สภาผู้บริโภคถกดีลทรูดีแทค หวั่นเพิ่มอำนาจผูกขาดกระทบเศรษฐกิจดิจิทัล

ทรู ดีแทค ทรานส์ฟอร์มสู่เทคปะนี
แฟ้มภาพ

สภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งโต๊ะ ถกดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ใครได้ใครเสีย ย้ำผู้เล่นลดเหลือ 2 ราย เสี่ยงอัตราค่าบริการลดช้าลง “ทีดีอาร์ไอ” หวั่นกระทบการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แนะ 3 แนวทางเพิ่มประโยชน์ผู้บริโภค ฟาก “สฤณี” นักวิชาการอิสระติง “กสทช.” เร่งหาแนวทางกำกับ ขณะที่ “หมอประวิทย์” แนะ กสทช.ศึกษาสภาพตลาดคู่ขนานที่ปรึกษาเอกชน

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ TCC กล่าวว่า ในงานเสวนา “ดีล ทรู ดีแทค ต้องโปร่งใส กสทช.ต้องรับฟังผู้บริโภค” ว่า หลังการประกาศควบรวมกิจการตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคมีท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย เพราะทางเลือกของผู้บริโภคจะลดลง เนื่องจากจำนวนผู้เล่นเหลือ 2 รายจาก 3 ราย ขณะที่ราคาค่าบริการอาจลดลงช้า หรือไม่ลดลง มีผลต่อการใช้บริการของผู้บริโภค ซึ่งการพิจารณาดีลนี้ควรดำเนินการโดย กสทช.ชุดใหม่

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจ มีทั้งผลดีและผลเสีย โดยข้อดี คือ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ มีนวัตกรรมที่ดีขึ้นและประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกันมีข้อเสีย คือ เพิ่มอำนาจการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ต้องบาลานซ์ข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นให้ได้

“ถ้าผู้ให้บริการที่เหลืออยู่คัดค้านการควบรวม หมายความว่า ควบรวมได้ แต่ถ้าผู้เล่นที่เหลือไม่แสดงท่าทีแสดงว่าไม่ควรควบรวม เพราะจะทำให้เกิดการมีอำนาจเหนือตลาด ผู้เล่นที่เหลืออยู่หากมีการควบรวม คือ เอไอเอส กรณีนี้เอไอเอสไม่ได้คัดค้าน หลักฐานที่เกิดขึ้นชัดเจน คือ ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทเพิ่มขึ้นจากการประกาศควบรวม ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แต่เป็นผลเสียต่อผู้บริโภค รวมถึงพาร์ตเนอร์ที่ทำงานกับโอเปอเรเตอร์ 3 ราย ทั้งดีลเลอร์, ผู้ให้บริการนวัตกรรม และสตาร์ตอัพ เพราะเหลือเพียง 2 ราย”

ดร.สมเกียรติย้ำว่า การควบรวมมีความชัดเจนว่า ไม่เป็นประโยชน์ และสมควรระงับ เพราะการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องมีการใช้อินเทอร์เน็ตและดาต้าจำนวนมาก ซึ่งผลการควบรวมจะทำให้ราคาค่าบริการไม่ลดลง หรือลดช้าลงกระทบผู้บริโภค ขณะที่ภาคธุรกิจที่ต้องใช้บริการเหล่านี้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในอนาคตจึงไม่เพียงเผชิญการผูกขาดจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่ยังกำลังเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เท่ากับว่าประเทศไทยเผชิญการผูกขาดถึงสองชั้น

นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่โลกเสมือนจริง (เมตาเวิร์ส) ในอนาคต ต้องใช้ดาต้าจำนวนมาก ถ้าราคาสูงจะทำให้การก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลยากขึ้น หากไม่สามารถกำกับดูแลจะทำให้ระบบการกำกับดูแลทั้งระบบล้มเหลวไม่สามารถกำกับดูแลได้

ดร.สมเกียติกล่าวว่า มี 3 ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ได้แก่ 1.ไม่ให้ควบรวม ให้ขายรายอื่น และลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.ให้ควบรวม โดยกำหนดเงื่อนไขให้คืนคลื่นมาจัดสรรให้รายใหม่ และ 3.ให้ควบรวม และส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการที่ไม่ได้มีการวางโครงข่ายของตัวเอง (MVNO) ซึ่งข้อเสนอที่ไม่เหมาะสมในไทย เพราะกำกับดูแลยาก

ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ปัญหาสำคัญ คือ ลดผู้เล่น และเพื่อให้การพิจารณาดีลนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กสทช.ควรวิเคราะห์สภาพตลาด ผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป การจัดทำรายงานของที่ปรึกษาของเอกชน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวิเคราะห์ว่าจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมที่เหมาะสมในประเทศไทยควรมีกี่ราย หากยังคงจำนวนผู้เล่นเท่าเดิม “ราคา” จะไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งโดยปกติหลังควบรวม “ราคา” เฉลี่ยในตลาดจะเพิ่มขึ้นมากกว่า

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การควบรวมทางธุรกิจทางการเงินมีหลายแบบ แต่ดีลการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการควบรวมกิจการแบบลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือการรวมทุกส่วนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นบริษัทใหม่ ขณะที่บริษัทเดิมหายไป เท่ากับเหลือผู้เล่น 2 ราย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการผูกขาด และแข่งขันไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่ก่อนการควบรวมเสร็จด้วยซ้ำ

“กสทช.ออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 ค่อนข้างอ่อน ทำให้ทำได้แค่ให้มารายงาน ซึ่ง กสทช.ไม่ควรรออะไรตั้งแต่ประกาศควบรวมออกมาก็ควรวางแนวทางการกำกับดูแลทันที แต่ที่ผ่านมาทำงานค่อนข้างช้า”