ดร.เดชรัต เปิด 10 ข้อ หนี้จำนำข้าวไม่เยอะเท่าประยุทธ์พูด

ดร.เดชรัต ยก 10 ข้อ หนี้จำนำข้าวไม่ได้เยอะเท่าประยุทธ์พูด ชี้หนี้ประกันข้าวรัฐบาลนี้ เท่าจำนำข้าวแล้ว

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นกรณีโครงการจำนำข้าว ซึ่งนายกรัฐมนตรียกขึ้นมาโจมตีฝ่ายค้านในการอภิปรายงบประมาณปี 2566 ผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า

หนี้จำนำข้าว จริงหรือไม่ ?

มีเพื่อนสอบถามมาเยอะว่า สิ่งที่นายกฯ กล่าวในสภาฯ เมื่อวานนี้ เกี่ยวกับหนี้จำนำข้าวเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ? ถ้าจะตอบสั้น ๆ ก็มีทั้ง “จริง” “ไม่จริง” และ “พูดไม่หมด”

ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นกันที่คำกล่าวของนายกฯ กันก่อน ส่วนที่นายกฯ กล่าวในสภาฯ คือ

“ถ้าพูดเรื่องข้าวที่พูดว่างบฯวันนี้เป็นงบฯในอดีตไม่ใช่อนาคต ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โครงการจำนำข้าว ขาดทุนกว่า 9.5 แสนล้านบาท รัฐบาลนี้ตั้งงบฯชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท คงเหลือเงินต้น และดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้านบาท เงินตรงนี้ถ้าอยู่เอามาทำอะไรได้อีกเยอะ ถามว่าใครทำเอาไว้ ผมก็ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะย้อนกลับ”

คราวนี้ เรามาดูข้อเท็จจริง 10 ประการ จากงบการเงินประจำไตรมาส ล่าสุดของ ธ.ก.ส. งวดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (หรือปลายปีที่แล้ว) และเอกสารร่างบประมาณประจำปี 2566 กัน

ในรายงานงบการเงินฉบับดังกล่าวระบุว่า

หนึ่ง การจำนำสินค้าเกษตรทุกประเภท ตั้งแต่ปี 2551-2557 ใช้เงินไป 960,665.35 ล้านบาท ย้ำว่า “ใช้เงินไป” ไม่ใช่ “หนี้” อย่างที่นายกฯ กล่าว

สอง เมื่อใช้ไปแล้ว หากมีการไถ่ถอนหรือขายผลผลิตออกไป เงินนั้นก็จะกลับเข้ามานะครับ ซึ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เงินนั้นกลับเข้ามาแล้ว 403,508.36 ล้านบาท ครับ

สาม เพราะฉะนั้น ส่วนที่ขาดทุน และเหลือเป็น “หนี้” ที่ต้องชำระจริง ๆ คือ 557,157 ล้านบาทครับ (ซึ่งก็ไม่น้อยนะครับ แต่ตัวเลขที่นายกฯ กล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องครับ)

สี่ จาก 557,157 ล้านบาท รัฐบาลมีการโอนงบประมาณเพื่อชำระหนี้ไปแล้ว 276,462 ล้านบาท ไม่ใช่ 781,000 ล้านบาท อย่างที่นายกฯ กล่าว ผมเข้าใจว่า นายกฯ เอาตัวเลขที่ไถ่ถอน/ขายผลผลิตไปรวมด้วย จึงได้ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนเกินจริงเช่นนั้น

ห้า หนี้ที่เหลือคงค้างอยู่จึงเหลือประมาณ 280,694 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่นายกฯ กล่าว

หก ในปีงบประมาณ 2566 นี้ รัฐบาลก็ตั้งงบประมาณชำระหนี้ส่วนนี้อีก 26,649 ล้านบาท ซึ่งถ้าตั้งชำระในอัตรานี้ คาดว่า หนี้จากจำนำข้าวน่าจะอยู่กับระบบงบประมาณไปอีกกว่า 10 ปี

เจ็ด สิ่งที่นายกฯ ไม่ได้กล่าวก็คือ ในช่วงเวลา 2-3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 รัฐบาลปัจจุบัน (ไม่นับรวมรัฐบาล คสช.) ได้สร้างหนี้เพิ่มจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว และอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 247,250 ล้านบาท

ขอย้ำว่า นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึง “หนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อ 247,250 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 ปี เลย”

แปด จากหนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรและอื่น ๆ 247,250 ล้านบาท รัฐบาลตั้งชำระหนี้ที่ตนเองก่อไว้ในปีงบประมาณ 2566 นี้ 44,212 ล้านบาท

เก้า เมื่อรวมทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มูลหนี้จากนโยบายรัฐบาลที่รัฐบาลติดค้าง ธ.ก.ส. ไว้ในปัจจุบัน เท่ากับ 887,831.3 ล้านบาท

สิบ ถ้านำเงินเกือบ 900,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ไว้ มาเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า หนี้ดังกล่าวเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับในปีงบประมาณ 2566

นี่คือสิ่งที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรียกว่า ระบบงบประมาณแบบ “ช้างป่วย”

สรุปสั้นๆ สุด (ก) หนี้จำนำข้าวมีอยู่จริง (ข) แต่ไม่ได้มากที่ประยุทธ์กล่าว (ค) ที่สำคัญ ประยุทธ์สร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก เท่า ๆ กับหนี้จำนำข้าวที่เหลืออยู่เดิม (ง) ประยุทธ์ไม่กล่าวถึงหนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อขึ้น (จ) ประยุทธ์โทษแต่คนอื่น (หรือรัฐบาลที่ผ่านมา)

เราไม่อาจยอมรับ “รัฐบาลที่ไม่บอกความจริงให้ครบถ้วนได้อีกต่อไป” มิฉะนั้น ประเทศจะป่วยยิ่งกว่านี้