ESG มนุษย์ทองคำยุคใหม่ ธุรกิจแห่ชิงตัวอัพเงินเดือน 3 เท่า

เทรนด์ ESG เขย่าโลกธุรกิจ 700 บริษัทตลาดหุ้นแห่จ้างเฮดฮันเตอร์ล่าตัว “มนุษย์ทองคำ” ยุค Sustainbility เผยผู้เชี่ยวชาญ ESG ขาดแคลนหนัก ความต้องการสูงดันค่าตัวพุ่ง 2-3 เท่าจากมาตรฐานอาชีพอื่น “นักยุทธศาสตร์ ESG” แพงสุด ชี้ธุรกิจทำลายโลก-ปล่อยของเสียมีความต้องการสูง ผอ.สถาบัน SBDi หนุนมหา’ลัยจับมือภาคธุรกิจเร่งเปิดหลักสูตรป้อน ต้องบูรณาการเรื่องความยั่งยืนกับโมเดลธุรกิจ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ถึงวันนี้คงต้องยอมรับว่าอาชีพ “ESG Professional” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ ESG” เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก และไม่เฉพาะแต่ในต่างประเทศเท่านั้น หากในประเทศไทยเองอาชีพดังกล่าวดูเหมือนจะเป็น “มนุษย์ทองคำ” ในยุค ESG ไม่แพ้มนุษย์ไอทีหรือมนุษย์ดิจิทัล เมื่อทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับประเด็นความยั่งยืน โดยเฉพาะการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น มีเป้าหมายจะกีดกันผู้ส่งออกหรือสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น หรือทำทำลายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ดังนั้นศาสตร์เรื่อง ESG จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่กำลังให้ความสำคัญและต้องการหาบุคลากรมารองรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งนั้นเพราะอาชีพ “ESG Professional” จะต้องมีความรู้แบบ “สหวิทยาการ” ที่ครอบคลุมการทำงานทางด้านวิจัย, รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน, ที่ปรึกษา, การดำเนินธุรกิจที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ด้วย ทว่าปัญหาคือบุคลากรด้านนี้มีอยู่อย่างจำกัด และปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ

ขณะที่ภาคการผลิต “บุคลากร” อย่างมหาวิทยาลัยก็มีเปิดสอนสาขาที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainabel Development-SD) และสาขาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (E-Environment), สังคม (S-Social) และธรรมาภิบาล (G-Governance) เพียงไม่กี่มหาวิทยาลัย

อนันตชัย ยูรประถม
อนันตชัย ยูรประถม

บริษัทตลาดหุ้นแย่งตัว ESG

นายอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และองค์ความรู้ทางด้าน ESG มีความต้องการสูงขึ้นมาก เพราะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 700 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกกฎของตลาดฯต้องรายงานความยั่งยืนทั้งหมด

และการรายงานความยั่งยืนต่างเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ยั่งยืน, นโยบาย, ห่วงโซ่คุณค่า, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, ประเด็นทางสังคม และประเด็นทางสิ่งแวดล้อม คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ใครจะมาทำ และจะนำความรู้จากที่ไหนมาทำ เพราะสถาบันการศึกษาอันเป็นต้นทางของการผลิตบุคลากรยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้

เพราะหลักสูตร corporate sustainability ต้องมีความเข้าใจตัวธุรกิจ และต้องมีความเข้าใจด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมด้วย พูดง่าย ๆ ต้องเข้าใจทั้งวิสัยทัศน์องค์กร, ห่วงโซ่คุณค่า, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงยังต้องเข้าใจการเลือกประเด็น, การวิเคราะห์ และประเมินผล ซึ่งเป็นสหวิทยาการชั้นสูง เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคนภายในองค์กร ภายนอกองค์กร และวัฒนธรรมองค์กรด้วย

นายอนันตชัยกล่าวว่า ที่สำคัญ ผู้สอนต้องมีความสามารถหลากหลาย เนื่องจากแต่เดิมบ้านเราเน้นเรื่องความยั่งยืนอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงต้องบูรณาการธุรกิจเข้าไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากองค์กรธุรกิจต่างประเทศที่ทำเรื่องนี้มานานแล้ว

ขาดแคลนดันมหา’ลัยผลิตป้อน

นายอนันตชัยกล่าวต่อว่า เมื่อองค์กรธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ภายในปีไหนก็ตาม องค์กรเหล่านั้นก็จะต้องสร้างคนของตัวเองที่มีความรู้ทางด้านนี้เข้ามา หรือไม่ก็ต้องไปอบรมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซึ่งผ่านมากว่า 13 ปี สถาบัน SBDi อบรมพนักงานจากบริษัทต่าง ๆ กว่า 400 บริษัท ประมาณ 3,000 กว่าคน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG ต้องบูรณาการองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี, ปฏิบัติ และการนำไปใช้กับธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกำไรด้วย

ดังนั้นการที่จะแก้ปัญหาตรงนี้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จึงต้องสร้างตั้งแต่นิสิต-นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และควรที่จะร่วมมือกับภาคธุรกิจด้วย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้สนใจแค่ว่าบริษัท A ผลิตสินค้าดีแค่ไหน หรืออาหารอร่อยแค่ไหน

เพราะเจเนอเรชั่นรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน เช่น เขาจะถามว่า สินค้า, ผลิตภัณฑ์ หรืออาหารนี่ทำลายโลกหรือเปล่า ถ้าทำลายโลกก็ไม่กิน ไม่ใช้ ดังนั้นถือเป็นเทรนด์สำคัญที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นทางของการผลิตบุคลากร ควรที่จะเริ่มสร้างบุคลากรทางด้านนี้อย่างจริงจังได้แล้ว

“มหาวิทยาลัยจะต้องกลับมาเชื่อมโยงกับตัวองค์กรธุรกิจที่มีการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ ซึ่งผ่านมาก็มีมหิดล, ธรรมศาสตร์ สอนเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง หรือนวัตกรรมทางสังคมบ้าง แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีนิด้าที่เริ่มพัฒนาเรื่องความยั่งยืนแบบครบวงจรมากขึ้น ขณะที่จุฬาฯเองก็เริ่มเปิดสอนเรื่องเหล่านี้ด้วย ผมว่าเป็นมิติที่ดีขึ้น แต่ในภาพรวมยังถือว่าน้อยมาก ฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นบ่อเกิดของความขาดแคลนคน”

ผู้อำนวยการสถาบัน SBDi กล่าวว่า ยิ่งต่อไปองค์กรธุรกิจต้องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือต้องทำเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน, พลังงานสะอาด หรือแม้แต่เรื่องสิทธิมนุษยชน คนที่มีองค์ความรู้เหล่านี้ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เหมือนกับตอนนี้ที่บริษัทเฮดฮันเตอร์ต่าง ๆ กำลังมองหาคนที่มีฝีมือ มีความรู้แบบสหวิทยาการเพื่อส่งมอบให้กับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ค่าตัวสูงมาก แต่เขาก็ยอมจ่าย

ทัชชกร กุลจันทร์
ทัชชกร กุลจันทร์

จ้างเฮดฮันเตอร์ตามล่าตัว

นายทัชชกร กุลจันทร์ Country Director บริษัท Job Expert Placement (ไทยแลนด์) ในฐานะบริษัทเฮดอันเตอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากที่ความต้องการบุคลากรด้าน ESG Consult หรือ ESG Professional เป็นที่ต้องการในตลาดมาก ทำให้บริษัทได้รับโจทย์จากองค์กรมาค่อนข้างเยอะ เพื่อหาบุคลากรทางด้านนี้

เนื่องจากบุคลากรที่มีอยู่ในตลาดยังไม่มีความพร้อมที่จะทำเรื่อง ESG อย่างบูรณาการได้ ยิ่งบางบริษัทต้องการขยายธุรกิจไปสู่ความเป็นโกลบอล ก็ยิ่งต้องการบุคลากรเหล่านี้มาช่วยเติมเต็ม ดังนั้นตอนนี้กลุ่ม ESG Consult ตลาดต้องการสูงมาก และก็หายากเช่นกัน

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตและทำธุรกิจเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษออกมา อาจจะเป็นมลพิษทางตรง เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา หรือบริษัทที่ใช้พลังงานกิโลวัตต์ค่อนข้างสูง รวมถึงบริษัทที่ปล่อยพลังงานเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ,

บริษัทที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ธรรมชาติ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมด และบริษัทเหล่านี้ต้องการ ESG Consult เข้ามาดูแลในการปรับกระบวนการผลิตทั้งหมด เพื่อช่วยลดผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่า บุคลากรด้านนี้ก็หายากเช่นกัน

ธุรกิจทำลายโลกแย่งคน ESG

นายทัชชกรกล่าวว่า บริษัทที่มีความต้องการบุคลากรด้าน ESG แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากระเบียบ ข้อบังคับบางอย่างของตลาดฯทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้นกลุ่มนี้จึงมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้าน ESG ค่อนข้างสูง

2) กลุ่มที่ต้องการระดมทุนขยายกิจการ เพื่อให้ไฟแนนเชียลของบริษัทมีความแข็งแรง เช่น บริษัทที่กำลังจะเข้าไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

และ 3) กลุ่มบริษัทที่ปล่อยมลพิษ หรือของเสียเข้าสู่ธรรมชาติ กลุ่มนี้ต้องการสร้างภาพลักษณ์ หรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ หรือลักษณะของการโอเปอเรชั่นต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ค่าตัวนักยุทธศาสตร์แพงสุด

นายทัชชกรกล่าวต่อว่า ค่าตัวของผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG จะสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของอาชีพอื่น ๆ ในระดับ 2-3 เท่าตัว เพราะความต้องการที่สูง ขณะที่บุคลากรมีอยู่อย่างจำกัด โดยแบ่งค่าตัว หรือรายได้ของกลุ่มคนนี้ออกเป็น 4 ระดับคือ 1)กลุ่มประสบการณ์ 1-3 ปี ลักษณะงานของคนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล และซัพพอร์ตทีมซีเนียร์ แม้ค่าตัวจะยังไม่สูงมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นในประสบการณ์เท่ากันก็ยังสูงกว่าอยู่ดี

2) กลุ่มประสบการณ์ 3-7 ปี เริ่มมีความเข้าใจภาพรวมของ ESG และมีความถนัดบางอย่าง อาจมีความรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม, อากาศเปลี่ยนแปลง, สิทธิมนุษยชน, การบริหารจัดการที่ยั่งยืน หรือแม้แต่ financial sustainability กลุ่มคนนี้ค่าตัวก็จะสูงกว่าเกณฑ์ปกติเช่นกัน

3) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ESG กลุ่มนี้เริ่มมีความชัดเจนว่า มีความถนัดด้านใดเป็นพิเศษ และความถนัดนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ด้วย และที่สำคัญสามารถเชื่อมโยง ผสมผสาน และมีความเข้าใจในธุรกิจกับเรื่อง ESG ฉะนั้นค่าตัวของคนกลุ่มนี้จะสูงตามประสบการณ์และความถนัดในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

และ 4) กลุ่มนักยุทธศาสตร์ ESG กลุ่มนี้ค่าตัวแพงที่สุด เพราะสามารถบูรณาการสหวิทยาการทุกศาสตร์ให้มาอยู่ในคนคนเดียว ทั้งยังสามารถขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตด้วย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่บนสุดของ ESG pool ในเมืองไทย ที่สำคัญกลุ่มนี้จะรู้กันในเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา
ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

ความต้องการพุ่งต่อเนื่อง 3-5 ปี

นางสาวณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้าน ESG อันดับแรกคือต้องช่วยธุรกิจไม่ให้สร้างผลกระทบทางสังคม, สิ่งแวดล้อมก่อนทำธุรกิจ อันดับต่อมาคือต้องช่วยทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น ปรับตัวเร็ว แม้ธุรกิจจะเจอภาวะวิกฤตก็จะประคองตัวอยู่ได้ โดยตั้งเป้าหมายว่า ถ้าบริษัทจะโต ต้องรู้ว่าควรจะโตแบบไหนดี ตรงนี้เป็นสิ่งที่ ESG Professional จะเข้ามาช่วยองค์กรได้

ทั้งนี้ ESG Professional มีทั้งคนที่เป็นพนักงานประจำในบริษัท และกลุ่มที่ปรึกษา ซึ่งการเป็นพนักงานประจำบริษัท แน่นอนว่าจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ ส่วนที่ปรึกษาก็อาจมีหลายแบบ

เช่น ที่ปรึกษาผู้นำองค์กร ก็จะทำหน้าที่มาหาข้อมูล แล้วให้คำแนะนำว่า จะมีแนวทางในการปรับปรุงเรื่องของการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการทำ ESG อย่างไร หรือที่ปรึกษาในลักษณะของ research consulting เพื่อนำผลวิจัยมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการทำ ESG Transform ในองค์กร

“ฉะนั้นแนวโน้มความต้องการ ESG Professional ในช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ ยังเป็นที่ต้องการค่อนข้างมาก เพราะตอนนี้เทรนด์เริ่มมา และเริ่มมี ESG Consult รุ่นใหม่ ๆ เข้าสู่วงการเพิ่มขึ้น แม้อาจต้องใช้เวลาและประสบการณ์สักระยะ

เพราะสิ่งที่พวกเขาเรียนมากับการทำงานจริงอาจมีความแตกต่าง แต่จากประสบการณ์ที่ทำเรื่องนี้มานาน มองเห็นแล้วว่าผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ รวมถึงองค์ความรู้เรื่อง ESG ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตอย่างแน่นอน”

ธปท.-แบงก์พาณิชย์แห่ให้ทุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท ณ ต่างประเทศ ประจำปี 2566 หลากหลายสาขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอีกสาขาที่เปิดรับสมัครคือ ESG/Sustainability เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย (เคแบงก์) ที่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ประกาศรับสมัครผู้สอบคัดเลือกทุนปริญญาโท ต่างประเทศ ด้าน ESG เช่นเดียวกัน