คอลัมน์ : นอกรอบ
ในปี 2566 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความกังวลทางด้านเศรษฐกิจที่เผชิญกับความไม่แน่นอนและชะงักงัน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการด้านความยั่งยืน หรือ ESG ของภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมประเด็นความท้าทายด้าน ESG ที่ควรจับตามองในปี 2566 ตั้งแต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างนัยสำคัญ ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน และข้อจำกัดในการหาแหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้ ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจในปี 2566 และการตัดสินใจลงทุนด้าน ESG ของภาคธุรกิจ
รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้น ภายใต้ “Thailand Taxonomy” หรือ ร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่จะเริ่มจาก “ภาคพลังงานและขนส่ง” เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ซึ่งมีการใช้ เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ หากธุรกิจเหล่านี้มีแผนการปรับตัวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสีเหลือง อันจะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระดับ 1.สีเขียว (green) กิจกรรมที่ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.สีเหลือง (amber) กิจกรรมที่อยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3.สีแดง (red) กิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขกิจกรรมสีเขียว หรือสีเหลือง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรฯระบุว่า การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมีความ “เข้มงวด” มากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐ
1.สหภาพยุโรป (อียู) ดำเนินมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะเริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป สำหรับสินค้านำเข้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ได้แก่ ซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ไฮโดรเจน
และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวเนื่อง โดยระยะแรก ผู้ประกอบการจะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต คาดว่ามีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องประมาณ 1,300 ราย มูลค่าส่งออก 18,100 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น พลาสติก และสารอินทรีย์พื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งอาจกระทบผู้ส่งออกประมาณ 2,800 ราย มูลค่าส่งออก 45,200 ล้านบาท
2.สหรัฐเตรียมใช้กฎหมาย Clean Competition Act โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) จากสินค้านำเข้าในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ได้แก่ การผลิตและกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ รวมถึงเอทานอล
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการส่งออกไทยไปยังสหรัฐ ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างน้อย 1,600 ราย ซึ่งในปี 2564 มูลค่าส่งออกของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระดาษ และผลิตภัณฑ์แก้ว อยู่ที่ 75,500 ล้านบาท
3.ร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการทำลายป่าไม้ของอียู โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าเข้าอียู จะต้องมีการตรวจสอบและรายงานการมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า จากสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ เนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์ ปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ รวมถึงสินค้าแปรรูปอื่น ๆ เช่น เครื่องหนัง ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่าสินค้านำเข้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่านับตั้งแต่ปี 2564 โดยหากไม่ปฏิบัติตามจะมีค่าปรับ อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และหากมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการจะมีเวลา 18 เดือน ในการเตรียมตัว
มาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ เนื้อวัว สินค้าไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และสินค้าเครื่องหนัง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไป EU รวมในปี 2564 ประมาณ 81,000 ล้านบาท จะต้องเตรียมปรับตัวรับมาตรฐานใหม่ในการจัดทำระบบยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าให้ชัดเจน
เปิดเผยข้อมูลป้องกัน “ฟอกเขียว”
4.มาตรการผลักดันการเปิดเผยข้อมูล โดยปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ได้นำเครื่องมือรายงานการ “เปิดเผยข้อมูล” เพื่อความยั่งยืนมาบังคับใช้กับภาคธุรกิจ และเริ่มมีการเพิ่มความเข้มงวดการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการด้านความยั่งยืนสู่สาธารณชนมากขึ้น เพื่อตรวจสอบและป้องกันการดำเนินการใช้ประโยชน์จากการดำเนินการด้าน ESG อย่างไม่ถูกต้อง หรือการฟอกเขียว (greenwashing) เช่น การดำเนินการในอียู สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้จะมีข้อกำหนดด้านการทำบัญชีที่เกี่ยวข้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคต
โดย IFRS Foundation ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาร่างมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล 2 ฉบับ ได้แก่ IFRS S1 และ IFRS S2 และล่าสุดในที่ประชุม COP15 มีการวางแผนเพื่อจัดทำแนวทางการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (TNFD) อีกด้วย
นอกจากประเด็นความท้าทายข้างต้น ยังมีประเด็นเรื่องการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตและการใช้เชื้อเพลิง พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด ที่จะเป็นอีกปัจจัยผลักดันให้การดำเนินการด้าน ESG และการบรรลุเป้าหมายทางการลดปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นไปตามแผนได้มากแค่ไหน