TRUE-DTAC โกยรายได้แสนล้านปี 64 ก่อนบอร์ดเคาะควบรวมกิจการ

true dtac

ส่องงบปี 64 ทรู-ดีแทค หลังบอร์ดของทั้ง 2 ไฟเขียวควบรวมกิจการ พบทรูสร้างรายได้แสนล้าน แต่ยังขาดทุนหนัก ส่วนดีแทคโกย 8 หมื่นล้าน ไม่ขาดทุนแต่กำไรลดลง

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะกรรมการของทั้ง 2 บริษัท เรื่องอนุมัติการควบบริษัทระหว่างบริษัทฯ

อีกทั้ง อนุมัติให้บริษัท ซิทริน เวนเจอร์ โฮลดิ้งส์ จํากัด และ Citrine Investment SG Pte Ltd ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ระหว่าง Telenor Asia Pte Ltd (TnA) และ บจ. เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิง (CPH) แสดงความประสงค์ที่จะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านของบริษัทฯ เป็นผู้รับซื้อหุ้น

โครงสร้างบริษัทใหม่ ภาพจาก หนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการควบรวมบริษัท บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นหลังจากนี้ยังมีขั้นตอนอีกมากมายที่ทั้ง 2 บริษัทต้องไปปฏิบัติตามให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจํากัด 2535 ซึ่งคาดกันการควบรวมน่าจะสำเร็จลุล่วงได้ในปี 2565 นี้

เมื่อบริษัทโทรคมนาคมระดับบิ๊ก 2 บริษัทมาควบรวมกัน เพื่อสู้กับเบอร์ 1 อย่าง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ที่ครองบัลลังก์มายาวนาน

ก่อนดีลระดับมหากาฬจะสำเร็จลง “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปสำรวจผลประกอบการปี 2564 เพื่อสำรวจกำลังภายในของทั้ง 2 บริษัทชัดๆ

ทรู-ดีแทค ลงนาม MOU ควบรวมกิจการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564

ทรูฟาดแสนล้าน แต่ขาดทุนอื้อ

เริ่มที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจ 1 ใน 3 ขาใต้ร่มธงเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในปี 2564 ทำรายได้รวมทั้งสิ้น 143,655.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,442.93 ล้านบาทจากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 138,212.34 ล้านบาท โดยส่วนงานที่ทำรายได้ให้มากที่สุดคือ

  1. ทรูมูฟเอช ที่ 111,087.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,708.4 ล้านบาทจากปี 2563 ที่มีรายได้ส่วนนี้ที่ 105,379.29 ล้านบาท
  2. ทรูออนไลน์ ที่ 25,215.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 681.62 ล้านบาทจากปี 2563 ที่มีรายได้ส่วนนี้ที่ 24,533.38 ล้านบาท
  3. ทรูวิชั่น ที่ 7,352.58 ล้านบาท ลดลง 947.09 ล้านบาทจากปี 2563 ที่มีรายได้ส่วนนี้ที่ 8,299.67 ล้านบาท

ด้านผลกำไร-ขาดทุนสุทธิ พบว่าในปี 2564 ผลประกอบการขาดทุน 1,366.66 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 944.32 ล้านบาท โดยส่วนงานที่ขาดทุนมากที่สุดคือ

  1. ทรูมูฟเอชขาดทุนถึง 10,201.44 ล้านบาท
  2. ทรูออนไลน์ทำกำไรสุทธิถึง 8,275.06 ล้านบาท ลดลง 1,759 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 10,034.06 ล้านบาท
  3. ทรูวิชั่นก็ทำกำไรไว้ที่ 295.44 ลดลง 893.44 ล้านบาทจากปี 2563ที่มีกำไรสุทธิ 893.44 ล้านบาท

โดยภาพรวมทางทรูระบุในคำอธิบายและการวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดาเนินงานต่อ SET ว่า ส่วนหนึ่งที่ผลประกอบการออกมาแบบนี้ เพราะว่าถูกกดดันจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศและการได้มาซึ่งใบอนุญาตการใช้งานคลื่นความถี

ในส่วนของทรูมูฟเอช ทางทรูขยายความว่า เทียบกันแล้วทรงตัวกับปีก่อน ท่ามกลางกำลังซื้อและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนตัว รวมถึงสภาวะการแข่งขันที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงโดยเน้นการนำเสนอแพ็กเกจการใช้งานดาต้าแบบไม่จำกัด (unlimited data packages) ในระดับราคาต่ำทำให้กดดันรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ของทั้งอุตสาหกรรม

ซึ่ง ณ สิ้นปี 2564 มีผู้ใช้บริการรวม 32.25 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการแบบรายเดือน 10.97 ล้านรายและผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน 21.28 ล้านราย

ดีแทคกวาด 8 หมื่นล้าน กำไรลด

ขณะที่ DTAC ในปี 2564 มีรายได้รวม 81,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 78,818 ล้านบาท เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับ โควิด-19 ทําให้ร้านค้าต่างๆสามารถกลับมาทําการได้ และ ณ สิ้นปี 2564 ดีแทคมีจํานวนผู้ใช้บริการรวม 19.6 ล้านราย

ส่วนผลกำไรสุทธิในปี 2564 อยู่ที่ 3,356 ล้านบาท ลดลง 34.3% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 5,107 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าตัดจําหน่ายใบอนุญาตใช้คลื่น 700 MHz และการขาดทุนในส่วนของรายการสําหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิในไตรมาส 1/2564 กําไรสุทธิในไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 171 ล้านบาท ซึ่งมีผลกระทบเชิงลบมาจากการตัดจําหน่ายทรัพย์สินแบบครั้งเดียวเป็นจํานวนประมาณ 430 ล้านบาท สืบเนื่องจากการคืนพื้นที่เช่าบนเสาโทรคมนาคมที่บริษัทเช่าจากผู้อื่น

นี่คือ สถานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยักษ์ด้านโทรคมนาคมของไทย หลังจากนี้หากการควบรวมสำเร็จ AIS คงต้องปาดเหงื่อแน่นอน