เปิด 2 ข้อร้องเรียน “ชัชชาติ” ยื่นต่อ กกต.กทม.

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เปิด 2 ข้อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. ถูกร้องเรียน ลุ้น กกต.รับรองผิดข้อกฎหมายหรือไม่ หากพบมีความผิดต้องทำอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย ชนะ 50 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ทั้งยังทำลายสถิติคะแนนเสียงที่ 1,386,215 คะแนน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา

ทั้งนี้ ระหว่างที่รอการรับรองผลคะแนนจากทาง กกต. เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการ ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับนายชัชชาติด้วยกัน 2 เรื่อง ประกอบด้วย

ชัชชาติ ถูกร้องเรียนเรื่องอะไร

1. กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ไต่สวนนายชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่

เบื้องต้น กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้กับผู้ใดภายหลังจากการเลือกตั้ง ตามคำกล่าวอ้างของผู้ร้องหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงนโยบายหาเสียงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม นโยบายรีไซเคิลและรียูสสิ่งของ

2. การร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่ กกต.โดยตรง อ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่า ระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงานเพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และยังไม่สามารถระบุได้ว่าตรงกับข้อกฎหมายใด

กกต.ประกาศผลหรือไม่

สำหรับการประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณา หากพบว่า ผู้ว่าฯ กทม. มีเรื่องที่ถูกคัดค้านหรือมีการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อาจจะไม่ประกาศผล ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ระบุว่า กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษหรือไม่ ให้ กกต.สืบสวนหรือไต่สวนให้แล้วเสร็จ และประกาศผลการเลือกตั้ง หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง