GULF เส้นทางลงทุน ภายใต้วิสัยทัศน์ “สารัชถ์ รัตนาวะดี”

วิสัยทัศน์สารัชถ์แห่งกัลฟ์ก่อนเทคอินทัช

ข่าวใหญ่ที่สะเทือนแวดวงธุรกิจในวันนี้ กรณี GULF เทคโอเวอร์ ‘INTUCH-ADVANC’ สร้างความตื่นเต้นกับวงการตลาดหุ้น-โทรคมนาคม และเครือข่ายธุรกิจพลังงาน

หากย้อนฟังวิสัยทัศน์การลงทุนของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” แม่ทัพ GULF จะไม่แปลกใจกับความเคลื่อนไหว ในครั้งนี้

เทกโอเวอร์ยักษ์โทรคมนาคมเบอร์ 1

วันที่ 19 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ยักษ์ใหญ่แห่งวงการพลังงาน แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีความประสงค์ที่จะลงทุนในหุ้นทั้งหมดของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ซึ่งในกรณีที่บริษัทได้มาซึ่งหุ้น INTUCH เพิ่มขึ้นจนถึงสัดส่วนตั้งแต่ 50% ขึ้นไปของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ INTUCH

จะถือว่าบริษัท GULF เข้ามามีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญใน INTUCH ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นใน ADVANC และบริษัทไทยคมอยู่ก่อนแล้ว ในสัดส่วน 40.45% ของ ADVANC และ 41.13% ของไทยคม

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินว่า GULF ต้องการเพียงหุ้นของ INTUCH เท่านั้น เพราะราคาที่เสนอซื้อสูงกว่าในกระดาน ในขณะที่ราคาเสนอซื้อ ADVANC ต่ำกว่าในกระดานค่อนข้างมาก ดังนั้นแล้วบริษัทจึงน่าจะใช้เงินเพียง 1.7 แสนล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ยที่ 2% จะต้องมีดอกเบี้ยจ่ายราว 3.4 พันล้านบาทที่เพิ่มขึ้น แต่เงินปันผลจาก INTUCH ในแต่ละปีที่จ่าย 3.5-3.8 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับภาระที่เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หาก GULF สามารถซื้อหุ้นของ INTUCH สำเร็จ จะนำมาสู่การเปลี่ยนมือผู้กุมบังเหียนบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่สุดในประเทศไทย จาก สิงคโปร์เทเลคอมมูนิเคชันส์ หรือ Singtel มาเป็น GULF ที่อยู่ในมือของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” 

วิสัยทัศน์ลงทุนของ “สารัชถ์”

ย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม 2563 “สารัชถ์” ในฐานะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF ได้ขึ้นเวที 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นในวาระครบรอบการดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 43 “มติชน” โดยครั้งนั้น “สารัชถ์” ได้แสดงมุมมองในหัวข้อ “ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทย”

“สารัชถ์” ได้กล่าวถึงโอกาสการลงทุนของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า ไทยมีโอกาสการลงทุนตลอดเวลา แต่ปัญหาคือจีดีพีกับประชาชนฐานรากไม่เติบโตอย่างสอดคล้องกัน นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังเผชิญปัญหาเรื่องระบบสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารจะเข้มงวดมากกว่าบริษัทใหญ่ ๆ

“ไทยมีโอกาสการลงทุนตลอดเวลา แต่ปัญหาคือจีดีพีกับประชาชนฐานรากหรือรากหญ้าไม่โตตามไปด้วย ตอนนี้รากหญ้ากำลังประสบปัญหา ต้องดูแลส่วนนี้ ส่วนเรื่องระบบสินเชื่อพบว่ามีปัญหาเช่นกัน อย่างกัลฟ์กู้เงินในไทยหรือต่างประเทศไม่ยาก แต่ถ้าเป็นเอสเอ็มอีอยากกู้เงิน 100-200 ล้านบาท จะเจอธนาคารเข้มงวดมากกว่า ดังนั้น หากไม่สามารถแก้ภาพรวมเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ จะกระทบต่อระบบสินเชื่อดังกล่าว”

ผู้บริหาร GULF ยังเสนอให้เดินหน้าโครงการลักษณะร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว รวมถึงยังแนะว่าประเทศไทยต้องมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมรับการลงทุน

“คู่แข่งด้านการลงทุนไทย ที่มาแรงคือ เวียดนามและฟิลิปปินส์ เวียดนามให้สิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนสูง ส่วนฟิลิปปินส์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ ไทยยังสามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง เช่น ระบบน้ำ โดยความร่วมมือ รัฐ-เอกชน เพราะขณะนี้สภาพคล่องในระบบสูงมาก”

ไทยต้องมีระบบ 5 จี-6จี

“อยากให้ทำโครงการลักษณะร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เมืองไทยถึงเวลาต้องกล้าลงทุนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในระยะยาว ปัจจุบันมีต่างชาติต้องการเข้ามาอยู่อาศัยในไทย แต่มาแต่ตัว ไม่ใช้เงิน ไทยควรให้เงินต่างชาติเข้ามาด้วย ดังนั้น ไทยต้องมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมรับการลงทุน มีระบบโทรคมนาคมที่รองรับ 5จี หรือไป 6จี ยิ่งดี”

ขณะที่ในต่างประเทศ เขาเผยแนวคิดว่า ประเทศที่ไทยควรไปลงทุนต้องเลือกประเทศที่แข่งขันได้ แต่ต้องปรับตัว

“ประเทศที่ไทยควรไปลงทุนต้องเลือกประเทศที่แข่งขันได้ ไม่ใช่ทำธุรกิจที่ไม่รู้ แม้คนไทยไม่ได้ถูกสร้างต้องไปทำงานต่างประเทศ แต่ต้องปรับตัว บริษัทต้องเทรนพนักงานของตัวเองเพื่อให้มีพื้นฐานในการออกไปใช้ชีวิต ออกไปทำงาน”

นี่คือมุมมองด้านการลงทุนเพียงบางส่วนของ “สารัชถ์” แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 2 สมัยต่อเนื่อง ผู้ครอบครองหุ้นไทย มูลค่า 110,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสื่อมากนัก ทว่าความเคลื่อนไหวของ GULF ในทุกองคาพยพ กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนแทบทุกวงการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ