งบประมาณ 2566 : ประยุทธ์ ฉายภาพวงเงิน 3.18 ล้านล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกฯ ชี้แจงงบประมาณปี 66 จำแนกตาม 6 ยุทธสาสตร์ อัดงบกลางสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น 9.59 ล้านบาท

วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท วาระที่ 1 รับหลักการ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมด้วย

พล.อ.ประยุทธ์นำเสนอหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ว่าการดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 6.95 แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3.18 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาลมีจำนวน 9.47 ล้านล้านบาท ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีจำนวน 3.98 แสนล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนฐานะและนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ จะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปี 2565 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย

“สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง

“คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

“ส่วนฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2564 มีจำนวน 2.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.26 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.95 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14

ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 พันล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ

อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.4 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 5.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 7.59 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 1.22 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 6.58 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของวงเงินงบประมาณ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 4.02 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ

นายกฯกล่าวว่า ส่วนรายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.59 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ