ผ่ากลยุทธ์ PTG ปั้นสตาร์ตอัพต่อยอดธุรกิจ

Max camp

เจาะกลยุทธ์ “พีทีจี” เสริมแกร่งธุรกิจ “น็อนออยล์” ควัก 2 พันล้าน ผุดหน่วยธุรกิจใหม่ Max Ventuers ปั้นธุรกิจสตาร์ตอัพสร้าง New S-curve หวังเพิ่มสัดส่วนกำไร 50% ภายใน 4 ปี เดินหน้าขยายเครือข่ายสมาชิก max card เพิ่มเท่าตัว ลุยขยายสาขา-ผนึกพันธมิตรต้นน้ำยันปลายน้ำ นำร่องส่งธุรกิจใหม่ลงตลาดพรึ่บ

2 ปีที่ผ่านมา “พีทีจี” 1 ในบริษัทค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ของไทย ประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจใหม่ภายใต้แนวคิดที่ว่าจะ “เชื่อมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ ‘อยู่ดี มีสุข’ ในทุกด้านของช่วงชีวิต” พร้อมไปกับการขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่มากกว่าพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร และเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจซ่อมบำรุง และอื่น ๆ สร้างฐานสมาชิก “max world” จนมีกว่า 18 ล้านคน

ปัจจุบันยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับสอง ที่ 14.2% (ณ 1 พ.ย. 2565) มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันและ LPG กว่า 2,000 สาขา มีรายได้ในช่วง 9 เดือน/2565 ที่ 130,447 ล้านบาท เป็นกำไรขั้นต้น 9,129 ล้านบาท

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทพีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด หรือ PTG กล่าวว่า ในแต่ละปีบริษัทใช้งบประมาณเพื่อลงทุนในธุรกิจน็อนออยล์ราว 1,500-2,000 ล้านบาท ใน 7 กลุ่ม คือ อาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีก ดิจิทัลแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ ซ่อมบำรุงรถ สุขภาพ และพลังงานหมุนเวียน เพื่อตอบโจทย์สมาชิก max card 18 ล้านคน ผ่าน 3 วิธี คือ 1.การขยายจุดทัชพอยต์ 2.เพิ่มพันธมิตร และ 3.สร้างสรรค์ และลงทุนในสตาร์ตอัพ โดยตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้สัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจ non-oil ที่ 50% เท่ากับธุรกิจพลังงานภายในปี 2569

พิทักษ์ รัชกิจประการ

เป้าหมายปี’69

“เราจะมีธุรกิจใหม่ 3-5 ธุรกิจ ที่เป็น New S-curve ต่อยอดธุรกิจน็อนออยล์ ซึ่งเรามีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนกำไร 50% ในปี 2026 การบ่มเพาะสตาร์ตอัพไม่ได้มีโจทย์เริ่มต้นเรื่องผลตอบแทน EBITDA แต่เป็นการสร้างโอกาสให้น้อง ๆ และเติมเต็มให้กับสมาชิกแม็กซ์การ์ด 18 ล้าน เป็น 30 ล้านสมาชิก ในปี 2569 โดยมีแม็กซ์เวนเจอร์เป็นสะพานเชื่อมพีทีกับสตาร์ตอัพ”

และภายในปี 2569 จะขยายสาขาหรือจุดทัชพอยต์เพิ่มขึ้น โดยกาแฟพันธุ์ไทย-คอฟฟี่เวิลด์ จะมีสาขา 3,015 แห่ง จาก 631 สาขา ร้าน Maxmart 500 สาขา จาก 300 สาขา, สถานีบริการแก๊ซ (Gas shop) 720 สาขาจาก 280แห่ง ร้าน Autobacs 170 สาขา จาก 49 แห่ง max Camp 65 สาขา จาก 45 แห่ง ทั้งยังร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งสถานีชาร์จอีวี EleX by EGAT ให้ได้ 150 สาขา เพิ่มจากปีนี้ที่มี 35 แห่ง

กางแผนปั้นสตาร์ตอัพ

ด้าน ดร.วัลภา สันติธรรมรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเดียวกันเสริมว่า บริษัทได้ตั้งหน่วยงานใหม่เรียก่า max venture ทำหน้าที่เป็นแขนขาในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพทั้งในไทยและต่างประเทศ

“max venture มี 3 กิจกรรม คือ 1.เป็นผู้บ่มเพาะ (incubator) โดยจะมีทีมนวัตกรรมทำงานคู่กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีไอเดียใหม่ ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลา 2.ทำ co creation เปิดรับคู่ค้าทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ตอัพ หรือบริษัทต่าง ๆ และสุดท้ายคือการลงทุน (investment) โดยมองหาธุรกิจที่มีโพเทนเชียลและการเติบโตสูง เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนตัวเล็ก”

โดยในปีที่ผ่านมาลงทุนพัฒนานวัตกรรมใน 6 ธุรกิจ คือ แพลตฟอร์มพาทัวร์รีวิวร้านอาหารและการท่องเที่ยว, ผลิตภัณฑ์บำรุงผม และผิวจากสารสกัดปาล์มแดง แบรนด์ Pavitree สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ให้เคมีบำบัดและผู้มีผิวแพ้ง่าย, ร้านยา Nexx Pharma ขายยาครบวงจรทั้งออนไลน์และออฟไลน์, ร้านสถานีเหนียวไก่ ต่อยอดอาหารท้องถิ่น, ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือร่าเริง ต่อยอดการใช้สารสกัดกัญชามาผสมในอาหาร และแพลตฟอร์ม Max Server ส่งของถึงที่ให้ร้านโชห่วย

สำหรับปีนี้มีงบฯลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ 1,000 ล้านบาท ล่าสุดได้พัฒนาธุรกิจร่วมกับสตาร์ตอัพหลายราย ประกอบด้วยแพลตฟอร์ม 360 Truck (จองรถบรรทุก), แพลตฟอร์ม Kollective, Day Work (จัดหางานพาร์ตไทม์), Everyday Doctor (เทเลเมดิซีน), Micro Vending Tech ตู้เติมน้ำมัน ตู้เต็มก๊าซ LPG และส่งสด เป็นต้น ทั้งยังมีการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ตอัพด้วยกัน เช่น แพลตฟอร์ม “ส่งสด” จะส่งสินค้าให้กับสถานีเหนียวไก่ หรือ Day work หาพนักงานให้สถานีเหนียวไก่ เป็นต้น เป็นการแก้เพนพอยต์เพื่อสร้าง New S-curve ให้บริษัท

Max

กุมตลาดรถบรรทุกปีละ 1 แสน

นายชัชชน แสนใจบาล ประธานเจ้าหน้าที่บริการ แพลตฟอร์ม 360 Truck เปิดเผยว่า เป็นแพลตฟอร์มจองรถบรรทุกออนไลน์เริ่มให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้ให้บริการรถบรรทุก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของพีทีที่มีจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 1 พันราย มีจำนวนการใช้บริการ 8,400 ครั้ง และมีรถบรรทุกหมุนเวียนอยู่ในระบบ 42,000 คัน

“เราพบว่าเขามีปัญหาเรื่องระบบการชำระเงิน และการออกบิลไม่ต้องรอ มีปัญหาเรื่องเครดิตเทอมในการสำรองจ่ายค่าน้ำมัน ซึ่งถือเป็นต้นทุน 40-50% ของรถบรรทุก กว่าลูกค้าจะจ่ายใช้เวลา 20-30 วัน ทำให้ต้องสำรองเงินถึง 1.5 แสนบาทต่อเดือน แพลตฟอร์มนี้จึงเข้ามาช่วยผู้ประกอบการรถบรรทุกให้สามารถเข้ามาเติมน้ำมันได้ก่อนแล้วจ่ายทีหลัง ขณะที่ตลาดรถบรรทุกในบ้านเรามีถึง 1.2 ล้านคัน จึงมองว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เราตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนรถบรรทุกให้ได้ถึง 1 แสนคัน/ปี และขยายสู่ระบบจัดการรถบรรทุกแบบครบวงจร”

กราฟฟิก PT

ดิจิทัลแพลตฟอร์มหาคน

นางสาวศศิวิมล เสียงแจ้ว ซีอีโอ บริษัท เดย์เวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Day Work เป็นแพลตฟอร์มสรรหาและบริหารจัดการพนักงานพาร์ตไทม์ มีจุดแข็งด้านความยืดหยุ่นและรวดเร็ว แพลตฟอร์มจะเข้าไปจับคู่ให้ โดยยึดหลักว่าต้องแฟร์กับทั้งสองฝ่าย

“เรามีสมาชิก 250,000 คน อายุ 18-24 ปี เป็นกลุ่มองค์กร 450 แห่ง ทำรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท โดยช่วยจัดหาพนักงานให้ร้านสถานีเหนียวไก่และร้านกาแฟพันธุ์ไทยของพีที”

ขณะที่นายอัคคภพ จันทรศรีวงศ์ ผู้บริหาร บริษัท ยิ่งเจริญ เฟรชเมท จำกัด ผู้จัดทำแพลตฟอร์ม “ส่งสด” กล่าวว่า มีแนวคิดว่าต้องการเปลี่ยนตลาดสู่ระบบออนไลน์ จึงนำร่องร่วมกับตลาดยิ่งเจริญ บริการส่งวัตถุดิบสำหรับลูกค้าร้านอาหาร (B2B) ซึ่งมีร้านเหนียวไก่พีที และให้บริการส่งสินค้าสดให้กับครัวเรือนทั่วไปด้วย และสร้างรายได้ให้แผงตลาดสดกว่า 100 ล้านบาท

นายวราพล โล่วรรธนะมาศ ซีอีโอ บริษัท คอลเลคทีฟวัน จำกัด เปิดเผยว่า แพลตฟอร์ม Kollective เป็นผู้จัดหาและให้บริการโซลูชั่นการตลาดผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ครบวงจร ให้กับผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มแฟชั่นและความงาม อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและการออกกำลังกาย และแบรนด์แก็ดเจตต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาเข้าไปทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ Pavitree ของพีทีจนเพิ่มยอดขาย และขึ้นเป็นท็อป 6 เซรั่มขายดีในลาซาด้า