คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ
แสง-สี-เสียง บนโพเดียม ตึกนารีสโมสร ไม่เคยลาจอ-ไร้เรื่องราวกล่าวขาน โฆษก-รองโฆษกรัฐบาล หลายยุคสมัยใช้เป็นขั้นบันได ไต่ขึ้นสู่เก้าอี้รัฐมนตรี
“รัชดา ธนาดิเรก” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เล่าเรื่องหลังไมค์-หลังตึกนารีสโมสร กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงงานในตำแหน่ง “รองโฆษกรัฐบาล”
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี มีทั้งความเอิบอิ่ม-อึดอัด และการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจไม่ให้กระแสข้อมูลข่าวสารกระชากออกไปให้หลุดโลก
รู้จักตัวเองมากขึ้น
3 ปีเต็ม บนโพเดียม ตึกนารีสโมสร “รัชดา” เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ลับเขี้ยว-คมการเมือง เพิ่มบทใหม่ให้กับชีวิตนักการเมืองหญิงจากค่ายประชาธิปัตย์ จนทำให้เธอ “รู้จักตัวเองมากขึ้น”
“เราชอบที่จะเป็นผู้แทนราษฎร ชอบทำงานสัมผัสกับประชาชน รับรู้ปัญหาและความทุกข์ของชาวบ้าน เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐเพื่อให้ได้รับการแก้ไข”
ถือว่าเป็นโชคดีที่ได้มาทำงานในทำเนียบรัฐบาล ทำให้รู้จักระบบราชการทั้งองค์กร และเข้าใจกลไกระบบราชการว่า ไม่ใช่นักการเมืองอย่างเดียวที่จะขับเคลื่อน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเพียงแค่ฝ่ายนโยบาย
“ผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้น คือ ข้าราชการ แต่สำคัญคือประชาชน หลายเรื่องนโยบายดี งบฯลงไป แต่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ก็มี”
“บ้านเมืองจะไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ร่วมใจ ทำให้ตระหนักมากขึ้น ไม่บ่น”
แต่ก่อนถ้าเราไม่เข้าใจการทำงานของระบบราชการ ไม่เข้าใจการเมือง เราก็จะว่านักการเมือง ข้าราชการ รัฐมนตรี แต่วันนี้พอเราเห็นภาพใหญ่ ทุกคนสำคัญหมด กลไกไหนฝืด เป็นปัญหา สามารถทำให้ภาพรวมไม่มีประสิทธิภาพได้
ทว่า “รัชดา” มองเห็นโอกาสของการสร้างสมดุลระหว่างนักการเมืองที่ต้องทำประโยชน์กับฐานเสียงในพื้นที่-พรรคการเมืองต้นสังกัด ไปพร้อมกับการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลในตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล
“แม้ว่าเราไม่มีเวทีสภา แต่เราสามารถประสานเรื่องนั้นโดยตรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ นอกจากการให้ข้อมูลในบทบาทของรองโฆษกรัฐบาล พี.อาร์.รัฐบาล แต่เราจะยึดหลักเสมอว่า พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน”
รักษามาตรฐาน ชีวิตเรียบง่าย
“รัชดา” สวมหมวกรองโฆษกรัฐบาลอยู่ใน ครม. ตั้งแต่วันแรก-เข้าสู่วาระ 1 ปีสุดท้ายของรัฐบาล เห็นฟอร์มการเล่นของพรรคร่วมรัฐบาล แต่เธอแบ่งรับแบ่งสู้ที่จะให้คะแนนความเป็นรูปธรรม-จับต้องได้มากที่สุด
“(หัวเราะ) ทุกพรรคนะ แต่ต้องยอมรับ 2 ปีกว่ามีโควิด-19 เข้ามา งบประมาณที่จัดสรรไปเกี่ยวข้องกับโควิดเป็นหลัก หลายเรื่องก็ทำได้ตามเป้า บางเรื่องไม่เป็นไปตามเป้า”
“รัชดา” บอกถึงข้อจำกัดที่ทำให้นโยบายของรัฐบาลไม่ติดหู-ไม่ติดตาประชาชนว่า การสื่อสารในยุคนี้ลำบากมากในการให้ไปถึงประชาชน แม้จะมีโซเชียลมีเดีย แต่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะบริโภคข่าวสารหลากหลายช่องทาง
“รัชดา” เคยมีความคิด-อ่านชั่วขณะที่จะกระโดดข้ามกำแพงข้อมูลข่าวสาร ออกนอกกรอบจากข้อจำกัด-ถอดหัวโขนความเป็นรองโฆษกรัฐบาลออก เพื่อสร้างตัวตนให้มีอิทธิพลในสื่อโซเชียล เป็น “อินฟลูเอนเซอร์” แต่สุดท้ายต้องล้มเลิกความคิด
“ความเป็นตัวเรานี่แหละ การรักษามาตรฐาน เป็นคนที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง อาจจะมีแคแร็กเตอร์ไม่สอดคล้องกับคนที่จะอยู่ในโซเชียลยุคนี้ ยอมรับว่าเป็นข้อจำกัด เราเป็นคนที่มีชีวิตไม่หวือหวา เรียบง่าย ไม่ค่อยอยากออกสื่อ”
“เคยคิดเหมือนกันว่า อาจจะให้มีตัวแมสคอตของสำนักโฆษก ถ้าส่วนราชการไม่มีตัวบุคคลที่จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือตัวเราเป็นรองโฆษกวันนี้ แต่อนาคตไม่ใช่ ความเป็นสำนักโฆษกต้องอยู่ เราจะต้องทำอะไรให้มัน sustain ต่อให้ไม่มีเรา”
เธอจึงคิดออกจากกรอบไปไกล จนกลายเป็นความคิดมุมกลับจากโฆษกรัฐบาลในอดีตที่ใช้ลีลา-วาทศิลป์บนโพเดียมตึกนารีสโมสร เพื่อเป็นบันไดทางการเมืองขั้นต่อไป
เชื่อถือได้-พูดความจริง
“รัชดา” อยากให้คนจดจำภาพ “ดร.รัชดา” ให้สมกับหน้าที่เกียรติยศที่แบกรับในตำแหน่ง “รองโฆษกรัฐบาล” ว่า
“เป็นทีมโฆษกที่มีความน่าเชื่อถือ ไว้ใจเราได้ สิ่งที่เราพูด เราพูดความจริง พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์”
“รับผิดชอบหน้าที่ให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด ผลงานจะเป็นตัวนำทางไปสู่โอกาสดี ๆ แต่อย่าคิดว่า มาเป็นตรงนี้เพื่อจะดัง ความดังไม่มีความหมายสำคัญเสมอไปในทางการเมือง”
“ถ้าดังแบบกะโหลกกะลา ดังแบบไร้สาระ คนจำภาพรองโฆษกที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ต้องมีมาตรฐาน พูดด้วยความรู้ แต่งกาย บุคลิกภาพจะทำให้รัฐบาลเสียหายไม่ได้ ให้ประชาชนเสียชื่อไม่ได้”
“เราจะแสดงออกอย่างจริงใจ พร้อมตอบทุกคำถาม ยุคนี้ต้องทำงานอย่างโปร่งใส ไม่เอาต้นทุนทางสังคมที่เรามีให้หายไปกับเพียงเพื่อที่อยากจะดัง”
“ถ้าเราจะไม่เป็นนักการเมือง จบตรงนี้ไปก็อยากให้คนมองเราว่าเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเรา เป็นนักการเมืองที่ไว้ใจได้ เชื่อใจได้ ฟังรองโฆษกคนนี้พูดแล้ว พูดความจริง”
“ประชาชนอยากรู้เรื่องอะไร สิ่งที่กังวลคืออะไร จะสื่อสารกับประชาชนให้รับรู้ว่า รัฐบาลทำเรื่องนี้เพื่อแก้ปัญหาอะไร ทำไปถึงไหนแล้ว วันนี้ปัญหาของประชาชน สิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาลคืออะไร แล้วรัฐบาลทำอะไรให้ไปแล้ว”
“ต้องมีมาตรฐาน ในแง่หนึ่งเราก็เป็นตัวแทนรัฐบาล ต้องพูดในสิ่งที่ไม่เป็นลบ ต้องเป็นความจริง เป็นศิลปะ เราจะสมดุลอย่างไรไม่ให้ประชาชนคิดว่าเรามาเยินยอรัฐบาล เน้นพูดความจริงที่เป็นประโยชน์”
ลงมือเขียนข่าวเองทุกขั้นตอน
ก่อน-ระหว่าง-หลังการประชุม ครม. ก่อนที่ฉากแถลงข่าวจะออกมาสู่สายตาสาธารณะ เธอลงมือเองทุกขั้นตอน
“ด้วยความที่เราเป็นอาจารย์ ข่าวที่ส่งทุกวันนี้จะเขียนเองเป็นหลัก หรือมีเจ้าหน้าที่ช่วยยกร่างขึ้นมา แล้วเราต้องมาปรับแก้ แต่ก่อนจะทำเอง เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครทำถูกใจเรา เหมือนเป็นรีไรเตอร์”
“รัชดา” บอกสิ่งที่ “ยากที่สุด” คือ หนึ่ง จะสื่อสารอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ เพราะเอกสาร ครม. เป็นภาษาราชการ ต้องมาปรับใหม่ จากภาษาราชการเป็นภาษาพูด แล้วมาปรับเป็นภาษาเขียน
“การปรับภาษาที่จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมันยากนะ ต้องใส่ใจ และความยากที่สอง คือ กลัวเขียนออกมาแล้ว สื่อพาดหัวผิด จะเครียดทุกวันอังคาร ต้องคอยเช็กว่าใครพาดหัวอะไร เวลาให้ข่าวจึงต้องมี press release”
“ความยากอีกอันหนึ่งในยุคที่มีสื่อโซเชียลคือ ต้องคอยอ่านทุกเรื่อง เพราะทุกวันส่วนราชการจะให้ข่าวเยอะมาก บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่า แต่ละที่ทำอะไร แต่คนจะยกหูมาถามเราแล้ว”
“จากเดิมเราเป็นคนไม่ชอบเล่นไลน์ เราไม่ชอบโซเชียล เราใช้เฟซบุ๊ก ใช้ทวิตเตอร์ ในฐานะที่เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ไม่ใช่คนเสพติด แต่ทำให้คนรู้พอประมาณ เช่น ไปลงพื้นที่”
“แต่วันนี้ต้องให้คนรู้ทุกเรื่องว่าเราทำอะไร แล้วเราก็ต้องขยันโพสต์เพื่อให้เรามีตัวตน ใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ มันก็ฝืนเหมือนกันนะ”
“เราไม่ใช่มนุษย์โซเชียล แต่เราก็รู้ที่จะใช้เพื่อเสริมงานการเมือง พยายาม แต่ก็ฝืนอยู่ เพื่อที่จะไม่ให้เรารู้สึกว่า ตัวเองหลุดโลกเกินไป”
“แต่จะโพสต์อะไรก็ต้องมีประโยชน์ เป็นนักการเมืองคนจับจ้องอาจมีอคติกับเรา จึงต้องระวังมากกว่าคนทั่วไป ไม่อยากให้คนรู้สึกว่าเราขี้อวด”
ไม่หิวแสง-ไม่ใช่วอลเปเปอร์
โลกการเมืองที่สู้กันด้วยเวทีโซเชียล นักการเมืองจำนวนมากค้นหาหนทางที่จะอยู่ในจุดสนใจ แต่เธอ “ไม่แคร์”
“ถ้าต้องกระเสือกกระสนไปทำอะไรที่ไม่ใช่แก่นของนักการเมือง ไม่ทำและไม่แคร์ ถ้าสมัยหน้าจะไม่ได้เป็นนักการเมือง ไปทำอย่างอื่นก็ได้ อยู่ตรงไหนของสังคมก็มีคุณค่าได้”
“เรารู้ว่าเราชอบอะไร คุณค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ตำแหน่ง ไม่แคร์ว่าต้องอยู่หน้าจอ เป็นวอลเปเปอร์ ไม่สนใจ ไม่ต้องมีคนฟอลโลว์ ถ้ามีฟอลโลว์เฟซบุ๊ก กดไลก์เราก็ดีใจ แต่เราไม่ได้รู้สึกว่า ทำไมไม่มากดไลก์ฉัน”
“ไม่ได้กระหาย ไมได้หิวแสง เพราะไม่ได้มีความหมายกับชีวิตเราในระยะยาว เราจะเป็นนักการเมืองได้อีกเท่าไหร่ อย่างมากก็ 2 สมัย ถ้าโชคดี”
“สุดท้ายก็ต้องไปมีชีวิตของเรา ทำตัวให้มีคุณค่าบนพื้นฐานของโอกาสที่เราจะมี เป็นอะไรก็ได้ วันนี้ชัดเจนกับเส้นทางการเมือง happy มาก อยากจะเป็นต่อ แต่ไม่เป็นก็ได้ เพราะรู้ว่า สิ่งที่จะทำได้ในอนาคตแล้วเป็นประโยชน์ยังมีอีกมาก” รัชดาทิ้งท้าย