บิ๊กบจ.ชิงขายหุ้นโกยเงินอื้อ โบรกเตือนระวังตลาดอิ่มตัว

ตลาดหุ้นไทยร้อนแรง ผู้ถือหุ้น-ผู้บริหาร บจ.แห่ขายฟันกำไรอื้อเผย 3 บิ๊กดังเทขายสูงสุด “ฤทธิ์” บิ๊กเอ็มเคโกย 2.8 พันล้าน ตามด้วย”อนันต์ กาญจนพาสน์”, “ประทีป ตั้งมติธรรม” โบรกฯส่งซิกระวัง3 จุดเสี่ยงตลาดอิ่มตัว-เฟดขึ้นดอกเบี้ย-เงินไหลออก”

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนแรกของปีนี้ (ณ 26 ม.ค. 2561) ปรับตัวขึ้นร้อนแรงเข้าสู่ภาวะกระทิงดุ สะท้อนจากดัชนีหุ้นไทย (SET Index) วิ่งขึ้นรวดเร็วจากวันเปิดตลาด (3 ม.ค.) อยู่ที่ระดับ 1,753.71 จุด ปรับตัวต่อเนื่องมาปิดที่ 1,828.88 จุด ในวันที่ 26 ม.ค. คิดเป็นผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 4.29% ขณะที่มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เฉลี่ยวันละ 79,649.42 ล้านบาท

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบข้อมูลการ ซื้อขายของผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้บริหารและคู่สมรสของบริษัทจดทะเบียน พบว่ามีการทำรายการขายหุ้นออกมาจำนวนมากทั้งหมด 372 รายการ รวม 276,429,737 หุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 3,604,295,136 บาท

โดยผู้บริหารและ คู่สมรสที่มีการขายหุ้นออกมามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นายฤทธิ์ ธีระโกเมน และคู่สมรส ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) ขายหุ้นออกมาจำนวน 34 ล้านหุ้น หรือมูลค่ารวมกว่า 2,822 ล้านบาท ตามด้วยนายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.บางกอกแลนด์ (BLAND) ขายหุ้นจำนวน 101,498,100 หุ้น มูลค่ารวม 179,435,218 บาท, นางปริญดา วงศ์วิทวัส กรรมการ บมจ.ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ (ASAP) จำนวน 20 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 170 ล้านบาท, นายประทีป ตั้งมติธรรม และคู่สมรส ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย (SPALI) จำนวน 3,788,400 หุ้น มูลค่ารวม 90,429,488 บาท และนายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา และคู่สมรส ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดีเอ็นเอ 2002 (DNA) จำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 80 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีรายชื่อผู้ถือหุ้นราย ใหญ่และผู้บริหารชื่อดังที่ทยอยขายหุ้นออกมาในช่วงหุ้นขึ้นแรง อาทิ นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ขายหุ้น บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) จำนวน 2 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 42,060,000 บาท, นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ขายหุ้น บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) จำนวน 2 แสนหุ้น มูลค่ารวม 2,660,000 บาท, นายวิฑูร เตชะทัศนสุนทร ขายหุ้น บมจ.ช. การช่าง (CK) 1 แสนหุ้น มูลค่า 2,812,500 บาท, นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ขายหุ้น บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS จำนวน 61,700 หุ้น มูลค่ารวม 9,401,800 บาท, นายมานิต อุดมคุณธรรม ขายหุ้น บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) จำนวน 3.5 ล้านหุ้น มูลค่า 49,120,000 บาท

ด้านนายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับตัวขึ้นรวดเร็วของตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัย ได้ทำการสำรวจหุ้นที่ครอบคลุมการวิจัยและเป็นหุ้นแอ็กทีฟราว 164 หุ้น พบว่าหุ้นที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ (อัพไซด์) แต่อยู่ในกรอบจำกัดจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจุบัน ราคาหุ้นได้เกินมูลค่าที่เหมาะสม (Fair Value) มี 29 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ราว 15.4% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด

ส่วนหุ้นกลุ่มที่มีอัพไซด์อยู่ในช่วง 0-10% มี 42 บริษัท คิดเป็นมาร์เก็ตแคปราว 43.8%, หุ้นที่มีอัพไซด์ช่วง 10-20% มี 53 บริษัท คิดเป็นมาร์เก็ตแคปราว 31.1% และหุ้นที่มีอัพไซด์มากกว่า 20% มี 40 บริษัท คิดเป็นมาร์เก็ตแคป 9.7%

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหุ้นส่วนใหญ่จะมีอัพไซด์ระหว่าง 0-10% และ 10-20% ขณะที่หุ้นที่มีอัพไซด์กว่า 20% ก็มีมากเช่นกัน แต่เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมาร์เก็ตแคปเพียง 9.7% หมายความว่า หุ้นที่มีอัพไซด์สูงแม้ราคายังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่คงหนุนดัชนีฯปรับขึ้นได้ไม่มากนัก

นาย พบชัยกล่าวว่า แม้ช่วงนี้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะยังเป็นขาขึ้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสที่จะทำจุดสูงสุดแตะระดับ 1,900-2,000 จุด หากยังมีสภาพคล่องของเงินไหลออกมาจากตลาดพันธบัตรของสหรัฐ และเงินจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ ไหลมา กระหน่ำซื้อตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเกิดใหม่ แต่ในระยะข้างหน้าก็ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากปัจจัยการเข้าสู่ภาวะตลาดที่เริ่มอิ่มตัว และทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งอาจฉุดให้สภาพคล่องโลกไหลออกเพื่อกลับเข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐได้

“กลางปีนี้มีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละระดับ 0.25% ในรอบการประชุม FOMC รอบเดือน มี.ค.และ มิ.ย. 61 ซึ่งหากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะกดดันต่อการพิจารณาปรับดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นแตะระดับ 2% ทำให้อาจเห็นสัญญาณเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก (ตลาดหุ้น) และกลับเข้าไปยังสินทรัพย์มั่นคงแทน ซึ่งดัชนีหุ้นไทยก็อาจมีสิทธิหลุดระดับ 1,800 จุด ซึ่งเป็นแนวรับแรก หรืออาจลงไปอยู่ที่ระดับ 1,750-1,770 จุดได้”

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวอาจไม่รุนแรงต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากนักลงทุนสถาบันในประเทศยังเป็นกลุ่มลงทุนที่มีน้ำหนักมากสุดและน่า จะเข้ามารับไม้ต่อได้ ประกอบกับช่วง YTD ที่ผ่านมาเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติยังไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยค่อนข้างน้อย โดยมียอดสุทธิเป็นขายประมาณพันกว่าล้านบาททำให้ผลกระทบจากเงินไหลออกคงไม่มาก

ทั้งนี้ กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนแรก (ณ 26 ม.ค.) พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิมากสุดราว 5,171.98 ล้านบาท ตามด้วยพอร์ตโบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 3,585.26 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 8,038.60 ล้านบาท ขณะที่ต่างชาติขายสุทธิ 718.63 ล้านบาท

“ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในช่วงตลาดอิ่มตัว แนะนำให้นักลงทุนทยอยขายหุ้นออกหรือทยอยลดพอร์ตการลงทุนลง เราให้น้ำหนักการลงทุนของพอร์ตในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด”

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในเดือน ก.พ.นี้ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่ ซึ่งแรงหนุนส่วนใหญ่มาจากเม็ดเงินภายในประเทศเป็นหลัก อาทิ กลุ่มนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ เป็นต้น ประกอบกับปัจจัยความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นต่อ เนื่อง จึงมองว่าตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบดัชนี 1,850-1,870 จุด

“ในช่วงนี้เรายังไม่เห็นสัญญาณเม็ดเงินที่ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสหรัฐจะไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะคาดว่าทิศทางค่าเงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่า จากแรงกระตุ้นจากการแถลงนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรสของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขนาดใหญ่ของสหรัฐช่วงระยะเวลา 10 ปี เช่น ก่อสร้างและปรับปรุง, สะพาน, ทางด่วน เป็นต้น ซึ่งมีวงเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์”