หอการค้านำ 100 สมาคมพบพิพัฒน์ ขวาง 400 บาท-จี้ยกเครื่อง Skill

หอการค้า

หอการค้าไทย-สภาหอการค้าฯ ประสานเสียง 52 สมาคม ค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แจงเหตุผลละเอียดยิบ หวั่นธุรกิจรับไม่ไหวจนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด พร้อมยื่น 4 ข้อ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 13 พ.ค. ขอเข้าพบ รมว.แรงงาน ก่อนประชุมไตรภาคี เคาะประเด็นร้อน 14 พ.ค.นี้

ยังเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงในวงกว้าง สำหรับการประกาศนโยบายขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งกำหนดจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ล่าสุด หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

ค้าน 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และสมาคมการค้า 52 สมาคม กลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น มีความเข้าใจนโยบายและเป้าหมายการปรับอัตราค่าจ้างเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานของรัฐบาล แต่เราขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามที่ไตรภาคี ต้องศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น เช่น ดัชนีค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน จีดีพี และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ความสามารถของประเภทธุรกิจ

นายพจน์ย้ำว่า การปรับค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น บางจังหวัดอาจจะขึ้นไปถึง 21% ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงถึงตามที่กฎหมายกำหนด จะทำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการหรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด การที่รัฐบาลจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisment

ดังนั้น การพิจารณาค่าแรงต้องพิจารณาหลายด้านผ่านระบบและกลไกการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เพื่อปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

“ต้องยอมรับว่าแต่ละจังหวัด และแต่ละประเภทธุรกิจ มีความพร้อมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน”

ยื่น 4 ข้อเสนอ-พบ รมว.แรงงาน

พร้อมกันนี้ หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ยังได้นำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ดังนี้ 1) เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้เพื่อแรงงานไทยในประเทศไทยและวิถีชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ก็สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน

2) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3

Advertisment

3) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ Upskill & Reskill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

4) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อน

นายพจน์กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลยืนยันที่จะให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัวเลขการปรับที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับมา ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิในการดำรงไว้ของหลักนิติธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า ตัวแทนภาคเอกชนหอการค้าและสภาหอการค้าไทย ซึ่งคาดว่าจะมีร่วม 100 สมาคมการค้าที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง จะเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เพื่อหารือประเด็นดังกล่าว ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นี้

SMEs ขอให้ทบทวนข้อมูล

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยว่า สำหรับสมาพันธ์ SME ไม่เรียกว่าต้าน แต่เห็นควรให้ 400 บาท/วัน ไม่เป็นอุปสรรค โดยขอให้ทบทวนข้อมูลแรงงานกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม และมิใช่ผลักภาระไปให้ผู้ประกอบการทั้งประเทศ โดยไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละขนาดและประเภทธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต พลังงาน ดอกเบี้ย เป็นต้น

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
แสงชัย ธีรกุลวาณิช

พร้อมกันนี้ รัฐบาลควรมีแผนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการและแรงงานที่ต้องมีความชัดเจนในการเพิ่มผลิตภาพ การใช้การสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นกับกลไกไตรภาคี และออกแบบค่าแรงตอบแทนให้มีความสอดคล้องกันในแต่ละพื้นที่และประเภทกิจการ ที่สำคัญ นโยบายมาตรการลดค่าครองชีพเป็นเรื่องเร่งด่วนในกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้นำเสนอ มาตรการลดค่าครองชีพภาคแรงงานและเอสเอ็มอีไป แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 52 สมาคมที่คัดค้าน อาทิ สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางเข้มข้นไทย สมาคมธุรกิจไม้ สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งไทย สมาคมตลาดสดไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าธุรกิจคุ้มกันภัย เป็นต้น

นายกฯย้ำจุดยืนขึ้นค่าแรง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หอการค้าและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น แถลงคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ว่า เรื่องค่าแรงตนชัดเจนอยู่แล้ว และตนมองว่าความเป็นอยู่ รากฐานของพี่น้องประชาชน และฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถือเป็นสิ่งสำคัญ แล้วอย่างที่ตนเคยบอกไปว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท และในวันนี้ขึ้นมาที่ 340-350 บาทนั้น ระยะเวลา 10 ปีขึ้นมา 10% แต่ค่าครองชีพขึ้นมาเท่าไหร่ ซึ่งตนต้องขอชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มุ่งมั่นและผลักดันในเรื่องนี้