ฟังความ ชัชชาติ – อนุพงษ์ – วิษณุ รถไฟฟ้าสายสีเขียวไปต่ออย่างไร

ชัชชาติ

การชนะแลนด์สไลด์ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จุดประเด็นปัญหาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชนดำเนินการต่อไปอีก 30 ปี ให้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะตัดสินใจอย่างไร

หลังจากเรื่องดังกล่าว ถูกชักเข้า – ชักออกในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายรอบ เมื่อพรรคภูมิใจไทย แกนนำเบอร์สองในรัฐบาลที่คุมกระทรวงคมนาคม ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทาน ถึงขั้นรัฐมนตรีภูมิใจไทย 7 คน “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมประชุม ครม.

และบีบให้กระทรวงมหาดไทย ตอบคำถาม 4 ข้อ ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรี เจ้ากระทรวง ให้ชัด ให้เคลียร์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า

ขอเวลา 1 เดือน สางปัญหา

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ต้องยึดประโยชน์ของประชาชน และต้องให้ความยุติธรรมกับภาคเอกชน ชัชชาติ เตรียมเข้าไปตรวจสอบใน 3 เรื่อง 1.เรื่องหนี้ที่ กทม.ไม่มีไปใช้ให้กับภาคเอกชนรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนนี้ทราบว่ามีหนี้ที่เกิดจากโครงสร้างงานโยธาที่รัฐบาลสร้างไว้ และโอนมาให้ กทม.รับหนี้ ดังนั้นต้องถามว่าเป็นการรับหนี้ที่ถูกต้องหรือยัง

เพราะที่ผ่านมาหลายโครงการรถไฟฟ้า รัฐบาลก็จะช่วยรับในส่วนของโครงสร้างงานโยธา มีแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้ที่ กทม.รับโอนหนี้มา จึงต้องเข้าไปดูในรายละเอียด เพราะหากรัฐบาลรับหนี้ส่วนนี้ไป จะทำให้ กทม.ลดภาระหนนี้ไปอีก 4-5 หมื่นล้านบาท

2.สัญญาการว่าจ้างเดินรถ ขณะนี้ทราบว่า กทม.ไม่ได้จ้างเอกชนเข้ามาทำสัญญาเดินรถโดยตรง แต่เป็นการจ้างผ่านกรุงเทพธนาคม ซึ่งบริษัทนี้ กทม.ถือหุ้นอยู่ และเรียกว่าเป็น “หลุมดำ”

เพราะการทำสัญญาผ่านกรุงเทพธนาคมทำให้ กทม.ไม่สามารถดูรายละเอียดของสัญญาอย่างชัดเจนได้ และเบื้องต้นทราบว่ามีเงื่อนไขระบุในสัญญาจ้างเดินรถด้วยว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลภายนอก

รวมถึงสัญญาการว่าจ้างเดินรถทราบว่าที่ผ่านมา “สภา กทม.” ก็ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติให้ทำสัญญาฉบับนี้ เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารกรุงเทพธนาคม ซึ่งหลายส่วน กทม.ก็ไม่ได้ดูในรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นการว่าจ้างโดยไม่ได้จัดทำผ่าน พรบ.ร่วมทุน

และปัจจุบันเรื่องนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ต้องดูรายละเอียดในเรื่องนี้อีกที

“การจ้างเดินรถที่ทำสัญญาถึงปี 2585 ส่วนตัวจะเร่งเข้าไปตรวจสอบรายละเอียด และดูการพิจารณาของ ป.ป.ช.ประกอบด้วย หากพบว่าเป็นการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ก็คงต้องดำเนินการให้ถูกต้อง โดยหากต้องยกเลิกสัญญาก็จะทำให้การเปิดคัดเลือกเอกชนเดินรถส่วนนี้จะสอดคล้องไปกับสัญญาสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในปี 2572”

“และต้องสรรหาเอกชนร่วมลงทุนใหม่ แต่เน้นย้ำว่าเรื่องนี้ต้องไปดูว่าสามารถยกเลิกสัญญาได้ไหม ถ้าสัญญาดำเนินการอย่างถูกต้อง ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชน ถ้าถูกต้องก็ต้องหาเงื่อนไขอื่นไปต่อรองราคาค่าโดยสารให้เกิดประโยชน์กับประชาชนเป็นที่ตั้ง”

3.การพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าที่กำลังจะหมดอายุในปี 2572 เรื่องนี้ต้องชี้แจงว่า แนวทางการต่อสัมปทานไม่ได้เป็นข้อเสนอของ กทม. แต่เป็นข้อเสนอของ ม.44 และไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุน จึงทำให้การคำนวณอัตราค่าโดยสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในราคาสูงสุด 65 บาท

ไม่ได้เกิดการตรวจสอบว่าถูกหรือแพงเกินไป เพราะไม่ได้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน ทำให้ไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เราคิดว่ามันเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อโปร่งใสและเป็นธรรมก็คือการเข้า พรบ.ร่วมทุน เกิดการแข่งขัน

และส่วนตัวเชื่อว่าถ้ามีเงื่อนไขกำหนดในสัญญาว่าเอกชนที่จะได้สัมปทานรับหนี้ไปด้วย เชื่อว่าเอกชนก็รับได้ และเรื่องดีคือจะเกิดการแข่งขันด้านราคาค่าโดยสารอีก อธิบายสังคมได้ง่ายขึ้น

“เรื่องการพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้า ส่วนตัวผมว่าเรื่องนี้ยังมีเวลาเพราะสัมปทานจะหมดในปี 2572 ระหว่างหนี้ก็ยังสามารถดำเนินการได้ หาแนวทางที่เหมาะสมและตอบคำถามประชาชนได้”

ชัชชาต บอกว่า ขอเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จากการเข้าไปดูสัญญาทุกฉบับเรื่องนี้ ตรวจสอบกระบวนการรับหนี้ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จึงจะมีคำตอบว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งจะขอเวลาในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวในระยะเวลา 1 เดือน ก็จะได้คำตอบให้ประชาชนทราบ เชื่อว่ากรุงเทธนาคมมีคำตอบอยู่แล้วในสิ่งที่ประชาชนต้องการคำตอบ

มท.1 โยน ผู้ว่า กทม.-สภา ใหม่ชี้ขาด

“พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ “กำกับ” กทม. ตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ว่า ไม่มีการไปต่อสัญญาสัมปทาน 13 ปี ไปถึงปี 2585 มีเพียงเรื่องการจ้างเดินรถ ผิดถูกอย่างไร ป.ป.ช.กำลังดำเนินการอยู่ ความโปร่งใส ไม่โปร่งใสนั้น ในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เอง ก็มีการพิจารณาในประเด็นนี้ ซึ่งสำนักงานกฤษฎีกา ก็ชี้ว่าในส่วนการดำเนินการมีผลถูกต้อง

แต่คนทำจะถูกผิดนั้นต้องสอบสวนอีกเรื่องหนึ่ง มันคนละเรื่องกัน ชี้แจงให้เข้าใจว่า 1.ยังไม่มีการต่อสัมปทานใดทั้งสิ้น โครงการหลักยังอยู่ที่ปี 2572 โครงการใหม่ยังไม่มี กทม.จ้างเดินรถอยู่ยังไม่ได้ทำสัมปทานให้ใครทั้งสิ้น เพื่อให้เดินรถได้

2.ในส่วนการกำกับดูแล ก็ยืนยันว่า มีการจ้างเดินรถ ไม่มีการต่อสัมปทาน คณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้มาว่ามีผลดำเนินการ จึงยังไม่ตั้งกรรมการตรวจสอบ ต่อเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มาว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง จึงจะมีการตั้งกรรมการ ไม่มีการปล่อยปละละเลย ยึดบนผลประโยชน์ของประชาชน ถูกต้องตามกฎหมาย จึงยังไม่มีการลงมติใด ๆ ทั้งสิ้น

“ขณะนี้ จะถามกลับไปที่ กทม. ซึ่งมีผู้บริหารใหม่ สภาใหม่ กำหนดแนวทางว่าจะทำอย่างไร ผมไปขอทราบ แต่คงไม่ให้ไปตนร่วมคิด หากเขาแจ้งกลับมาว่าทำได้เองก็จบ เรื่องของ คสช.ทั้งหมด ไม่ต้องไปสนใจ 65 บาท หรือเท่าไหร่ก็ไม่ต้องไปสนใจ ต่อสัญญาหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจ อยู่ที่ว่า ผู้บริหารใหม่ และ สภาใหม่จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร แต่ต้องอยู่บนผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน“

ชี้ช่อง พ.ร.บ.ร่วมทุน รื้อคำสั่ง คสช.

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ วันที่ 27 พฤษภาคม พูดถึงกระบวนการพิจารณาสางปมปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยต้องถามแนวทางจากผู้ว่าฯ กทม.เนื่องจาก เรื่องมาจากกทม. แต่กระทรวงมหาดไทยเป็นคนเสนอเข้ามายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะกำกับดูแล แต่ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง เป็นเรื่องของ กทม.ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็จะกระทบกับกทม. สมมุติไม่เห็นชอบ ฝ่ายที่ควักเงินจ่ายก็ต้องใช้เงิน กทม.

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบตาม กทม.เสนอ เพราะถึงเวลาอาจต้องเสียเงินเสียทองใช้งบประมาณแผ่นดิน ครม.ก็มีสิทธิที่จะคิด ดังนั้น สุดท้ายต้องมาจบที่ครม. แต่ต้องให้ กทม.ตั้งต้นว่าจะเอาอย่างไร ส่วนเรื่องสายสีเขียวที่ค้างอยู่นั้น ไม่จำเป็นต้องถอน เพราะยังไม่ได้นำเข้า ครม. เรื่องนี้มาจากกระทรวงมหาดไทย ถ้าหากเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่จึงค่อยถอน

ผู้สื่อข่าวถาม วิษณุ ว่า ต้องเริ่มกระบวนการใหม่หรือไม่เพราะผู้ว่าฯกทม.เป็นคนใหม่

“อย่าเพิ่งไปพูดขนาดนั้นเอาแค่ว่ากทม.จะเอาอย่างไร ตนถึงจะตอบได้ว่าต้องไปเริ่มใหม่หรือไม่ กทม.อาจคิดนิดหน่อยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือให้ปรับก็ให้เวลากทม.เขาคิดหน่อย”

ส่วน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่ากทม. ระบุจะใช้พ.ร.บ.ร่วมทุน นายวิษณุกล่าวว่า “แล้วแต่เขา”

เมื่อถามว่าสิ่งที่ได้เจรจาไปก่อนหน้านี้แนวทางคำสั่ง คสช.ต้องรื้อใหม่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า “ถ้าใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนมันก็ต้องยกเลิก มีคนเคยคิดเยอะในครม.ก็คิดก็ที่พรรคภูมิใจไทยท้วงเขาอยากให้ใช้พ.ร.บ.ร่วมทุน”