การลาออกครั้งใหญ่ ของพวก ส.ส.

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

 

ก่อนอภิปรายทั่วไป-อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เกิดมหกรรมการลาออก-ขับออกครั้งใหญ่ ของ ส.ส.ทั้งในพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจาก ส.ส.ทยอยลาออกสะสมตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วและต้นปี 2565 พวก ส.ส.ยังมีแผนการที่จะลาออก เปลี่ยนพรรคในช่วงก่อนกฎหมายลูกจะคลอดในช่วงกลางปีนี้ รวมทั้งจะมีกลุ่มหนึ่งที่จะลาออกช่วงก่อนเลือกตั้ง

ระหว่างที่ ส.ส.ยังไม่ได้ตัดสินใจลาออกอย่างเป็นทางการ จู่ ๆ ก็มีรายงานเล่ากันลั่นทำเนียบว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีลูกพรรครวม 61 เสียง (หยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย)

แต่ถ้านับมือ ส.ส.ที่ถูกขับออก-ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 เสียง รวม ส.ส.งูเห่าที่ยังไม่ลาออก ในพรรคฝ่ายค้านอีกนับ 10 เสียง ยอด ส.ส.เฉพาะภูมิใจไทย อนุทินมีบัญชี ส.ส.ในมือ โหวตได้ทันทีกว่า 70 เสียง หากนับรวมฝ่ายรัฐบาล “อนุทิน” การันตีมี 260 เสียง

ผลงานภูมิใจไทย โดย 2 ขุนพลครบเครื่องทั้งธุรกิจ-การเมืองท้องถิ่นถึงการเมืองใจกลางทำเนียบ อนุทิน-เนวิน ชิดชอบ บันดาลให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่ หลังอนาคตใหม่ถูกยุบ เคยกวาดรวดเดียวเข้าสังกัด 10 เสียง ดันภูมิใจไทยขึ้นเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาล

ส.ส.ที่ย้ายพรรค ข้ามขั้วเข้าภูมิใจไทย เฉพาะจากอดีตอนาคตใหม่ 10 ชื่อ อาทิ ศรีนวล บุญลือ, วิรัช พันธุมะผล, ฐิตินันท์ แสงนาค, กฤติเดช สันติวชิระกุล, กิตติชัย เรืองสวัสดิ์, ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย, อนาวิล รัตนสถาพร, เอกการ ซื่อทรงธรรม, โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี, สำลี รักสุทธี

ปลายปี 2564 มีการลาออก ด้วยการถูกขับออกจากพรรคเพื่อไทย 1 เสียง คือ พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และพรรครัฐบาลที่เธอไปปักธง เพิ่มเสียงให้ภูมิใจไทยมีมือ 62 เสียง

ล่าสุด ส.ส.กลุ่มที่ปฏิบัติการลาออกแบบถูกขับออกจากพลังประชารัฐ 21 เสียง แบ่งสายเข้าสังกัดภูมิใจไทยอีก 3 เสียง คือ เอกราช ช่างเหลา, วัฒนา ช่างเหลา, และสมศักดิ์ พันธ์เกษม

เบ่งแต้มให้หัวหน้าอนุทิน ยืดอกขึ้นแท่นว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในจำนวน ส.ส.ตัวเป็น ๆ รวม 65 เสียง

ก่อนหน้าปฏิบัติการ ส.ส.ลาออกครั้งใหญ่ในฝ่ายพลังประชารัฐ มีมหกรรมการทยอยลาออก และกำลังเตรียมลาออกของ ส.ส.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รวม 21 คน อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกทันทีที่พรรคมีมติร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ 2

ตามด้วยอดีตรัฐมนตรี อาทิ กษิต ภิรมย์, กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, กรณ์ จาติกวณิช, ถาวร เสนเนียม, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

ไม่นับรวมอดีต ส.ส.สมาชิกคนสำคัญทั้ง อนุชา บูรพชัยศรี, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, วิฑูรย์ นามบุตร, นาถยา แดงบุหงา-เบ็ญจศิริวรรณ, ศิริศักดิ์ อ่อนละมัย, สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์, นพ.ปรีชา มุสิกุล, ถวิล ไพรสณฑ์, นายพายุ เนื่องจำนงค์

ก่อนหน้าที่จะเกิดปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่ ของพวก ส.ส. มีการคิกออฟโครงการลาออกจากกลุ่ม “นิวเด็ม” ของพรรค ทั้ง “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ, พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ และ สุชาดา แทนทรัพย์

ที่มีอยู่ไปมีตำแหน่งใหญ่ในพรรคคู่แข่ง แต่ยังไม่ได้ลาออกอย่างเป็นทางการ ก็มี 1 ชื่อ คือ อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ยังมีกลุ่ม ส.ส.ที่รอมัดรวม-ลาออกเป็นบิ๊กลอต ย้ายพรรคไปสังกัดพรรคใหม่และพรรคคู่แข่งอีกชุดใหญ่ คาดกันว่ากลุ่มนี้จะมีหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการช่วงก่อนเลือกตั้ง กรณียุบสภาต้องหาพรรคสังกัดภายใน 30 วัน

ปัจจุบัน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 เสียง ฝ่ายรัฐบาล 267 เสียง ฝ่ายค้าน 208 เสียง จุดพลิกเกมในสภาอยู่ที่พรรคเศรษฐกิจไทยที่ก้ำกึ่งว่าอยู่ข้างฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจำนวน 18 เสียง

ปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่ของพวก ส.ส. เสียงดังไปไกลถึงดูไบ เข้าหู “ทักษิณ ชินวัตร” คอนเฟิร์มค่าตัว ส.ส.เปลี่ยนขั้วหัวละ 20-30 ล้าน รับเบี้ยประชุมรายเดือนคนละ 2 แสน !!