รู้จักเชื้อร้าย “ไวรัสนิปาห์” โรคเก่าที่ระบาดใหม่ ยังไร้ยารักษา

Photo by AFP

“ไวรัสนิปาห์” เชื้อเก่าที่กลับมาระบาดใหม่ในอินเดีย โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ยังไร้วัคซีนและยารักษา

ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 ที่หลายประเทศเผชิญความเสี่ยงจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอน ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนในหลายด้าน โลกกลับพบอุบัติการณ์ของไวรัสร้ายที่รุนแรงและน่ากลัวไม่แพ้กันอย่าง “ไวรัสนิปาห์”

ที่ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขรัฐเกรละ ของอินเดีย แถลงว่าเด็กชายวัย 12 ปี จากเขตโคลิโคดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Henipavirus) ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขอินเดียตื่นตัวยกระดับมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่าการพบผู้เสียชีวิตจากไวรัสร้ายนี้ จะซ้ำเติมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงความหวาดกลัวเพียงช่วงสั้น ๆ ที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสนิปาห์ แต่ก่อนหน้านั้น เชื้อชนิดนี้เคยระบาดเป็นวงกว้างมาแล้วช่วงปี 2561 และ 2562 โดยไวรัสนิปาห์ต่างจากโคโรนาไวรัส 2019 ตรงที่ไวรัสชนิดนี้ ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ แต่สิ่งที่อันตรายกว่าคือ ไวรัสนิปาห์ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคชนิดนี้โดยตรง ทั้งยังทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงระหว่าง 40% ถึง 70%

ต้นกำเนิดไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์ Nipah (NiV) จัดเป็นไวรัสตระกูล paramyxoviridae, Genus Henipavirus เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ (Encephalitis nipah virus) ซึ่งเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน ผ่านสุกรที่เป็นแหล่งเพาะโรค และมีต้นกำเนิดหรือแหล่งรังโรคจากค้างคาว ถูกพบครั้งแรกในประเทสมาเลเซียเมื่อปี 2544 จากการระบาดในหมู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบขั้นรุนแรง โดยเป็นการแพร่กระจายจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลังจากระบบทางเดินหายใจของหรือเหลวจากร่างกายสัตว์ เช่น สุกร ม้า แมว แพะ แกะ หรือค้างคาว ที่มีเชื้อไวรัส

นอกจากการสัมผัสโดยตรง การแพร่เชื้ออีกช่องทางหนึ่งคือการบริโภคผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายของค้างคาว ไวรัสนิปาห์จัดเป็นโรคเฉพาะถิ่นของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์ บังกลาเทศ และอินเดีย ต่อก็มีรายงานพบการระบาดของไวรัสนี้เป็นต้นมา ในบังกลาเทศพบการแพร่ของไวรัสไปยังมนุษย์ผ่านยางไม้ปาล์มที่ปนเบื้อนด้วยน้ำลายค้างคาว หรือเมื่อเกษตรกรปีนต้นปาล์มที่ปนเปื้อนด้วยมูลค้างคาว

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า นับตั้งแต่พบเชื้อครั้งแรกในมาเลเซีย ซึ่งมีการส่งผ่านเชื้อสู่สิงคโปร์ โดยเฉพาะหมู่เกษตรกรปศุสัตว์ครั้งนั้นพบผู้ติดเชื้อเกือบ 300 ราย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน รัฐบาลต้องฆ่าสุกรนับล้านคนเผื่อสกัดการระบาด ขณะที่การระบาดในอินเดียและบังกลาเทศนั้น ส่วนพบจากการบริโภคผลไม้หรือผลิตภัณฑ์จากผลไม้ อาทิ อินทผลัม ซึ่งปนเปื้อนปัสสาวะหรือน้ำลายของค้างคาวผลไม้ที่มีเชื้อไวรัส

พบรายงานไวรัสนิปาห์แพร่จากคนสู่คนเป็นครั้งแรก ในกลุ่มครอบครัวที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อช่วงการระบาดในบังกลาเทศและอินเดียในปี 2001 โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งและของเสียของมนุษย์ โดยระหว่างปี 2001 ถึง 2008 กว่า 75% การติดเชื้อในอินเดียมาจากหมู่เจ้าหน้าที่บุคลากรโรงพยาบาลและบุคคลใกล้ชิดที่มาเยี่ยม เช่นเดียวกับราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่ติดเชื้อในบังกลาเทศมาจากการติดต่อคนสู่คน ผ่านการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ

ไวรัสนิปาห์อาการเป็นอย่างไร

ลักษณะอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา อาทิ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก หากอาการหนักขึ้น จะเริ่มไอเสียงดัง ไปจนถึงอาจมีอาการแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นมา เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ ส่วนใหญ่เมื่ออาการหนักจะมีอาการคล้ายโรคสมองอักเสบ เป็นเหตุให้ถูกเรียกว่า “โรคสมองอักเสบนิปาห์” เริ่มซึม สับสน อาการชัก จนถึงเสียชีวิต โดยหากเป็นการติดเชื้อไวรัสนิปาห์จากสิงคโปร์-มาเลเซีย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ราว 40% ส่วนหาเป็นนิปาห์จากบังกลาเทศและอินเดีย อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่าถึง 70%

ปัจจุบันยังไม่มียารวมถึงวัคซีนชนิดใดที่สามารถต้านทานไวรัสนิปาห์ได้โดยตรง เมื่อพบว่าติดเชื้อ นอกเหนือจากการรักษาตามอาการแล้ว แพทย์อาจใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้