มหกรรมการลาออกครั้งใหญ่ ส.ส.รุ่นใหญ่ รุ่นใหม่ ใครย้ายไปพรรคไหนบ้าง

การลาออก ของ ส.ส.ครั้งใหญ่

นับถอยหลังอีก 7 เดือน หมดวาระ รัฐบาล-สภาผู้แทนราษฎร ยุคประยุทธ์ สมัยที่ 2 การเลือกตั้งครั้งหน้า หลัง 24 มีนาคม 2566 นับเป็นการลาออก-ย้ายพรรค ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อีกรอบ 

การย้ายพรรคฝุ่นตลบ นับถอยหลังเข้าสู่ปีสุดท้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนาน 8 ปี และอีกเดือนเศษ ๆ ก็จะถึงวันที่ 24 กันยายน อันเข้าสู่ช่วง 6 เดือนก่อนเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างเป็นทางการ หากมีการลาออกจะไม่มีการเลือกตั้งซ่อม

นักการเมืองค่ายใหญ่-รุ่นใหญ่ ทั้งใน-นอกสภา ไปจนถึงนักการเมืองที่ไม่ค่อยมีบทบาท แต่มีราคาอยู่ที่จำนวนครั้งในการยกมือโหวตในสภา ต่างเริ่มขยับเนื้อตัว ย้ายพรรคให้เห็นกันบ้างแล้ว หรืออย่างน้อย ๆ ก็เปิดการแสดงอาการอยากย้ายพรรค

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจความเคลื่อนไหวของ ส.ส.ในสนามการเมือง ที่เตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งครั้งหน้าจากทุกพรรค

ส.ส.-คนการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ย้ายไปไหนบ้าง

ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ :  1.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวหน้าพรรค 2.เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตลูกหม้อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค

นอกจากนี้ มี 3.นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 4.นายเจือ ราชสีห์ อดีต ส.ส.สงขลา คนสนิท ถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คลัง สาย กปปส. 5.นายโกวิทย์ ธารณา อดีต ส.ส.กทม. 6.นายสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม. 7.นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 8.นายเกรียงยศ สุดลาภา เคยเป็นขุนพล กทม.-รองผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ย้ายไปพรรคกล้า : นอกจาก “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรค-แม่ทัพเศรษฐกิจ ไปก่อร่างขึ้นโครงพรรคกล้า โดยดึง “เอ๋-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” อดีต ส.ส.กทม. ไปนั่งเป็นเลขาธิการพรรค พร้อมกับดึงมือดีของพรรคประชาธิปัตย์ คือ “กอบศักดิ์ สภาวสุ” มานั่งประธานยุทธศาสตร์และนโยบายของพรรค

ย้ายไปพรรคสร้างอนาคตไทย : นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอทำ “สงครามครั้งสุดท้าย” กับพรรคใหม่ 4 กุมาร-พรรคสร้างอนาคตไทย โดยนั่งเก้าอี้เป็นรองหัวหน้าพรรค

ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ : อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ เพิ่งผ่านพ้นภารกิจคุมทีมเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

ย้ายไปพรรคก้าวไกล : ถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช เกจิกฎหมายของพรรคสีฟ้า ย้ายไปเสริมทีมคนรุ่นใหม่ ก้าวไกล

ย้ายไปพรรคไทยสร้างไทย : นาถยา เบ็ญจศิริวรรณ อดีต ส.ส.กทม. เขตสะพานสูง

นอกจากนี้ ยังมี นายวีระชัย วีระเมธีกุล ที่ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ยังไม่ปักหมุดว่าจะเทใจลงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด

พรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกลาออกแล้วถึง 17 คน

สมาชิกพลังประชารัฐ ย้ายพรรคมากสุด

ย้ายไปพรรคเศรษฐกิจไทย 18 คน : 1.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 2.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 3.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 4.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 5.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 7.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 8.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 9.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

10.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง (ต่อมาแพ้การเลือกตั้งซ่อม) 11.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12.น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 13.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา 14.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 15.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 16.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น และ 18.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์

ย้ายไปสร้างอนาคตไทย : 1.นายวิเชียร ชวลิต ได้ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ ไปเป็นรองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรค เช่นเดียวกับ 2.สันติ กีระนันทน์ ลาออกจาก ส.ส. ย้ายมาเป็นรองหัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรค

ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ : 1.นายปองพล อดิเรกสาร 2.นายปรพล อดิเรกสาร

พรรคก้าวไกลย้ายไปภูมิใจไทย (งูเห่า)

สำหรับ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ที่ย้ายชื่อไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่ยังมีชื่อคาในพรรคเก่า ประกอบด้วย 1.เกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 3.คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย 5.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย

พรรคเพื่อไทย เลือดไหลออก

จากพรรคเพื่อไทย เตรียมย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ในฐานะงูเห่า ประกอบด้วย 1.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 2.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 3.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 4.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 5.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ 6.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก และ 7.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา

จากพรรคเพื่อไทย จ่อย้ายไป พรรคไทยสร้างไทย : ประกอบด้วย 1.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. 2.การุณ โหสกุล ส.ส.กทม. 3.ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม แม้ว่ายังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะย้ายไปอยู่กับพรรคไทยสร้างไทยหรือไม่ แต่ทั้ง 3 คนได้รับการส่งสัญญาณจากคนในพรรค โดยถามว่าจะอยู่หรือไป แต่ก็เป็นที่คาดหมายว่าจะย้ายไปอยู่กับพรรคไทยสร้างไทย โดยได้รับการขอจากแกนนำเพื่อไทยว่า ถ้าไปก็ขอให้จากกันด้วยดี ซึ่งทั้ง 3 คนยังเคารพมติพรรคฝ่ายค้าน ในการโหวตต่าง ๆ ไม่มีแตกแถว

พรรคเศรษฐกิจไทย ส่อย้ายไป พรรคภูมิใจไทย : แม้จะเพิ่งย้ายสังกัดจากพรรคพลังประชารัฐไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 แต่ไม่ทันไร ลูกทีมของ ร.อ.ธรรมนัส หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ “แตกแถว” มีข่าวว่าจะย้ายมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ดังนี้ นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี และนายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก

พรรคคุณหญิงหน่อย ถูกดูดกลับเพื่อไทย

สำหรับพรรคใหม่ อย่างพรรคไทยสร้างไทย ที่กุมบังเหียนโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ มีผู้ประกาศตัวย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายพงศกร อรรณพพร อดีตขุนพลขอนแก่น ได้ย้ายกลับไปซบพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง หลังจากไปช่วยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตั้งพรรคประหนึ่งมือซ้าย-มือขวา สร้างพรรคไทยสร้างไทย

กระทั่งล่าสุดย้ายกลับมาตายรังที่พรรคเพื่อไทยอีกครั้ง โดยมีปัจจัยเรื่องการทำพื้นที่ และตระกูลการเมือง “อรรณพพร” ที่ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย ถูกบีบให้เลือกพรรคว่าจะอยู่กับพรรคเพื่อไทย หรือย้ายยกครัวไปไทยสร้างไทย สุดท้ายก็เป็น “พงศกร” ที่กลับมาอยู่พรรคเพื่อไทย

นักการเมือง กปปส.อยู่ขั้วอนุรักษนิยม

ส่วน “นักการเมือง” ที่ยังไม่ประกาศชัดเจน เช่น กลุ่ม กปปส. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-เสี่ยจั้ม สกลธี ภัททิยกุล ที่มีชื่อมาร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ จะไปทำพรรคของตัวเอง อาจมี อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ตามไปสมทบ ส่วน “เสี่ยบี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ อาจจะไปรับเก้าอี้หัวหน้าทีมคุม กทม. ให้พรรคภูมิใจไทย หรือรวมไทยสร้างชาติ

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 (1) กำหนดเอาไว้ว่า เมื่อตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง “เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน”

ดังนั้น หลังวันที่ 24 กันยายน 2565 จะเข้าสู่โหมดเริ่มต้นในการนับถอยหลัง เพราะอายุของสภาเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งซ่อมอีกต่อไป อาจเห็น ส.ส.ทยอยย้ายไปสู่พรรคใหม่กันคึกคักมากยิ่งขึ้น