สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 หรือ 500 ใครได้-ใครเสีย

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
สภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ (5 ก.ค.) เริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระ 2-3 ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ พิจารณาเสร็จแล้ว

ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักเลือกตั้งอาชีพ หนีไม่พ้น สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) แบบหารด้วย 100 ตามมติ กมธ.เสียงข้างมาก หรือพลิกกลับไปใช้สูตรหารด้วย 500 ตามที่พรรคการเมืองขนาดเล็กต้องการ ไม่ว่าสมาชิกรัฐสภาจะโหวตเลือกสูตรใด ย่อมทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมืองทั้งสิ้น

สำหรับตัวเลข 100 ที่ถูกนำมาเป็นตัวหารก็คือ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด ขณะที่ตัวเลข 500 คือจำนวน ส.ส. ทั้งหมดของไทย ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า มี กมธ.เสียงข้างน้อย 6 คน ขอสงวนความเห็นในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ใช้ 100 หาร นอกจากนี้ยังมีสมาชิกรัฐสภาอื่น ๆ อีก 4 คน ขอสงวนคำแปรญัตติในประเด็นเดียวกัน เพื่อมาอภิปรายกลางรัฐสภา แล้วให้ที่ประชุมเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ในการลงมติผ่านวาระ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา ต้องอาศัยเสียงข้างมากของรัฐสภาที่มีสมาชิกทั้งหมด 726 เสียง (ส.ส. 477 เสียง และ ส.ว. 249 เสียง) และวาระ 3 ซึ่งเป็นการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ต้องใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 363 เสียงขึ้นไป

ภายหลังเสร็จสิ้นการลงมติในวาระ 3 รัฐสภาจะส่งร่างกฎหมายลูกให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเนื้อหาว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือมีปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. หรือไม่ หากไม่มีประเด็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะนำร่างส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

เปิดวิธีคิดยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อตามสูตรหาร 100

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีเนื้อหารวม 32 มาตรา ทว่าจุดที่เป็นข้อถกเถียงคือ มาตรา 23 ซึ่งออกมาเพื่อแก้ไขเนื้อหาของมาตรา 128 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นภายใต้กติกาใหม่ ที่ปรับสัดส่วน ส.ส. ทั้ง 2 ระบบใหม่ โดยมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน พร้อมกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้ประชาชนแยกการตัดสินใจลงคะแนนเลือก ส.ส. แต่ละระบบ จากเดิมในการเลือกตั้งปี 2562 ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน แล้วนำคะแนนมหาชน (ป็อบปูลาร์โหวต) ที่แต่ละพรรคได้รับ ไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคพึงได้

บรรยากาศการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562

ที่มาของภาพ, Getty Images

ภายใต้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านความเห็นชอบของ กมธ. มีสูตรคำนวณหายอด ส.ส.บัญชีรายชื่อ สรุปได้ ดังนี้

  • ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แล้วนำไปหารด้วย 100
  • ผลลัพธ์ที่ได้คือ คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
  • นำคะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยข้างบน
  • ผลลัพธ์ที่ได้คือ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคพึงได้รับเบื้องต้น
  • ในกรณีที่ คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบทุกพรรคแล้ว ยังมีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคที่คำนวณแล้วมีเศษมากที่สุด ได้รับจํานวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มขึ้นอีก 1 คน แล้วเรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวน ส.ส.บัญชีรายชื่อครบร้อย

สูตรใหม่ ใครได้-ใครเสีย

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 มีพรรคการเมือง 81 พรรคลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่มีอยู่ 74 พรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

บีบีซีไทยนำฐานคะแนนของทุกพรรคที่ได้จากการเลือกตั้งหนนั้น มาทดลองคำนวณหายอด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้รับภายใต้สูตรหาร 100 พบข้อมูล ดังนี้

  • ผลรวมคะแนนเลือกตั้งของ 74 พรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อยู่ที่ 35,561,556 คะแนน
  • หากนำไปหารด้วย 100 ได้ผลลัพธ์ 355,615 เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (หากใช้สูตรหารด้วย 500 คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนจะเหลือเพียง 71,123 คะแนน ซึ่งเป็นฐานคะแนนที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 2562)
  • เมื่อนำคะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคได้รับ ไปหารด้วยคะแนนเฉลี่ย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ภายใต้สูตรหารด้วย 100 จะพบว่า มีเพียง 11 พรรค ที่มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้นรวม 90 คน ส่วนอีก 10 คน ต้องนำเศษมาคำนวณหายอด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเติมต่อไป

ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค. ภายใต้สูตรหาร 100. .

ผลจากการใช้สูตรหารด้วย 100 ทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 22 คน จากปัจจุบันไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว เนื่องจากชนะการเลือกตั้งในระบบเขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีได้ ที่คำนวณออกมาตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม

ขณะที่ 16 พรรคที่เคยมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีฐานคะแนนไม่ถึงเกณฑ์มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ในจำนวนนี้มี 5 พรรคที่เคยผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ เมื่อนำคะแนนป็อบปูลาร์โหวตมาหารด้วย 500 ประกอบด้วย พรรคชาติพัฒนา, พรรคพลังท้องถิ่นไทย, พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย, พรรคพลังปวงชนไทย, พรรคพลังชาติไทย

ส่วนที่เหลืออีก 11 พรรค เป็นพรรคที่ทำคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ตั้งแต่ 69,431-33,787 คะแนน แต่เข้าสภาได้ด้วยการปัดเศษทศนิยม ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคเพื่อชาติไทย (ชื่อเดิมคือ พรรคพลังไทยรักไทย), พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชานิยม, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคไทรักธรรม, ประชานิยม (ยุบพรรคแล้ว) และพรรคประชาชนปฏิรูป (ยุบพรรคแล้ว) จึงไม่แปลกหากบรรดาหัวหน้าพรรคเล็ก-พรรคจิ๋วจะต้องการล้มสูตรหาร 100 ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้พวกเขาต้อง “สูญพันธุ์ทางการเมือง”

ปัญหาเทคนิคทางกฎหมายที่รออยู่

ในขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่า สูตรหารด้วย 100 ตรงตามเจตนารมณ์ของมาตรา 91 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 บรรดา กมธ. จากพรรคอื่น ๆ ทั้งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร จากพรรคเสรีรวมไทย (สร.) และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี และ กมธ. จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต่างแสดงความกังวลตรงกันเกี่ยวกับ “เทคนิคทางกฎหมาย” เนื่องจากมาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุถึง “ส.ส.พึงมี” ยังคงอยู่ ไม่ถูกแก้ไขแต่อย่างใด

จากเดิมที่ ปชป. เคยร่วมชงสูตรหารด้วย 100 นายอัครเดชจึงโน้มน้าวให้เพื่อนร่วมพรรคพลิกไปสนับสนุนวิธีหารด้วย 500 โดยอ้างว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560

“การแก้ไขกฎหมาย แล้วจะมาล้มล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้วิธีหารด้วย 500 ถือว่าสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะได้กำหนดให้แต่ละพรรคมี ส.ส. เท่าไหร่ในสภา จะสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบคู่ขนานที่นำมาคำนวณแยกกัน” ส.ส.ปชป. ระบุ

อย่างไรก็ตามนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองประธาน กมธ.จากโควต้า ปชป. เช่นกัน ยืนกรานหลักหารด้วย 100 ซึ่งปรากฏในร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่รัฐสภาเห็นชอบในหลักการ และ กมธ. ไม่ได้แก้ไข หากเสนอผิดไปจากหลักการเดิมจะนำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ และอาจถูกกล่าวหามีผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่

ชินวรณ์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ส่วนท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค โยนให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยระบุว่า พปชร. ไม่มีทิศทางใด ยึดตาม กมธ. และถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเลือกอย่างใดก็เอาตามนั้น

ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พปชร. และประธานวิปรัฐบาล ยังไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางการลงมติว่าจะเลือกสูตรหาร 100 หรือ 500 โดยบอกเพียงว่า ขอฟังการอภิปราย ฟังข้อดี-ข้อเสียให้ชัดเจนอีกครั้ง ก่อนที่ ส.ส. จะตัดสินใจ

ย้อนอดีตและแนวปฏิบัติ

  • ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 24 ก.พ. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 4 ฉบับ ในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 609:16, ร่างของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จากพรรคเพื่อไทย เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 420:14, ร่างของนายวิเชียร ชวลิต จากพรรคพลังประชารัฐ เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 598:26 และร่างของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 418:202 โดยทุกร่างกำหนดให้ใช้ตัวเลข 100 เป็นตัวหาร เพื่อคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
  • มีการตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา จำนวน 49 คน มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน พร้อมกำหนดให้ใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก
  • ที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ เมื่อ 12 พ.ค. มีมติเห็นด้วยกับร่างเดิมที่ใช้ 100 เป็นตัวหาร ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 32 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
  • โดยปกติ เมื่อกลับมาโหวตในวาระ 2 และ 3 ที่ประชุมรัฐสภามักเห็นด้วยกับแนวทางของ กมธ.เสียงข้างมาก จึงเชื่อกันว่าเรื่องนี้จะจบที่สูตรหารด้วย 100
  • ถ้าเกิดเหตุพลิกโผ-พลิกผันไปใช้สูตรหาร 500 หลังรัฐสภาส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไปยัง กกต. ก็อาจถูกตีกลับมาที่รัฐสภา เพื่อให้ กมธ.แก้ไขภายใน 30 วัน เพราะร่างกฎหมายที่ กกต. เสนอเข้ามาก็ใช้สูตรหาร 100 เช่นกัน
  • ไม่ว่าจะออกสูตรไหน มีความเป็นไปได้ว่าจะมีนักการเมืองบางส่วนเข้าชื่อกันยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป เพราะถ้าเลือกสูตรหาร 100 ก็สุ่มเสี่ยงต่อขัดมาตรา 93 และ 94 แต่ถ้าเลือกสูตรหาร 500 ก็อาจขัดมาตรา 91 และ 86

เช็กชื่อกองหนุนสูตร 500 หาร

ถึงขณะนี้มีนักการเมืองจากค่ายต่าง ๆ เปิดตัว-เปิดหน้า-เปิดชื่อในฐานะผู้สนับสนุนสูตรหาร 500 โดยให้เหตุผลว่า การหารด้วย 100 ไม่สอดคลองกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ, ไม่สะท้อนปัญหาของประชาชนผ่านตัวแทนประชาชนที่แท้จริง, อนาคตอาจมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นหากในสภามีแต่พรรคขนาดใหญ่

พรรคเสียงเดียวสนับสนุนสูตรหาร 500

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

บีบีซีไทยรวบรวมรายชื่อ เฉพาะนักการเมืองที่ให้ความเห็นต่อสาธารณะ หรือแสดงออกอย่างชัดแจ้ง เช่น ร่วมลงมติ, ขอสงวนความเห็น หรือขอแปรญัตติต้านสูตรหาร 100

  • พรรคประชาธิปัตย์ อย่างน้อย 2 เสียง ได้แก่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เป็น กมธ.เสียงข้างน้อย และสงวนคำแปรญัตติ, นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกาศจุดยืนผ่านเฟซบุ๊กของเขา
  • พรรคเสรีรวมไทย 6 เสียง โดยให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ. ในโควต้าของพรรค โหวตไม่เห็นชอบสูตรหาร 100 ในชั้น กมธ. และยังสงวนความเห็นของตนเอง นอกจากนี้ยังส่ง พล.ต.ท. วิศนุ ม่วงแพรสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมแปรญัตติเสนอให้ใช้สูตรหาร 500 ด้วย
  • พรรคพลังท้องถิ่นไทย 5 เสียง นำโดย นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจน และยังส่งนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ แปรญัตติเสนอให้ใช้สูตรหาร 500
  • พรรคเสียงเดียวอย่างน้อย 8 พรรค ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคไทรักธรรม และพรรคเพื่อชาติไทย ร่วมกันแถลงข่าวประกาศหนุนสูตรหาร 500 นอกจากนี้นักการเมืองจาก “พรรคจิ๋ว” ยังดิ้นสู้ตั้งแต่ในชั้น กมธ. ที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แพ้โหวตกลายเป็น กมธ.เสียงข้างน้อย และเมื่อร่างกฎหมายกลับเข้ารัฐสภาในวาระ 2 นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย และนายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ก็ขอแปรญัตติเสนอใช้สูตรหาร 500 ด้วย
  • กลุ่ม ส.ว. มี กมธ.เสียงข้างน้อย 9 คนที่โหวตไม่รับสูตรหาร 100 ในชั้น กมธ. ประกอบด้วย พล.ร.อ. พัลลภ ตมิศานนท์, พล.อ. ยอดยุทธ บุญญาธิการ, พล.อ. อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม, นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, นายกิตติ วะสีนนท์, นางสุวรรณี ศิริเวชชะพันธ์, นางวรารัตน์ อติแพทย์ และ น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม

………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว