เปิดสูตรคำนวณ หาร 500 ฉบับหมอระวี

เลือกตั้ง

แม้ว่าผู้มีอำนาจกลับหลังหัน เปลี่ยนความคิดแบบ 180 องศา จากกดปุ่มสั่งการให้รัฐสภาโหวตหารสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหาร 100 มาเป็น 500 เวลาผ่านมาแค่ 2 สัปดาห์ เกิดเปลี่ยนใจ อยากกลับไปใช้สูตรหาร 100 อีกแล้ว เผลอ ๆ อาจจะหันกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ มาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวอีกรอบ

แต่ก่อนอื่น เมื่อเรื่องราวบานปลาย รัฐสภาโหวตเดินหน้าหาร 500 ไปแล้ว ก็ต้องเดินหน้าให้สุด หนทางข้างหน้าจะว่าอย่างไร ค่อยมาปรับสูตรกันใหม่ โดยยึดร่างแก้ไขเพิ่มเติมสูตรหาร 500 ของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ มาเป็นร่างหลักในการพิจารณา

ทั้งนี้ สูตรการคำนวณ ส.ส.ตามสูตรหาร 500 ของหมอระวี มีดังนี้

1.นำคะแนนรวมทุกพรรคจากบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 คือจำนวน ส.ส.ทั้งหมด จะได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน

2.นำคะแนนของแต่ละพรรค หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน จะได้จำนวน ส.ส.พึงมี ที่แต่ละพรรคจะได้

3.นำจำนวน ส.ส.พึงมีที่แต่ละพรรคได้ลบกับจำนวน ส.ส.เขต ก็จะได้ตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้น ๆ

4.ถ้าพรรคการเมืองใดได้ ส.ส.แบ่งเขต เท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และให้นำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบ่งเขตต่ำกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีที่พรรคนั้นควรได้ ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่ทำให้พรรคการเมืองนั้นได้ ส.ส.เกินจำนวน ส.ส.พึงมี

5.ถ้าในกรณีที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน ตามลำดับจนครบจำนวน 100 คน

ในกรณีที่คำนวณแล้วจำนวนเศษของพรรคการเมือง “เท่ากัน” จนไม่สามารถจัดให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 100 คนได้ ให้นำค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อ ส.ส.พึงมี
ต่อจำนวน ส.ส. 1 คนมาพิจารณา

พรรคไหนที่มีค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนมากที่สุด ให้พรรคนั้นได้ ส.ส.เพิ่ม แต่ถ้าคิดค่าเฉลี่ยแล้วจำนวนยังเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก

6.ถ้าคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดแล้ว ยังเกิน 100 คน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยเทียบบัญญัติไตรยางศ์ ไม่ให้ ส.ส.เกิน 100 คน

แต่ในกรณีที่การประกาศผลเลือกตั้งยังไม่ครบทุกเขต แต่มีจำนวน ส.ส.ถึงร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งที่จะดำเนินการเปิดประชุมสภา ให้คำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้รับการจัดสรรเบื้องต้น โดยมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาเป็นข้อ

7.ให้นำจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะประกาศผลเลือกตั้ง บวกด้วย จำนวน ส.ส.100 คน

8.นำคะแนนรวมที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งจากบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วยผลลัพธ์ของข้อ 1 ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน

9.เมื่อได้ผลลัพธ์ตามข้อ 2 แล้ว จากนั้นก็ย้อนกลับไปคำนวณตามขั้นตอนข้อ 3-6 ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแบ่งเขตเพิ่มขึ้น ก็ให้มีการคำนวณใหม่ และจัดสรรจำนวน ส.ส.ให้ถูกต้องตามการคำนวณทุกครั้ง เว้นแต่พ้นเวลา 1 ปี หลังเลือกตั้ง

แต่ถ้าคำนวณแล้วมีผลทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคใดลดลง ก็ให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อคนสุดท้ายของพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่ง ส่วน ส.ส.ที่พ้นตำแหน่งก็ให้ถือว่ายังเป็น ผู้สมัครลำดับเดิมของพรรคการเมืองนั้น

นอกจากนี้ ร่างกฎหมาย ยังระบุอีกว่า ภายใน 1 ปี หลังเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งซ่อมโดยการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เว้นแต่ เลือกตั้งด้วยเหตุอื่น เช่น ตาย ลาออก ไม่ต้องคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

สูตรของหมอระวีจะได้ไปต่อแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการโหวตวาระ 3 ในสัปดาห์หน้า