ธุรกิจไฟฟ้า New S-Curve ใหม่ของ ปตท.

เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคด้านพลังงานเปลี่ยนไป สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น และเทรนด์ของการใช้พลังงานทดแทนที่ขยายตัวทั่วโลก ผู้ที่เคยเป็นเพียงคนใช้ไฟฟ้าก็เป็นผู้ผลิตที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายของแวดวงธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมัน รวมถึงต่อจากนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ จะพัฒนาและต่อยอดโดยใช้คอมพิวเตอร์มาใช้วิเคราะห์และประมวลผลหรือที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ “เทวินทร์ วงศ์วานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ปตท.จะเดินหน้าธุรกิจไปอย่างไร ท่ามกลางกระแสของธุรกิจไฟฟ้าที่อาจจะเข้ามาแทนที่น้ำมัน

มองโลก-กำหนดทิศทางธุรกิจ

ธุรกิจไฟฟ้าดูจะเป็นเส้นทางที่ ปตท.ต้องการเข้าไปแบบเต็มตัว ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง หรือที่ซีอีโอ ปตท.เรียกว่า “electricity value chain” นายเทวินทร์ ฉายภาพว่า บริษัทพลังงานทั่วโลกต่างจับตาไปที่ธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึง ปตท.ด้วย และ ปตท.ได้เริ่มต้นที่ต้นทางของธุรกิจไฟฟ้า คือ เชื้อเพลิงอย่างก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำมาผลิตไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีหัวใจสำคัญคือ “ระบบกักเก็บพลังงาน” หรือ energy storage system ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชาร์จจิ้งไฟฟ้า

สิ่งที่เป็น “ตัวชี้นำ” ให้ ปตท.มุ่งไปสู่ธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้นนั้น นายเทวินทร์ระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางของบริษัทพลังงานระดับโลก หลายรายที่มุ่งไปในทิศทางนี้เช่นกัน อย่างเช่น บริษัทเชลล์ ที่คาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมัน 3 แนวทาง คือ 1) mountain เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ราคาน้ำมันไม่สูง มีการใช้พลังงานทดแทนสูง ความมั่นคงทางพลังงานของแต่ละประเทศจะเป็นปัจจัยหลัก ต่างคนต่างพัฒนา และยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ อุณหภูมิของโลกจะไม่เป็นไปตามเป้าของข้อตกลงปารีส (Paris agreement) หรือ COP21 ที่ทั่วโลกต้องช่วยกันลดอุณหภูมิลงให้ได้ 2 องศาเซลเซียส

2) ocean เศรษฐกิจเติบโตราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วมาก แต่ยังเชื่อมั่นว่าอุณหภูมิของโลกจะเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อมีเรื่องอุณหภูมิของโลกเข้ามาเป็นตัวแปร ทำให้เกิดแนวทางเพิ่ม คือ 3) sky พลังงานทดแทนเติบโตสูง Net Zero Emission @2070 เป้าหมายสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้อุณหภูมิของโลกลดลง โดยนำข้อตกลงปารีสเป็นตัวตั้ง และทดลองว่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนได้อย่างไร และสุดท้ายผลก็ออกมาว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นคำตอบที่ดีที่สุด

รุกต้นทาง-ปลายทางธุรกิจไฟฟ้า

นายเทวินทร์ ระบุถึง “electricity value chain” ที่ ปตท.กำลังมุ่งไปและเริ่มต้นแล้วนั้น จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางนั้นเป็นอย่างไร เริ่มที่การเข้าไปลงทุนตั้งแต่ต้นทางคือ ร่วมกับบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซีย เพื่อลงทุนสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยใช้บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด เข้าไปลงทุน ภายหลังจากที่เริ่มนับหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดธุรกิจส่วนอื่น ๆ ตามมา เช่น การซื้อขายก๊าซ LNG ในภูมิภาคที่ปัจจุบันก็มีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซ LNG ในอนาคตได้ เมื่อมองถึงต้นทางแล้ว สิ่งที่ ปตท.มองถัดมาคือ การบริหารจัดการไฟฟ้า “ยิ่งเมื่อทุกคนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายไฟฟ้าแล้ว จะต้องมีระบบโครงข่ายที่รองรับด้วย แลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน ธุรกิจไฟฟ้ามีการแข่งขันและเป็นธุรกิจเสรีมากขึ้น”

นอกจากนี้ ปตท.ได้มองไปถึงการลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ (energy storage) ที่จะเข้ามาเสริมข้อจำกัดของพลังงานแสงอาทิตย์ได้ รวมถึงระบบแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ เพราะปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในระบบมากขึ้น มาจนถึงปลายทางของธุรกิจไฟฟ้าคือ สถานีชาร์จไฟฟ้า ที่ ปตท.ก็มีความร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับความต้องการของผู้บริโภค

ซีอีโอ ปตท.กล่าวย้ำถึงการก้าวเข้ามาในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท.ว่า เมื่อภาพของตลาดชัดเจนว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเพื่อให้ ปตท.เติบโตอย่างก้าวกระโดด และธุรกิจไฟฟ้าจะต้องเป็น new S-curve ใหม่ของ ปตท.นั้น จะต้องเข้าไปวิจัยพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าให้กับไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ปตท.ยังมองไปถึงการลงทุนด้าน “สมาร์ทซิตี้” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา

มองโอกาสธุรกิจอื่น ๆ

ปตท.ยังไปลงทุนผ่าน “กองทุน” ต่าง ๆ ที่อาจจะกลายเป็นโอกาสใหม่ ๆ นายเทวินทร์ยังระบุถึงความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อสร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยารักษาได้ ทั้งนี้ไม่ว่า ปตท.จะเลือกลงทุนในธุรกิจใดก็ยังคงเน้นไปที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศก่อน รวมถึงต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย