ศึกตระกูลใหญ่ใน ประชาธิปัตย์ ทำโพล ตัดเชือกชิง ส.ส.เขตภาคใต้

จุรินทร์ ประชาธิปัตย์

หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย เหลือเวลาอีก 8 เดือนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566

และไม่เกิน 45 วัน หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ 4 ปี จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่เคยได้ชื่อว่า “พรรคสะตอ” เพราะฐานที่มั่นส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ หมายมั่นว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะขอคัมแบ็ก-กวาดที่นั่ง 80%

“จุรินทร์” เดินสายออนทัวร์เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้เกือบจะครบทั้งหมดแล้ว อาทิ สงขลา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา 9 เขต ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 นายสรรเพชญ บุญญามณี บุตรชายนายนิพนธ์, เขตเลือกตั้งที่ 2 นายนิพัทธ์ อุดมอักษร เลขานุการนายก อบจ.สงขลา, เขตเลือกตั้งที่ 3 นายสมยศ พลายด้วง นักธุรกิจ, เขตเลือกตั้งที่ 4 นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว อดีต ส.ส.สงขลา

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคใต้, เขตเลือกตั้งที่ 6 น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ส.ส.สงขลา, เขตเลือกตั้งที่ 7 นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา, เขตเลือกตั้งที่ 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา และเขตเลือกตั้งที่ 9 นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง บุตรชายนายเดชอิศม์

ปัตตานี 4 เขต ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ 1 นายสนิท นาแว เขตเลือกตั้งที่ 2 นายมนตรี ดอเลาะ เขตเลือกตั้งที่ 3 นายยูนัยดี วาบา เขตเลือกตั้งที่ 4 นายนาวี หะยีดอเลาะ

Advertisment

นราธิวาส 3 เขต ประกอบด้วย นายเมธี อรุณ นักร้องดังวงลาบานูน นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย และนายกูอาเซ็ม กูจินามิง

จุรินทร์บอกว่า “ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้เก้าอี้แค่ 23 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า ขอให้ได้ 30 หรือ 40 ที่นั่ง”

Advertisment

“ผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำได้ และพรรคประชาธิปัตย์จะคัมแบ็กอย่างแน่นอน และมั่นใจว่าถัดจากนี้ไปประชาธิปัตย์จะเดินขึ้น และต้องได้ ส.ส.มากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา”

แต่อย่างที่รู้กันว่า พรรคประชาธิปัตย์ในยุคต่ำร้อย มีสภาพประหนึ่ง “พรรคแตก” มาช้านาน

นักการเมืองรุ่นเก๋า-เก่าในพรรคประชาธิปัตย์ แยกตัวไปสร้างดาวดวงใหม่ก็หลายคน ส่วนคนรุ่นเก่าที่ยังอยู่ในพรรคก็ยังเกิดการเผชิญหน้าในการทำการเมืองหลายพื้นที่

อย่างกรณี “อันวาร์ สาและ” เป็น ส.ส.เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์มาติดต่อกัน 4 สมัย ก็ไม่มีชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.

ความขัดแย้งปะทุมาถึงการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “จุรินทร์-นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค รมช.มหาดไทย”

อันวาร์กล่าวในตอนที่รู้ตัวว่าไม่มีชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 ปัตตานี ว่า ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการตนอีกต่อไป ทั้งที่เป็น ส.ส.ของพรรคเพียงคนเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตนจึงจําเป็นต้องอ้างถึงนายนิพนธ์ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลมากต่อการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ภายในพรรค ซึ่งการตัดสินใจบางอย่างอาจเป็นการทําให้เกิดความแตกแยกในพรรคมากยิ่งขึ้น

นอกจากกรณี “อันวาร์” ที่ปัตตานียังมีบางจังหวัด-บางเขต-บางพื้นที่ที่ยังมีปัญหาทับที่-ทับเส้นระหว่างบ้านใหญ่-ขาใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์

เช่น จังหวัดตรัง…บ้านใหญ่ โล่สถาพรพิพิธ ที่มีความไม่ลงรอยกับ “วงศ์หนองเตย”

ความขัดแย้งระหว่าง “บ้านใหญ่โล่สถาพรพิพิธ” นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ หรือโกหนอ กับ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ร้าวลึกยากที่จะสมานรอยร้าวจากความขัดแย้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น

ยังลุกลามไปถึงการจัดคนลงเลือกตั้งใหญ่ จนทำให้ เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดูแล ส.ส.ภาคใต้ต้องถกด่วนกับ นายหัวชวน-ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายจุรินทร์ และนายเฉลิมชัย

นอกจกนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่ลงตัวทั้งนครศรีธรรมราช ระนอง แม้แต่พังงาจังหวัดบ้านเกิดของหัวหน้าจุรินทร์

“เดชอิศม์” ระบุว่า นายชวนบอกกับตนว่าในเมื่อเกิดสถานการณ์อย่างนี้ต้องทำโพล ใช้วิทยาศาสตร์มาวัดกันเพราะไม่อยากให้ใครถูกตำหนิ และก่อนเริ่มทำโพลตนจะเชิญนายสมบูรณ์และอีกฝ่ายมาหารือร่วมกันว่าจะใช้โพลของสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดให้เป็นที่ยอมรับและยุติธรรมที่สุดต่อทุกฝ่าย

“การทำโพลเพื่อตัดสินผู้สมัคร ส.ส.ในภาคใต้ จะมีขึ้นในพื้นที่ที่ยังมีปัญหา ทั้งเขต 4 จ.ตรัง และเขต 3 จ.นครศรีธรรมราช จะทำโพลในกลางเดือนสิงหาคม จากนั้นปลายเดือนสิงหาคมจะทำโพล เขต 1 จ.ระนอง และเขต 2 จ.พังงา ซึ่งผมตั้งเป้าว่าจะประกาศตัวผู้สมัคร ส.ส.พรรคทั้ง 58 เขตเลือกตั้งของภาคใต้ในปลายเดือนสิงหาคม”

หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์เตรียมโปรเจ็กต์พาแกนนำพรรคลงพื้นที่คู่ขนานกับโปรเจ็กต์เดิม “จุรินทร์ออนทัวร์”

แม้ “จุรินทร์” จะเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนไว้วางใจ “น้อยที่สุด” แถมมีลูกพรรคโหวตไม่ไว้วางใจหัวหน้าพรรคก็ตาม