได้ผู้ว่าฯ จากก้าวไกล และ ส.ก.ก้าวไกล เพื่อไปผ่านงบประมาณ จากเดิมที่กระจุกที่สำนักงานเขต และงบฯกลางผู้ว่าฯ กทม. กระจุกอยู่ในมือผู้ว่าฯ ถ้ากระจายลงชุมชน 4 พันล้าน ให้ประชาชนได้โหวตว่าทำอะไร เขาจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเมืองเมืองนี้”

ด้านนายสุชัชวีร์กล่าวว่า ตนประกาศตั้งแต่ต้นว่า ตั้งใจเปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย เป็นต้นแบบอาเซียน สำคัญที่สุด เป็นผู้ว่าฯ กทม. คน กทม.จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี เพราะโลกขณะนี้อยู่บนออนไลน์แล้ว ถ้าคน กทม.เข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีไม่เท่าเทียมกันจะเกิดอะไรขึ้น

ภายใน 4 ปีจะได้เห็นโรงเรียนที่ดีที่สุดใกล้บ้านจริง ๆ ทำให้คน กทม.ไม่เป็นภาระการใช้จ่ายของลูกยาวนาน และทำให้คนยืนเท่ากันให้ได้เสียก่อน นอกจากนี้ โรงพยาบาล 11 แห่งจะดูแลคน กทม.ครบวงจร เพิ่มหมอ บุคลากรทางการแพทย์ บริการสาธารณสุขต้องเป็นที่พึ่งได้ เข้าถึงทุกชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ตั้งใจนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง

“เลือกสุชัชวีร์ ได้อินเทอร์เน็ตฟรีเหมือนเมืองอื่นทั่วโลกเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน 1.5 แสนจุด จุดละ 1,000 mbp นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัย ภายใน 4 ปี กทม.จะสว่างไสว หลอดไฟที่ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง จะกลายเป็นหลอดไฟ LED และซีซีทีวี ที่ไม่ใช่กล้องดัมมี่ จะมี Bangkok job center จะช่วยผ่านระบบออนไลน์ ไปพบนายจ้าง ลูกจ้างต่าง ๆ ได้ แมตชิ่ง ทำให้กลับมาไม่เหมือนเดิม เป็นเมืองที่ทันสมัย ก้าวกระโดด อยากให้มั่นใจว่ามาพร้อมกับความมุ่งมั่น ไม่เอาชื่อเสียงมาทิ้ง อยากให้ดูกระดุมเม็ดแรก” นายสุชัชวีร์กล่าว

ขณะที่นายชัชชาติกล่าวว่า เราอาสาเป็นผู้ว่าฯ กทม. รู้ว่ามีข้อจำกัดเยอะ งบฯ 8 หมื่นล้านไม่ได้เยอะ ต้องเริ่มจากการเข้าใจปัญหาก่อน 2 ปีครึ่งที่เราสัมผัสปัญหาคือ ปัญหาเส้นเลือดฝอย ต้องมีครีเอทีฟในการแก้ปัญหา เช่น เรื่องขนส่ง รถปล่อยควันดำ ต้องระงับได้ ไซต์ก่อสร้างควันดำ ต้องระงับการก่อสร้างได้ เรามีข้าราชการลูกจ้าง 8 หมื่นคน ต้องเป็นผู้นำของเขาอย่างแท้จริง โปร่งใสกับพนักงานทั้งหมด ไม่ใช่ใช้เงินซื้อตำแหน่ง สวัสดิการต้องเพียงพอ

ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ทั้งการจราจร ต้องมี single command center ประชุมทุกเดือน ทำให้เกิดการร่วมมือกัน ถ้าไม่ให้ความร่วมมือต้องเอามาตรการเข้มข้นไปจัดการกับเขา และภาคประชาสังคม ต้องใช้คนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยใช้ทรัพยากรที่เรามี

“เรื่องสตรีตฟู้ด ต้องอยู่ได้โดยไม่เบียดเบียนทางเท้า ทำให้สะอาด เริ่มต้นต้องเริ่มจากลงทะเบียนผู้ค้า ให้ความรู้ และเริ่มหาที่ เพราะไม่ใช่ทุกที่ที่จะทำสตรีตฟู้ดได้ ดังนั้น หาจุด ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ให้ชุมชนมีส่วนตัดสินใจร่วมกัน เหมือนสิงคโปร์ทำ หาที่ให้เหมาะสมเหมือน Hawker Centre” นายชัชชาติกล่าว

น.ต.ศิธากล่าวว่า เรื่องมรดกทางวัฒนธรรม จุดขายของ กทม.คือ มรดกทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น ย่านเก่าต่าง ๆ ต่างชาติอยากมาดู แต่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย เราทำลายย่านเก่า วัฒนธรรมเดิม ๆ เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป กทม.ได้ไปทำลายชุมชน วิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น ชุมชนป้อมพระกาฬ ซึ่งมีฝีมือเรื่องแกะสลักทอง กทม.ได้รื้อชุมชน ทำสวนสาธารณะแม้จะดี แต่ทำลายชุมชน วัฒนธรรม ดังนั้น ฟังเสียงประชาชนว่าจะใช้ภาษีของเขาอย่างไร ดังนั้น จะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ


น.ต.ศิธากล่าวว่า ส่วนการที่ทำให้ กทม.เป็นดิจิทัลฮับนั้น เพราะเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลหมดแล้ว ต่างชาติอยากหาเมืองที่เป็นมิตรกับเศรษฐกิจดิจิทัล ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ในอนาคตเราต้องสร้าง กทม. เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้ กทม.จะให้บริการฟรีไวไฟ ดังนั้น ต้องปลดล็อกกฎหมายที่มีขีดจำกัด จะบอกกับรัฐบาล กทม.ขอเป็น legal sandbox สำหรับยกเว้นกฎหมายที่ขัดขวางการทำมาหากิน