พรรคเล็ก ผนึกธรรมนัสล่ม พับแผนดัน “ประวิตร” นั่งนายกฯสำรอง

ขบวนการปั่นข่าวเปลี่ยนตัว “นายกรัฐมนตรี” ฝุ่นตลบไปทั่วการเมือง

กลุ่มพรรคเล็กปัดเศษ ที่เรียกกลุ่มตัวเองว่า “กลุ่ม 16” ที่มีออกมาข่มขวัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าจะไม่ยกมือโหวตให้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเคลียร์ข้อทุจริตที่ค้างคาใจไม่ได้

พุ่งเป้าไปที่โครงการท่อส่งน้ำในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้ประธานคณะบอร์ดอีอีซี เห็นชอบให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ว่ามีเรื่องที่มี “เงื่อนงำทุจริต”

แล้วโผล่ไปกินข้าวกับแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ยุทธพงศ์ จรัสเสถียรรองหัวหน้าพรรค ประหนึ่งทำ MOU สนับสนุนข้อมูลซักฟอกให้แก่กัน เมื่อวันที่ 28 เมษายน

พรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านจึง “ตีปี๊บ” รับลูกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทันที บนเงื่อนไขว่ากฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านสภา

ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน กลุ่ม 16 เพิ่งนัดกินข้าวกับ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ 1 ในขุนพลข้างกาย บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่ ผู้ได้รับมอบหมายให้ประสานกับพรรคเล็ก เมื่อวันที่ 27 เมษายน

หัวใจในการพบกันครั้งนั้น เพื่อต่อรอง “เกมแก้กฎหมายลูก” หลังปรับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีสูตรคำนวณ ส.ส. ที่พรรคเล็กเสียเปรียบ ถึงขั้นสูญพันธุ์ จึงมีข่าวว่าพรรคเล็กบางพรรคเตรียม “ยุบรวมกัน” เพื่อสู้ในกติกาใหม่

แล้วตกค่ำก็หวังเข้าบ้านป่ารอยต่อ ไปคารวะ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ย้อนหลัง เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบ

แกะชื่อกลุ่ม 16 ยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมี ส.ส.ไม่ครบ 16 ตามอ้าง มีชื่อนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย นายสุภดิช อากาศฤกษ์ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ นายภาสกร เงินเจริญกุล

นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี

นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคชาติพัฒนา นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย

พฤติกรรมของพรรคเล็กปัดเศษ จึงรับบท “สองหน้า” ต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง ในช่วงจังหวะโค้งสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

หันไปอีกด้านหนึ่ง พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ลูกน้องคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค แพ็กคู่กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นเลขาธิการพรรค มี ส.ส.ในมือ 16 คน ที่สามารถโหวตในสภา

ในบทความขัดแย้งทางลึก ทั้ง พล.อ.วิชญ์ และ ร.อ.ธรรมนัส ก็เป็นเส้นขนานทางการเมืองกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ดังนั้น หากกลุ่ม 16 ที่มีอยู่ราว ๆ 15-16 เสียง รวมกับพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง ไม่โหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีสิทธิที่นายกฯถูกคว่ำกลางสภา เพราะเสียงฝ่ายค้านจะเกินครึ่งหนึ่ง

“ประเสริฐ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กลุ่ม 16 ส.ส.ก็ยึดตัวเลขนี้อยู่ 16 เสียงอยู่ ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย ถ้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต้องมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มี

“ดังนั้น จะกล่าวหาว่าพรรคเศรษฐกิจไทยที่มี ส.ส.18 เสียง จะสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลหรือไม่นั้นก็ยังตอบไม่ได้ ถ้าพรรคเศรษฐกิจไทยรวมกับพรรคเล็กต่าง ๆ กลุ่มนี้จะมี 30 เสียง มีนัยพอสมควรจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้”

ดังนั้น นายกฯสำรอง ไม่มีใครอื่น ต้องเป็น “พล.อ.ประวิตร” พี่ใหญ่ในกลุ่ม 3 ป.

โดยที่ ร.อ.ธรรมนัสระบุว่า “ในความคิดเห็นของผม คงใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขในสถานการณ์นี้ได้”

ส่วน พล.อ.วิชญ์ตอบคำถามเรื่อง นายกฯคนนอก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ว่า “ผมยังไม่ได้มองใคร ผมมองไปที่ พล.อ.ประวิตรว่าท่านก็มีความเหมาะสม ท่านสามารถที่จะช่วยประเทศชาติได้ ณ เวลานี้ หลาย ๆ อย่าง ท่านก็น่าจะรู้ดีว่าควรทำยังไง”

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรไม่ได้เป็นนายกฯในบัญชีพรรคการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ หากจะขึ้นมาเป็นนายกฯต้องขอเสียงในสภาผู้แทนราษฎร และในรัฐสภา เพื่อขอ “ปลดล็อก” ให้สามารถเลือกนายกฯนอกบัญชีพรรคการเมืองได้

ทว่า การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อหานายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และในรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.)

เลือกนายก

ขั้นตอนนายกฯนอกบัญชีพรรค

ในมาตรา 272 วรรคสอง ที่ถูกหยิบมา “ผ่าทางตัน” หากเกิดอุบัติเหตุกับ พล.อ.ประยุทธ์บัญญัติไว้ว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้

กล่าวคือ การเลือกนายกฯตามมาตรา 272 วรรคสอง มี 3 ขั้นตอนทั้งเลือกนายกฯ

ขั้นที่ 1 ส.ส.-ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา เข้าชื่อขอเลือกนายกฯคนนอก ซึ่งขณะนี้มี ส.ส.และ ส.ว.ในรัฐสภารวมกัน 725 คน ดังนั้น จำนวน “กึ่งหนึ่ง” คือ 363 เสียง เป็นกุญแจดอกแรก

ขั้นที่ 2 ที่ประชุมรัฐสภา ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 คือจะต้องมีเสียงอย่างน้อย 484 เสียง จาก 725 เสียง เพื่อลงมติให้ปลดล็อกเลือกนายกฯนอกบัญชีพรรคการเมืองได้

ขั้นที่ 3 เลือกนายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง โดยการขานชื่อ

การเข้าสู่นายกฯคนนอก หวังเพียงเสียงพรรคเล็ก 16 เสียง กับพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง บวกกับ 208 เสียงของฝ่ายค้าน รวมกัน 238 เสียง จึงไม่เพียงพอที่จะดันนายกฯคนนอก

เพราะต้องอาศัยเสียงข้างมากทั้งสองสภา หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังคุมสภาพเสียงข้างมากได้มากกว่าทั้งภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ และ ส.ว. คนการเมืองจึงประเมินของจริงว่า โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกคว่ำ เปลี่ยนตัวเป็น พล.อ.ประวิตร จึงเป็นเรื่องยาก