จ้างพรรคเล็ก แจกกล้วย เกมยุบไทยรักไทย ท้าทายพรรคพลังประชารัฐ

รอง

แม้ว่าเสียงโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวกรัฐมนตรีรวม 11 คน จะผ่านฉลุยตามคาด

แต่หนึ่งในเอฟเฟ็กต์ที่ตามมา และอาจกลายเป็นเรื่องที่ต้อง “จับตา” นอกจากลุ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่

คือปม “ไลน์หลุด” ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ออกมาขู่พรรคเล็กกลุ่ม 16 ที่ไม่ยอมร่วมหัวจมท้ายโหวตคว่ำรัฐมนตรีเป้าหมายว่ามีหลักฐาน-เอกสารเป็นการ “รับกล้วย” เป็นรายเดือน

ไม่กี่อึดใจ “ไลน์” เจ้ากรรมก็หลุดจริง ๆ ตามปากคำของ ร.อ.ธรรมนัส

ในเนื้อหาแชตไลน์ที่หลุดออกมามีภาพที่ระบุให้เห็นว่า มีรายชื่อ ส.ส.พรรคเล็กเซ็นรับเงินเดือนประจำเดือนมีนาคม 2563 หลายคน และมีภาพหลักฐานการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทางเดือนละ 1 แสนบาท

นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย 1 ในกลุ่ม 16 ออกมาปฏิเสธการ “รับกล้วย” ยืนยันว่าไม่ได้มีการรับเงิน และเอกสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาทางไลน์เป็นเอกสารเกี่ยวกับการเซ็นยืนยันเพื่อเข้ามาประชุมพรรคร่วมรัฐบาลพรรคเล็ก ไม่ใช่เป็นการเซ็นรับเงินเดือน

“ใครเป็นคนปล่อยข้อมูล ใครกล้ายื่นร้องก็ยื่นไป ผมไม่กลัว ยื่นเสร็จพรรคคุณอ่ะตาย ให้เอาไหมจะวุ่นนะ พรรคการเมืองใหญ่ไปหมด เพื่อไทย พลังประชารัฐ ก็จะทำให้ลุงตู่อยู่ต่ออีก 8 ปี”

แต่เรื่องนี้ดันไปเข้าตาของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย ที่เตรียมยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ ขณะนี้มีเอกสารหลักฐานเบื้องต้นที่สามารถเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องได้พอสมควร โดยอยู่ระหว่างเขียนคำร้องเพื่อยื่นเรื่องให้ กกต.พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 32 (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในการขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินเพราะต้องดูรายละเอียดทั้งการโอนเงินเข้า-ออกของหมายเลขบัญชีต่าง ๆ ขณะนี้นายสมชัยมีทั้งเลขบัญชีและชื่อเจ้าของบัญชีพอสมควรแล้ว

หาก กกต.ตรวจสอบแล้วเข้าเกณฑ์ พรรคปล่อยให้มีบุคคลภายนอกครอบงำ และบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกมาครอบงำพรรค ตามมาตรา 28 และ 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็สามารถเอาผิดได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อ กกต.ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

“สมชัย” ยังเทียบเคียงกรณีพรรคใหญ่ครอบงำพรรคเล็ก ที่มีการยุบพรรคไทยรักไทยหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549

พรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหนีกฎเกณฑ์เขตที่มีผู้สมัครรายเดียวได้คะแนนไม่ถึง 20% ของผู้มีสิทธิ ถือว่าไม่ได้รับเลือก กกต.ยุคนั้นเอื้อให้พรรคใหญ่บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น รีบจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 37 วัน ยอมให้ผู้สมัครพรรคเล็กเปลี่ยนเขตมาสมัครได้

ผลคือ ศาลตัดสินจำคุก กกต. และตามด้วยคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย กรณีคดีกล้วยนี้จึงรอเพียงเขียนคำร้องและนัดวันยื่นหลักฐานต่อ กกต.เท่านั้น สมชัย เสรีรวมไทยพร้อมเสิร์ฟ วีระ เสรีรวมไทยพร้อมตบ จากนี้ไม่นานครับ เรียน กกต.ทราบ โปรดอย่าตามรอยปี 2549 เด็ดขาด

หากย้อนรอย “คดีพรรคไทยรักไทย” จ้างพรรคเล็กตามที่ “สมชัย” ยกตัวอย่าง

ต้องย้อนไปถึงการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ในช่วงเวลาที่พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง ทำให้พรรคไทยรักไทยต้องหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 โดยจ้างพรรคเล็กส่งผู้สมัคร ส.ส.ประกบ เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดว่า เขตเลือกตั้งใดที่มีผู้สมัคร ส.ส.คนเดียว ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จะต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เมื่อความแตก กกต.จึงตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมา โดยมี นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน โดยสรุปว่าผู้บริหารพรรคไทยรักไทยจ่ายเงินจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งจริง

ต่อมาเรื่องก็ผ่านอัยการสูงสุดถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรค 9 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550

ให้เหตุผลว่า จากพยานหลักฐานพบว่าพรรคไทยรักไทยมีการจ้างพรรคแผ่นดินไทยและพรรคพัฒนาชาติไทยจริงตามที่อัยการสูงสุดร้องมา โดยมีจำเลยในที่นี้คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และรักษาการ รมว.กลาโหม และพวกอีก 3 คนมีความผิด

ผลจากการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย คือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 3 พรรค คนละ 5 ปี เกมนี้มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน

และกลายเป็นชื่อที่มีการเรียกขาน กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คือ กลุ่มบ้านเลขที่ 111

และกว่าเรื่องจะจบเบ็ดเสร็จ-สะเด็ดน้ำต้องรอถึงปี 2559 เพราะนอกจากคดีการเมืองต้องมีคนรับผิดทางอาญา โดยมีผู้ต้องติดคุกติดตะราง ทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ กกต.เปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยไม่ครบ 90 วันตามที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และผู้เกี่ยวข้องจ้างวานพรรคเล็ก

ส่วน พล.อ.ธรรมรักษ์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่ในคดี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้โจทก์จะมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่ได้จากกระทรวงกลาโหม ที่จำเลยเดินอยู่บนระเบียง โดยภาพช่วงที่เข้าไปยังกระทรวงกลาโหม และออกจากกระทรวงกลาโหม แตกต่างกันตรงที่ปรากฏซองสีขาวในมือของบุคคลที่ปรากฏในภาพวงจรปิด

แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความ ยืนยันว่าพวกจำเลยได้เข้าไปพบจำเลยที่ 1 ภายในห้องรับรอง และจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้มอบซองที่อาจจะมีการบรรจุเงินในซองดังกล่าวให้กับจำเลยที่ 3 เพื่อไปมอบต่อให้กับจำเลยที่ 4 และ 5 นำไปให้จำเลยที่ 2 จริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษาแก้ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 พล.อ.ธรรมรักษ์

ต่อมาอัยการไม่ขอยื่นฎีกาตั้งแต่ชั้นศาลอุทธรณ์ ทำให้คดีในส่วนของ พล.อ.ธรรมรักษ์จบไปในวันที่ 7 มกราคม 2557

ย้อนกลับมาที่พรรคเสรีรวมไทย ต้องไม่ลืมว่า “เสรีรวมไทย” เป็นพรรค “จอมสอย” สอยมาแล้วทั้ง “สิระ เจนจาคะ” อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ปมรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ มีสิทธิรับเลือกตั้ง แต่ยังไปสมัคร ส.ส.เนื่องจากเคยถูกศาลพิพากษาจำคุก, ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี ที่ถูกร้องกรณีรุกป่า

ดังนั้น พรรคเสรีรวมไทยจึงตั้งเป้าสอยต่อเนื่อง เพื่อสร้างชื่อ-กระแสไว้ใช้ตอนเลือกตั้งที่จะมาถึงไม่กี่เดือนข้างหน้า

แล้วพลันที่เกิด “ข่าวไลน์หลุด” ก็เกิดความเคลื่อนไหวที่ กกต. เมื่อปรากฏข่าวว่าขณะนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองนั่นคือ เลขาธิการ กกต. รับทราบเรื่องและจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ยกให้ “เลขาธิการ กกต.” ทำหน้าที่ “นายทะเบียนพรรคการเมือง”

ปัจจุบันเลขาฯ กกต. คือ “แสวง บุญมี” ผู้ที่เป็น “ลูกหม้อ” กกต. มีสัมพันธ์-คอนเน็กชั่นกับนักการเมือง ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เข้าได้ทุกกลุ่ม จะต้องรับภาระแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่อง “รับกล้วย”

เป็นบทพิสูจน์ฝีมือนายทะเบียนพรรคการเมือง

และเสือ กกต.ทั้ง 7 ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่อง “รับกล้วย” ที่ไม่กล้วย