เปิดขั้นตอนร้องเรียน ป้ายหาเสียง “ชัชชาติ” ก่อนรับรองผู้ว่าฯ กทม.

ศรีสุวรรณ ป้ายหาเสียงชัชชาติ
PHOTO : FACEBOOK ศรีสุวรรณ จรรยา

เปิดขั้นตอนการร้องเรียนป้ายหาเสียงตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ก่อนรับรอง “ชัชชาติ” ส.ก. 50 เขตบ่ายวันนี้ 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 13.00 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเสนอรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง โดยเป็นการนำเสนอผลคะแนนในส่วนของผู้บริหารจำนวน 1 ตำแหน่ง และสมาชิกจำนวน 50 ตำแหน่ง

สำหรับผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ ได้รับคะแนน 1,386,215 คะแนน ส่วน ส.ก. ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท) 20 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 9 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 คน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 2 คน

นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.รวม 24 คำร้อง โดยเฉพาะการร้องเรียนเรื่องการปิดป้ายหาเสียงไม่ถูกต้อง จากการร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

อย่างไรก็ตาม กรณีป้ายชัชชาติที่ศรีสุวรรณร้องตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 (1) ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ด้วยการจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

ขั้นตอนก่อนรับรอง แบ่งเป็น 2 กรณี ตามมาตรา 106 กำหนดว่า

กรณีแรก เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครได้รับรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง แล้วเห็นว่าการเลือกตั้งและการนับคะแนนเลือกตั้งเป็นไปโดย “สุจริตและเที่ยงธรรม” ให้รายงานต่อ กกต.เพื่อประกาศผลการเลือกตั้ง

กรณีที่สอง ในกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการฝ่าฝืนมาตรา 65 หรือมีกรณีอื่นที่ทำให้การเลือกตั้ง “มิได้” เป็นไปโดย “สุจริตหรือเที่ยงธรรม” ให้รายงานต่อ กกต.โดยพลัน

เมื่อ กกต.ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร หรือเมื่อมีกรณีที่ กกต.มีเหตุ “อันควรสงสัย” โดยมีหลักฐานตามสมควรว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 65 หรือมีกรณีอื่นที่ทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

ให้ กกต.ไต่สวนโดยพลัน ถ้าผลการไต่สวนปรากฏว่ามีมูล ให้ กกต.มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่